วิเคราะห์ : คนรุ่นใหม่กังวลอะไรจนไม่อยากมีลูก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

งานวิจัยของนักวิชาการในสิงคโปร์พบว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แสดงความกังวลว่าจะมีผลกระทบกับอนาคตของลูกหลาน

ความรู้สึกดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจว่าไม่ควรมีลูกสืบทอดตระกูลอีกต่อไป

งานวิจัยชี้นนี้เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวน 607 คน ที่มีอายุระหว่าง 27-45 ปี ผลวิจัยพบปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเป็นกังวลที่สุดได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากถึง 96 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มตัวอย่างกังวลว่า เมื่อสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนวิปริตจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในอนาคต และทำใจไม่ได้กับการมีลูกแล้วลูกจะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอดในท่ามกลางความวิปริต

กลุ่มตัวอย่างบางคนบอกกับนักวิจัยว่า เสียใจที่มีลูกแล้วและเป็นห่วงอนาคตของลูก ไม่รู้จะอยู่อย่างไรในขณะที่การปล่อยก๊าซพิษทำลายชั้นบรรยากาศรุนแรงถึงขั้นต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาวะภูมิอากาศ

แมตธิว ชไนเดอร์-ไมเออร์ซัน หนึ่งในทีมวิจัยของวิทยาลัยเยล-เอ็นยูเอส (Yale-NUS College) แห่งสิงคโปร์บอกว่า ความหวาดกลัวในอนาคตของลูกๆ นั้นเป็นความรู้สึกที่ฝังลึกมาก บ่อยครั้งแสดงออกมาผ่านอากัปกิริยาเศร้าโศก หรือเจ็บปวดใจ

กลุ่มตัวอย่างได้เห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนด้วยตัวเอง และเจอเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างเช่น อากาศที่ร้อนจัด ฝนตกหนักน้ำท่วม เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ

 

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร”ไคลเมต เชนจ์” ผลสรุปจากการสำรวจพบว่าทั้งหญิง-ชายที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนๆ กัน

หญิงวัย 31 ปีให้ความเห็นกับนักวิจัยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดการตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก แม้คิดอยากเป็นแม่คนแต่ไม่อยากให้ลูกที่เกิดมาต้องเป็นทุกข์เพราะอยู่ในโลกที่วิกฤต

ผลวิจัยพบว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า เสียใจที่ให้กำเนิดลูกในยุคนี้ และหวาดวิตกว่าโลกกำลังเข้าสู่จุดจบเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิจัยแสดงความประหลาดใจกับคำตอบของกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีความรู้สึกกับเรื่องโลกร้อนอย่างสุดๆ

 

งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นงานชิ้นแรกในทางวิชาการที่ได้ศึกษาเจาะลึกประเด็นและวิเคราะห์กลุ่มประชาชนที่เป็นกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างแสดงความเห็นความรู้สึกอย่างอิสระ

ทำให้รู้ว่าคนรุ่นใหม่คิดอย่างไร ให้ความสำคัญแค่ไหน รวมถึงการตัดสินใจในอนาคตของตัวเอง

การตัดสินใจ “ไม่มีลูก” เป็นประเด็นที่นักวิจัยทึ่งเป็นที่สุด

ผลการวิจัยยังพบว่า คนรุ่นใหม่ที่ยังวัยเยาว์ให้ความสำคัญถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนกับลูกๆ มากกว่าคนอายุมากกว่า และยังคิดถึงทางออกที่มีศักยภาพถ้าหากในอนาคตอยากจะมีลูกสืบทอดตระกูล

นอกจากนั้น ยังบอกให้รู้อีกว่า ความหวาดกลัวในเรื่องของภาวะโลกร้อนกับชีวิตของลูกนั้น เป็นการมองโลกในแง่ร้ายอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่มองเป็นลบอย่างนี้มีมากถึง 400 คน หรือคิดเป็น 92.3 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง

มีแค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์มองในแง่บวก อีก 5.6 เปอร์เซ็นต์ให้ความเห็นเป็นกลางๆ

กลุ่มตัวอย่างชายวัย 42 ปี มองโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าว่า จะเป็นบ้านนรกที่ร้อนอย่างสุดๆ จะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร สังคมศิวิไลซ์ล่มสลาย เกษตรกรรมพังทลาย น้ำทะเลเพิ่มสูง ธารน้ำแข็งละลาย เกิดความอดหยากหิวโหย ภัยแล้ง น้ำท่วม โคลนถล่มและความวิบัติแผ่ซ่านไปทั่ว

การมองในแง่ร้ายของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันครั้งนี้ทำให้ทีมนักวิจัยคิดหาทางประเมินผลกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่นๆ หรืออาจจะต้องเฟ้นหากลุ่มตัวอย่างเฉพาะ เช่น เป็นชาวอเมริกันผิวขาว มีการศึกษาสูงหรือมีแนวคิดเสรีนิยมเพื่อให้งานวิจัยมีความแม่นยำเที่ยงตรงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เคยมีการทำโพลให้ความเห็นของชาวอเมริกันเรื่องของวิกฤตโลกร้อนกับการมีลูก พบว่าปัจจัยของวิกฤตโลกร้อนมีผลอย่างมากกับการตัดสินใจไม่มีลูก

 

เมื่อปีที่แล้ว กองทุนอนุรักษ์ออสเตรเลีย (Australian Conservation Foundation) สำรวจทัศนคติชาวออสซี่ที่มีต่อภาวะโลกร้อน จำนวน 6,500 คน พบว่า 9 ใน 10 มีความกังวลอย่างมาก

ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี 1 ใน 3 กังวลว่าภาวะโลกร้อนที่มีขึ้นในอนาคตข้างหน้ามีผลต่อการตัดสินว่าจะมีลูกหรือไม่ บางคนบอกว่าตอนแรกตั้งใจจะมีลูก แต่เมื่อเจอเหตุการณ์โลกร้อนกับตัวเอง ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่ควรจะมีลูกหรือไม่ หรือถ้ามีจะวางแผนอย่างไรให้ลูกมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย

การสำรวจทัศนคติดังกล่าวทำขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลีย ผู้สำรวจจึงสอบถามผู้หญิงชาวออสซี่ว่าจะเลือกนักการเมืองที่มีคุณสมบัติอย่างไร 7 ใน 10 คน บอกว่าจะเลือกนักการเมืองที่มีแนวทางปฎิบัติการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่ชัดเจน

นอกจากนี้แล้วยังพบอีกว่า ชาวออสซี่ส่วนใหญ่เคยได้ยินคำเล่าขานถึงประสบการณ์ของญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงว่ามีความกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เป็นห่วงอนาคต

ผู้คนเหล่านี้ล้วนเคยเจอกับสภาวะอากาศที่เลวร้าย คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วมและแสดงอาการผิดหวังกับนักการเมืองซึ่งไม่เคยให้ความสำคัญกับปัญหานี้เลย

ทัศนคติของชาวออสซี่ที่มีต่อภาวะโลกร้อน ยังมีผลต่อการตัดสินใจในการใช้ชีวิต การวางแผนครอบครัว การเลือกซื้อสินค้า และการแสวงหาที่อยู่อาศัย

ส่วนที่อังกฤษเคยสำรวจความเห็นของผู้หญิงกับโลกร้อน พบว่าบางคนจะไม่มีลูกอย่างเด็ดขาดจนกว่าวิกฤตการณ์โลกร้อนจะได้รับการแก้ไข

การสำรวจความเห็นและงานวิจัยชิ้นล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกัน ชาวออสซี่และอังกฤษได้มองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดถึงขั้นตัดสะบั้นการสืบทอดตระกูลกันเลยทีเดียว

นักวิจัยในบ้านเราน่าจะไปสำรวจศึกษาความเห็นของคนรุ่นใหม่อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ นอกเหนือจากทัศนคติที่เป็นลบกับโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน