ย้อน 11 เหตุการณ์ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กับบทบาทการเมือง และที่มาเหตุแห่งอำนาจ

มุกดา สุวรรณชาติ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 04/12/2020

 

ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นเพื่อหวังจะถ่วงดุลกับการใช้กำลังและอำนาจที่เหนือกว่า แต่ความยุติธรรมที่คนสร้าง มักไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่มุ่งหวัง แต่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ของสังคมในช่วงระยะเวลา นั้นๆ

 

ความเป็นของมาศาลรัฐธรรมนูญไทย

10 ธันวาคม 2475 เรามีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ซึ่งตอนนั้นไม่มีบทบัญญัติอย่างชัดเจนว่าในกรณีกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญแล้วจะให้องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด เพียงแต่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 ว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ได้มีการตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ขึ้น สภาฯกับศาลจึงขัดแย้งกัน และเพื่อยุติข้อขัดแย้งแบบนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 จึงกำหนดให้มีองค์กรพิเศษทำหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ องค์กรพิเศษนี้เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จากนั้นรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับก็กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2489 พ.ศ2492 พ.ศ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2495 พ.ศ 2511 พ.ศ 2517 พ.ศ 2521 พ.ศ 2534 และพ.ศ 2549 (ฉบับชั่วคราว)

แต่เมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง คือประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญอีก 7 คนเป็นบุคคลที่มาจากองค์กรศาลทั้งหมดเข้าทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลทั้งหมด) รัฐธรรมนูญแห่งราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คนผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น 2 คน เลือกโดยวุฒิสภา (ศาล 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ 4)

รัฐธรรมนูญ 2560 ในของส่วนสายศาลเหมือนเดิม เปลี่ยน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ เหลือสาขาละ 1 คน แต่ไปเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี 2คน

จะเห็นว่าทั้ง 9 คนไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

ส่วนคนเสนอชื่อว่าใครควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ “คณะกรรมการสรรหา” ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากศาลและองค์กรอิสระ นั่นคือ 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลปกครองสูงสุด 3.ตัวแทนจากกกต. 4.ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน 5.ตัวแทนป.ป.ช.6.ตัวแทน คตง. 7.ตัวแทน กสม. ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

แต่องค์กรอิสระทั้ง 5 ถูกเลือกมาจาก ส.ว แต่งตั้ง โดยนายกฯ

สุดท้าย คนที่จะพิจารณาอนุมัติว่าเอาหรือไม่ คือวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.ทั้งหมด

และถ้าเป็นยุคที่เผด็จการครองอำนาจ ก็แต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจในยุคนั้น จะตั้งใหม่หรือต่ออายุ หรือเซ็ทซีโร่ก็แล้วแต่ท่าน

 

บทบาททางการเมือง
ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

1.ล้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ โดยมีมติ 8 ต่อ 6 และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

2. ยุบพรรคไทยรักไทย 29 พฤษภาคม 2550 ตัดสิทธ์ทางการเมืองก.ก. บริหาร111 คน 5 ปี

3. วินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ9 กันยายน 2551กรณีรับค่าตอบแทนจากการจัดรายการชิมไปบ่นไป

4. วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย ที่ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล 2 ธันวาคม 2551ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

5. ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยืนคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์

6. ยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ

20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ชอบ(จะแก้ไขให้ส.ว มาจากกาเลือกตั้ง)

8 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ

ในช่วงเวลานั้นนายจาตุรนต์ได้โต้แย้งว่า ..ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจแต่อย่างใดเลย บอกว่าการแก้มาตรา 291 ขัดเจตนาของมาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้ตรรกะที่พิสดารที่สุด แนะนำว่าสมควรลงประชามติเสียก่อนทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ พร้อมทั้งบอกให้ไปแก้เป็นรายมาตรา

พอเขาจะแก้รายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็รับคำร้องคัดค้านอีกทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจ เพราะการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจ หน้าที่ของรัฐสภาและไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บอกว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่นี่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังใช้อำนาจที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกขั้นตอนตามอำเภอใจ

7.ยับยั้งนโยบายฝ่ายบริหาร

12มี.ค 2557ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นนโยบายที่รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้แถลงต่อรัฐสภามีการตรวจสอบแล้วขั้นหนึ่งในสภาฯ เพื่อการปฏิรูปแบบก้าวกระโดด หลังจากที่แถลงนโยบายมีแผนการเดินทางศึกษาวิจัยทำโครงการ การลงทุนขนาดนี้ คงจะต้องอาศัยเงินกู้เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวและได้นำเสนอแล้วในสภาฯ ทั้งสองสภาฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ตั้งคณะกรรมการทุกฝ่ายมาร่วมกัน ในเรื่องการตรวจสอบร่าง ก.ม. ทำกันอย่างสมบูรณ์แบบ และใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน ก็ควรจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฯ ได้เลยว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ต้องมาหยุดชะงักลง เนื่องจากศาล รธน.วินิจฉัยว่า ขัด รธน. ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ศาล รธน.ควรจะดูที่ข้อความขัดแย้งกับ รธน.หรือไม่ แต่ศาล รธน. กลับไปตัดสินตามความรู้สึก ทำไปแล้วเป็นหนี้เป็นสิน และเสียวินัยทางการเงินการคลัง

“การที่ศาล รธน.วินิจฉัย ควํ่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เท่ากับตกไปเลย และสร้างความเสียหายทางด้านระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งบทบัญญัติของ รธน. คือ 1. เป็นการล้มอำนาจของฝ่ายบริหารที่แถลงต่อรัฐสภา 2. ล้มอำนาจนิติบัญญัติ 3. เป็นการสกัดกั้นสถาบันในการพิจารณาร่างดังกล่าว ทำให้เกิดผลเสียหายที่สำคัญชาติต้องหยุดชะงัก ต่อจากนี้ไป จะเป็นบรรทัดฐานหากรัฐบาลจะดำเนินโครงการอะไรก็แล้วแต่ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฯ ไม่ได้เลย หากศาล รธน.ไม่ยินยอม”

8.วินิจฉัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นโมฆะ

เมื่อ21 มีนาคม 2557 เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันเดียว

9.วินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี 7 พฤษภาคม 2557 ตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ

ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก

10.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

วันที่ 7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

โดยศาลวินิจฉัยในประเด็นแรกมีมติเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามฐานความผิดตาม มาตรา 92 (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สั่งตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

การยุบพรรคส่งผลผู้สมัครสังกัดพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมด 270 คน ไม่ได้เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

11. ยุบพรรคอนาคตใหม่

วันที่ 21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคอนาคตใหม่

เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

และสั่งตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี (เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ)

 

ผ่านไป 75 ปี
จากวันที่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

ปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาโพสต์ข้อความหลังมีการอ่านคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากคดีพักบ้านหลวง ว่า…

“ในฐานะอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ. ผมขอยืนยันความเห็นด้วยหลักวิชาและหลักรัฐธรรมนูญว่า ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่เราจะมีศาลรัฐธรรมนูญ. เพราะการเข้าสู้ตำแหน่งตุลาการศาลไม่มีหลักประกันว่าจะได้บุคคลที่รอบรู้และเข้าใจหลักรัฐธรรมนูญ. แต่เป็นคนของผู้แต่งตั้งมากกว่า โปรดอ่านคำยืนยันจากปากนายกฯประยุทธ์ บอกว่าตั้งตุลาการมากับมือทุกคน “จะทรยศ” ผมได้อย่างไร ยุบศาลรัฐธรรมนญเถิดครับ เปลืองงบประมาณเปล่าๆ ยังไม่พอ ยังทำลายหลักรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของชาติอีกด้วย”

แต่ทีมวิเคราะห์มองว่าต้องมีคนตัดสินความขัดแย้งอย่างยุติธรรม ปัจจุบันทุกองค์กรถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ต้องการสืบทอดอำนาจ เป็นหมากบนกระดานที่ถูกใช้งานจนสึกหรอ จะมีเหตุผลตามกฎหมายหรือไม่ ก็พยายามถูไถไป จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ประชาชนขอเปลี่ยนกฏและตัวกรรมการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ จะแก้เรื่องนี้อย่างไร ทำอย่างไรประชาชนจะได้เลือกผู้ใช้อำนาจอธิปไตยไปเป็นตัวแทนฝ่ายอำนาจตุลาการชี้ถูกชี้ผิด หรือว่าควรมีสภายุติธรรม เพื่อใช้ยุติความขัดแย้ง