วางบิล/เริ่มต้น “คนหนังสือพิมพ์”

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เริ่มต้น “คนหนังสือพิมพ์”

ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงผ่านเข้ามาตลอดเวลา หลัง “14 ตุลา 16” นายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดให้มีสมัชชาแห่งชาติเพื่อเลือกสมาชิกสมัชชาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ผู้ได้รับเลือกจากที่ประชุมซึ่งเรียกกันว่า “สภาสนามม้า” มี นายขรรค์ชัย บุนปาน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ และ นายสุทธิชัย หยุ่น รวมอยู่ด้วย

แต่เนื่องจากทั้งสามคนอายุไม่ถึงเกณฑ์ตามกำหนด จึงต้องลาออก

เมื่อมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังประกาศใช้จึงมีการเลือกตั้งจากนั้น

ระหว่างนั้น เป็นช่วงที่คนไทยมีความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย มีความตื่นตัวทางการเมือง มีการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ มีการประท้วงกันเป็นรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพหลากหลาย ทั้งนิสิตนักศึกษายังมีศักยภาพเป็นตัวหลักให้บรรดาผู้ใช้แรงงานทั้งหลายที่รวมตัวทั้งเดินขบวนและประท้วงในหลายเรื่อง

หลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเสียงไม่เพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ต้องการรวมกับบางพรรคคือพรรคธรรมสังคม ที่มี นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นหัวหน้าพรรค ที่แม้มีเสียง 44 เสียง พอจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ชื่อเสียงของหัวหน้าพรรคและผู้ได้รับเลือกตั้งบางคนไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์จึงตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ร่วมกับพรรคเกษตรสังคม ที่มี นายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นหัวหน้าพรรค

วันที่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายในฐานะรัฐบาลเสียงข้างน้อย จึงได้รับเสียงไว้วางใจไม่เพียงพอ หรือน้อยกว่าเสียงไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีต้องลาออก แล้วให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่

ซึ่งที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 เสียง เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี การประท้วง การเดินขบวน การเรียกร้องยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

กระทั่งตำรวจยังจะหยุดงานประท้วงกับเขาด้วย

ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละวันกับการนำเสนอข่าวแทบว่าปรับเปลี่ยนไม่ทัน

ทั้งคณะรัฐมนตรีเองก็สร้างความวุ่นวายให้กับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เพราะไม่พอใจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

หนังสือพิมพ์ในช่วงเวลานั้น ต่างเสาะหาข่าวเบื้องหน้าเบื้องหลัง และข่าวการประท้วงมาตีแผ่เต็มที่

รวมทั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันที่ได้รับความนิยมทั้งประชาชนคนอ่านทั่งไป และบรรดานิสิตนักศึกษาที่ทุกเช้าต้องหาซื้อหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันไปอ่านบนรถเมล์ และนำเสียบไว้ข้างหลังเพื่อนำไปอ่านต่อในห้องเรียนหรือยามว่าง พร้อมหยิบยกทั้งข่าวและบทวิจารณ์มาถกเถียงกันเป็นประจำ

แม้ขณะนั้น ยอดจำหน่ายของหนังสือพิมพ์ประชาชาติจะเพิ่มขึ้น แต่เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง พรรคการเมืองบางพรรคยังมีความพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลนำนโยบายการเมืองการปกครองไปในทางอนุรักษนิยม

บริษัทห้างร้าน โดยเฉพาะบริษัทที่มีกิจการขนาดใหญ่จึงไม่ค่อยนิยมลงโฆษณากิจการในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

ทั้งยังเห็นว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของนิสิตนักศึกษาที่มีกำลังซื้อน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ประชานิยม

แล้ววันหนึ่ง บริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ คือ เดอะ เนชั่น จึงขอหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งตัวผมเองมิได้อยู่ในเหตุการณ์กับเขาด้วย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้านการดูแลและผลิตหนังสือพิมพ์ประชาชาติขณะนั้น

กระทั่งก่อนหน้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2518 บริษัทแจ้งหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน ได้เตรียมการไว้แล้วว่า จะยังดำเนินการจัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติต่อเนื่องไป ไม่มีการหยุดกิจการ ทั้งยังย้ายสำนักงานจากถนนสุขุมวิท ซึ่งใช้ร่วมกับหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น มาอยู่ที่ตึกริมถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ในห้วงเดียวกันนั้น

เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ เพื่อผลิตหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันซึ่งเพียงปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “รวมประชาชาติ” ด้วยการซ่อนคำว่า “รวม” ไว้ตรงก้านด้านหน้าตัว “ป.ปลา” เพื่อเปลี่ยนการจดทะเบียนชื่อใหม่กับเจ้าพนักงานการพิมพ์ ส่วนหนังสือพิมพ์ยังจัดทำออกจำหน่ายติดต่อกัน

ไม่นานจากนั้น ผมได้รับหน้าที่เป็น “ซับ เอดิเตอร์” ที่มีเพื่อนร่วมงานใหม่อีกหลายคน

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “คือ… คนหนังสือพิมพ์” กับ อรพิน ลิลิตวิศิษฐ์วงศ์ ตอนหนึ่งว่า

“เรา (ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์) สุวัฒน์ หรือ ทรนง ศรีเชื้อ อรุณ วัชระสวัสดิ์ อารักษ์ คคะนาท จะออกไปทางศิลปินหน่อย ทำพวกซับ (sub editor) เขียนรูป ก็เห็นอะไรที่แรงไปก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เช่น จะเผาวรรณคดีก็รับไม่ค่อยได้ ก็เลยถ่วงดุลกันอยู่ เลยทำให้ออกมาทางกลางๆ”

ที่ชัชรินทร์กล่าวถึง ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายศิลป์ นอกจากผู้จัดหน้า หรือ ซับ เอดิเตอร์ ที่มีผม ยังมี ดนัย เยาหะรี และอีกหลายคน

จากเป็น “ซับ” ขณะที่หัวหน้าข่าวหน้า 1 มี ไพบูลย์ วงษ์เทศ สำเริง คำพะอุ ไพสันต์ พรหมน้อย พงษ์ศักดิ์ บุญชื่น ส่วนโต๊ะข่าวมีหัวหน้าข่าวเช่นกัน และมีนักข่าวอีกจำนวนหนึ่ง ต่อมาไม่นาน

ผมได้รับคำสั่งให้เป็นนักข่าว

ชีวิต “คนหนังสือพิมพ์” ของผมน่าจะเริ่มตั้งแต่วันนั้น

เพราะ “นักข่าว” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งตามภาษาทางราชการว่า “ผู้สื่อข่าว” เป็นตำแหน่งเริ่มแรกของการทำงานหนังสือพิมพ์ในกองบรรณาธิการอย่างแท้จริง

การเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ (เรียกตามชื่อเดิม) ข่าวสำคัญคือข่าวการเมือง ดังนั้น ไม่ว่านักข่าวคนไหนจะต้องออกไปทำข่าวอะไร แม้แต่ข่าวกีฬา หรือข่าวบันเทิง ยังต้องมีประเด็นทางการเมืองติดไว้ด้วย เช่น ทำข่าวการศึกษา ข่าวเศรษฐกิจ ต้องบวกด้วย “และข่าวการเมือง”

นักข่าวรุ่นนั้นมิใช่นักข่าวประจำกระทรวงโดยตรง อาจไปหาข่าวรัฐมนตรีประจำกระทรวง วันอังคารต้องไปช่วยนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลทำข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี วันพุธหรือวันพฤหัสบดีต้องไปช่วยทำข่าวที่รัฐสภา เพราะมีทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชุม

ทั้งสองแห่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญทางการเมือง