อ่านเกมการเมือง ฉายภาพรวมรัฐ และแนวโน้มม็อบ จะเดินไปทางไหน?

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. มองภาพรวมและแนวโน้มม็อบ จะเดินไปทางไหน?

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตร : การเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มองการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในไทยในห้วงที่ผ่านมาว่าเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและเป็นการต่อสู้เรื่องของความคิดความเชื่ออุดมการณ์ซึ่งลักษณะนี้อยู่ในสภาวะของการสู้รบ

หากเปรียบอย่างนั้นคือการยันกัน ไม่มีฝ่ายไหนชนะเด็ดขาดหรือพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด

ความรุนแรงเกิดขึ้นในบางครั้งบางคราว เช่นก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมีการจับกุมแกนนำดำเนินคดีไป แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้สามารถที่จะทำให้กลุ่มราษฎรยุติการชุมนุมได้ก็จะมีการชุมนุมอยู่ตลอด ก็เลยต้องมีมาตรการคลี่คลาย บรรเทาลงมา ไม่สามารถบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นในการจัดการผู้ชุมนุมได้อย่างเด็ดขาด

แม้ว่าอาจจะมีมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลบางส่วนเรียกร้อง แต่ว่าพอรัฐบาลตั้งท่าว่าจะใช้ความรุนแรงเมื่อใดไม่ว่าจะในเชิงกฎหมายหรือการใช้กำลังการปราบปรามสลายการชุมนุมก็ดี ทั้งเรื่องรถฉีดน้ำแก๊สน้ำตา ก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับ ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นจากฝ่ายผู้ชุมนุม และแนวร่วมต่างๆ ที่สนับสนุนการชุมนุม

ฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะหาวิธีการดำเนินการ หลักๆ คงจะใช้เรื่องกฎหมาย และจะมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามา ในการจัดการการนำผู้ชุมนุม ซึ่งกรณีแบบนี้ ถ้าถามว่าผู้ชุมนุมเหล่านี้โดยเฉพาะแกนนำเขากังวลหรือไม่ ก็คงอาจจะไม่กังวลมากเท่าไหร่

เพราะตัวเองก็เคยถูกจับกุม และไม่ได้รับการประกันตัวอยู่หลายครั้งหลายคราว

รศ.พิชายมองกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เมื่อถูกนำมาใช้ ก็อาจจะส่งผลกระทบกับตัวรัฐบาลเอง เพราะว่าจะถูกมองจากนานาชาติหรือสากลในทางที่เป็นผลในเชิงลบเสียมากกว่า เพราะว่าในหลายประเทศเขาไม่ยอมรับกฎหมายมาตรานี้ เขาถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในประเทศไทยเองก็มีการยุติการใช้กฎหมายมาตรานี้ไปแล้วระยะหนึ่ง แต่เมื่อมีการนำกลับเข้ามาใช้ก็คงเข้าใจว่า มาจากเนื้อหาการปราศรัยของกลุ่มราษฎร ที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันอย่างเข้มข้นในการจัดชุมนุมทุกครั้ง

และเราก็จะเห็นได้ว่าลักษณะการชุมนุมของเขาหลักๆ มุ่งไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ในการที่จะขับไล่ให้ออกไป ประเด็นนี้ยังต่อเนื่องอยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังอยู่ต่อไม่ได้ออก ในขณะเดียวกันก็มีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการปฏิรูปสถาบัน เพราะฉะนั้น ในการปราศรัยของเขาเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมาย 2 ประการนี้ก็จะเน้นไปที่ 2 ประเด็นนี้เป็นหลัก ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปัจจุบันอาจจะได้รับการตอบรับอยู่ระดับหนึ่งแต่ว่าก็ยังมีการต่อสู้ที่ยืดเยื้อพอสมควร

ส่วนลักษณะของการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม ถ้ามองเป็น Pattern ที่มีลักษณะของการเป็น Wave (คลื่น) ก็คือมีบางช่วงที่อาจจะขึ้น หรือสถานการณ์บางครั้งอาจจะลง ในแง่ของจำนวนคนเข้าร่วมในแต่ละครั้ง เพราะว่าการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีช่วงหนึ่งอาจจะชุมนุมเกือบทุกวัน อีกช่วงหนึ่งก็เว้นระยะเหลืออาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง นอกนั้นมีการชุมนุมย่อย ซึ่งนอกจากมีการเคลื่อนไหวผสมผสานของนิสิต-นักศึกษานั้นแล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ท้าทายความคิดแบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ซึ่งเป็นความคิดหลักในสังคมไทยอย่างหนึ่งและถูกหล่อหลอมมาจากระบบโรงเรียน

เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กมีความท้าทายโดยใช้สัญลักษณ์ เช่น การแต่งกาย มีการประท้วงใส่ชุดไปรเวต อันนี้ถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียนอย่างหนึ่งก็ผสมผสานกัน

ขณะเดียวกันการชุมนุมแต่ละครั้งก็จะมีความหลากหลายภายใต้หลักใหญ่ 3 ข้อเรียกร้อง จากประเด็นใหญ่ก็ยังมีประเด็นปลีกย่อย เช่น ความหลากหลายทางเพศ-ความเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องเพศหรือชนกลุ่มต่างๆ ก็จะมีการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ออกมาสู่สังคมเป็นระยะ

เพราะฉะนั้น ลักษณะพลวัตของการเคลื่อนไหวกลุ่มราษฎรมีลักษณะเป็นแบบนี้และรัฐบาลก็ใช้มาตรการในการตอบโต้หลักๆ ตอนนี้มี 2 มาตรการ คือการใช้การสลายชุมนุมเป็นครั้งคราวและใช้มาตรการทางกฎหมาย

เมื่อหันไปมองภาพรวมขบวนการทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา รศ.ดร.พิชายถือว่าเป็นช่วงของการก่อตัวของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งตอนนั้นพยายามที่จะมีการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านพรรคการเมือง นั่นคือพรรคอนาคตใหม่ซึ่งตอนนี้ถูกยุบไปแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นพรรคก้าวไกล พลังอาจจะไม่เหมือนเดิมแต่ก็เป็นครั้งแรกที่เยาวชนชนคนหนุ่มสาวนักศึกษา-กลุ่มชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย พยายามแสดงออกความต้องการการเปลี่ยนแปลงของตัวเองผ่านระบบการเลือกตั้งที่เขานำเสนอไอเดียที่ชัดกว่าพรรคอื่นๆ

กระแสนั้นเองก็พยายามเดินไปสู่การเมืองในรัฐสภา แต่ก็ถูกกัดกร่อนโดยกลุ่มอนุรักษนิยมเก่าที่มีความกังวลหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงแล้วพยายามใช้กลไกรัฐที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 อาจจะแปรรูปเปลี่ยนร่างแล้วใช้สถาบันทางการเมืองเหล่านั้นมาเป็นกลไกในการบั่นทอนพลังตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงนี้

รูปแบบแสดงออกของการเปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าบางส่วนถูกยับยั้งไปแต่ตัวกระแสของการเปลี่ยนแปลง กระแสความคิดมันไม่หยุดนิ่ง กลับขยายต่อไปเรื่อยๆ ผ่านการแสดงออกการชุมนุมประท้วงที่เราเห็นในห้วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา

“พอการเคลื่อนไหวขยับจากรั้วมหาวิทยาลัยขยายไปสู่ท้องถนน สภาพเช่นนี้ความคิดแบบนี้ไม่สามารถสกัดกั้นได้ในศตวรรษที้ 21 ยิ่งมีเทคโนโลยีสื่อสารมากขึ้น คนก็ยิ่งเข้าร่วมมากขึ้นกระบวนการเคลื่อนไหวแต่ละหนมีข้อมูลที่หลากหลาย น่าสนใจ บางประเด็นถูกตั้งคำถามขึ้นมาแล้วมีการไปสืบค้นต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏมากขึ้น กระจายไปหลายหลากกลุ่มในสังคม” ประธาน ครป.ระบุ

แต่มองไปที่พลังกลุ่มอนุรักษนิยมจารีตเดิมเอง ก็พยายามที่จะก่อตัวเป็นรูปร่าง จัดตั้งมวลชนมากขึ้น ในสภาวะแบบนี้ ซึ่งอุดมการณ์เดียวกับเขาเชื่อคือฝ่ายเดียวผู้ถืออำนาจรัฐ เขาจะใช้กลไกของรัฐที่เป็นทางการมาจัดตั้ง แต่จะถูกท้าทายทั้งหมดไม่ว่าจะบนถนนหรือบนโลกออนไลน์ ก็เลยต้องพยายามตอบโต้ แม้ว่าพวกอนุรักษ์จะมีจุดแข็งคือสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ แต่จุดอ่อนมากๆ คือออนไลน์ที่ไม่สามารถสู้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสื่อสารที่ดีกว่า แล้วคนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดมีลักษณะเสรีนิยมประชาธิปไตยสูง

ขณะที่การเมืองท้องถนนแม้ว่ากลุ่มอนุรักษ์มีประสบการณ์มาก่อน แต่ว่าการชุมนุมแบบดั้งเดิมตามแบบแผนเก่าปักหลักพักค้าง ต่างจากปัจจุบันสิ้นเชิง เพราะของใหม่ก่อตัวเป็นคลื่น-สลาย-ก่อตัวไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวจะมี momentum มีพลังสูงกว่า มีแก่น มีคนเข้าร่วมจำนวนมากเกาะเกี่ยวกัน

สําหรับการที่ยังคงมีความพยายามใช้วิธีการแบบเก่าๆ คือจัดม็อบชนม็อบ หรือทำปฏิบัติการไอโอตอบโต้คนรุ่นใหม่ รศ.ดร.พิชายบอกว่า ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ความเป็นปรปักษ์ต่อกันรู้สึกได้ชัดมากขึ้น มวลชนจารีตทั้งหลายที่ไม่พอใจการแสดงออกของกลุ่มราษฎรมีความพยายามรวมกันเข้ามาเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยที่แนวโน้มของกลุ่มจารีตมีปริมาณที่ลดลงค่อนข้างมาก และยิ่งนานไปคนยิ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนจากจารีตจัดๆ ลดลงมามากขึ้น ประกอบกับพลังของกลุ่มนี้ไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่ เพราะเกิดจากการจัดตั้งแล้วก็สลายไป จัดขึ้นเหมือนอีเวนต์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับความรุนแรงที่เราเห็นเป็นครั้งคราว ล้วนถูกจัดตั้งมาถ้าไม่ด้วยอำนาจรัฐก็เป็นกลไกของนักการเมืองที่มีอิทธิพล ซึ่งเป็นคนกลุ่มจำนวนน้อย ไม่มากเท่าไหร่ แต่สามารถสร้างสถานการณ์ความรุนแรงได้ ถ้าหากว่าเขาประสงค์จะทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ กลับส่งผลเสียหายต่อรัฐบาลเองด้วย

เพราะฉะนั้น การที่เขาจะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้อีก ต้องไตร่ตรองให้ดีไม่น้อย

เราจึงจะเห็นความรุนแรงไม่มากในเชิงกายภาพ แล้วมวลชนจัดตั้งมาเหล่านี้ คงจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกระแสแต่ละช่วง แต่ประเภทเหมือนในอดีตที่จะกลายเป็นประเด็นขวาพิฆาตซ้ายแบบ 40 กว่าปีก่อน ผมคิดว่าเกิดขึ้นได้ยากหน่อยในบริบทสังคมปัจจุบัน

เพราะคนมีเครื่องมือการสื่อสารมากขึ้น ใครจะทำแบบนั้นถูกประจานไปทั่วโลกผ่านออนไลน์

ปิดท้ายที่การมอง “ปฏิบัติการไอโอ” รศ.ดร.พิชายบอกว่า นี่คือผลสะท้อนชัดถึงความมีจุดอ่อนของฝ่ายรัฐเอง

คนคุมอำนาจรัฐก็เป็นคนรุ่นเก่า อายุ 50 ขึ้นไปเสียส่วนมาก เป็นพวกที่มีอุดมการณ์จารีต เขาไม่ทันฝ่ายต่อต้าน เลยต้องไปใช้อำนาจ-กำลังทหารเกณฑ์มาแล้วพอสร้างแอ็กเคาต์ที่ไม่เป็นธรรมชาติก็ถูกระงับยับยั้ง เพราะกฎระเบียบของแพลตฟอร์มเหล่านั้นมองออก และระบุชัดได้ว่าเป็นพวกสร้างกระแสปั่นกระแสขึ้นมาจัดตั้งมา

การกระทำแบบนี้มีลักษณะการมองประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นปรปักษ์กับตัวเอง

คือถ้าเป็นรัฐบาลปกติที่อื่นเขาจะไม่ใช้งบประมาณมาทำงานในลักษณะนี้

มีแต่รัฐเผด็จการที่ทำการตอบโต้ประชาชนของตัวเอง

สะท้อนวิธีคิดคนกุมอำนาจรัฐยังไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ แม้เราจะก้าวย่างมาเกือบ 1 ส่วน 4 ของศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม

ชมคลิป