วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยหลังบ้านเกิดเปิดประเทศ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (9)
ชาวจีนภายใต้การพัฒนาสองกระแส (ต่อ)

ยุคปฏิรูป

ภายหลังรัฐประหาร ค.ศ.1976 ไม่นาน จีนได้ประกาศยุติการปฏิวัติวัฒนธรรมและบทบาทของยามพิทักษ์แดง ทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์ความเลวร้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และดำเนินคดีกับเหล่ายามพิทักษ์แดงบางกลุ่มบางคนที่มีพฤติกรรมเลวร้าย

จนถึงก่อนสิ้น ค.ศ.1978 จีนก็ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบันจีนมักเรียกยุคสมัยนี้ว่ายุคปฏิรูป

จีนในยุคปฏิรูปได้ปฏิรูประบบการเมืองการปกครองขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ผู้นำระดับสูงมีวาระในการดำรงตำแหน่ง และรื้อฟื้นกระบวนยุติธรรมที่ล่มสลายไปในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำจีนไปสู่การปกครองโดยกฎหมาย (the Rule by law)

แต่กระนั้นจีนก็ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกล่าวในเชิงหลักคิดแล้วจีนมิได้ถือเคร่งในเศรษฐกิจลัทธิสังคมนิยมอีกต่อไป ในยุคนี้ผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรมสามารถขายผลผลิตส่วนเกินของตนได้

ส่วนในภาคอุตสาหกรรมและภาคพาณิชยกรรมมีการปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี ค่าล่วงเวลา การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่งงาน และเงินพิเศษ (bonus) ในกรณีที่ผลประกอบการมีกำไร ซึ่งผิดกับยุคปฏิวัติที่ทุกคนต้องมีจิตใจที่เสียสละและไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

การปฏิรูปนี้ทำให้ชาวจีนในภาคเศรษฐกิจเหล่านี้มีเงินถือเก็บได้มากขึ้น และไม่ต้องมาเกรงว่าจะเป็นการสะสมทุนตามหลักคิดลัทธิทุนนิยมอีกต่อไป ชาวจีนในยุคนี้จึงสามารถใช้เงินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งมิอาจซื้อได้ในยุคปฏิวัติ

สามารถเข้าถึงการประทินโฉมและการแต่งเสื้อผ้าหน้าผมได้อย่างอิสระ และสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยไม่ต้องใช้บัตรปันส่วนอีกต่อไป แต่ถึงเวลานั้นบัตรปันส่วนก็ได้หายไปจากสังคมจีนแล้ว

 

ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในดังกล่าว จีนยังได้เปิดประเทศหลังจากปิดไป 30 ปีอีกด้วย จีนเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างชาติเพื่อให้ต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ตน เปิดรับเอาความรู้ทางวิชาการและวิทยาการทั้งในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีจากภายนอก และเปิดให้นักเรียนจีนได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นต้น

การเปิดประเทศในแง่นี้ทำให้จีนค่อยๆ สั่งสมความรู้ทางเทคโนโลยีจนอยู่ตัว และนำมาขยายผลและต่อยอดจนเกิดความก้าวหน้าดังที่เห็นในทุกวันนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่จีนให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องหนึ่งก็คือ การเปิดรับและศึกษาแนวทางการพัฒนาจากภายนอกเพื่อนำมาปรับใช้กับการพัฒนาของตน จนเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งจีนก็เลือกหลักคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) มาปรับใช้

จีนใช้ลัทธินี้เรื่อยมาจนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการใช้ครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นใน ค.ศ.1998 ในปีนั้นจีนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หน่วยบริหาร และระบบสวัสดิการครั้งใหญ่ จนเศรษฐกิจจีนหมดสิ้นซึ่งความเป็นสังคมนิยม

ยกเว้นก็แต่ระบบการเมืองเท่านั้นที่ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดเหมือนเดิม

 

สิ่งที่แตกต่างไปจากการใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ของตะวันตกในกรณีจีนก็คือ

หนึ่ง รัฐวิสาหกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในทุกภาคการผลิตและบริการยังคงเป็นของรัฐ

สอง จีนเป็นรัฐอำนาจนิยมซึ่งสอดคล้องกับธาตุแท้ของเสรีนิยมใหม่ ที่หากจะใช้ลัทธินี้ให้ประสบความสำเร็จรัฐนั้นต้องเป็นรัฐอำนาจนิยมเท่านั้น ในขณะที่ชาติตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และปัญหาสิ่งแวดล้อม (ยกเว้นสหรัฐ) จะประสบความสำเร็จในการใช้ลัทธินี้น้อยกว่าจีน

และสาม แม้จีนจะเปิดเสรีให้กับธุรกิจภาคเอกชนก็ตาม แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจรายใดประสบความสำเร็จสูง จีนก็จะเชิญเจ้าของธุรกิจรายนั้นเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะเท่ากับว่าเจ้าของธุรกิจรายนั้นจะต้องปฏิบัติตัวมิให้ผิดธรรมนูญพรรคด้วย ในแง่นี้ก็หมายความว่าเจ้าของธุรกิจรายนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคนั้นเอง

จะเห็นได้ว่า การใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ของจีนจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากตะวันตกหรือชาติอื่นๆ จนงานศึกษาบางที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน เพื่อล้อกับคำว่า ลัทธิสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน

ที่จีนใช้เรียกหลักคิดที่นำมาพัฒนาประเทศของตนเองหลัง ค.ศ.1978 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งที่โดยธาตุแท้แล้วก็คือการนำเอาลัทธิเสรีนิยมใหม่มาใช้ในทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงลัทธิสังคมนิยมไว้ในทางการเมือง งานศึกษานี้จึงเรียกการใช้เช่นนี้ของจีนว่าลัทธิสังคมเสรีนิยมใหม่ (Social-neoliberalism)

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศด้วยการรับเอาวิทยาการจากภายนอกเข้ามาใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาดังกล่าว ไม่เพียงจะทำให้เห็นว่าจีนรับเอาวิทยาการมาด้วยวิธีที่หลากหลายเท่านั้น หากมันยังได้ส่งผลไปยังอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญต่องานศึกษาในที่นี้อีกด้วย

นั่นคือ การเกิดปรากฏการณ์การหลั่งไหลออกนอกประเทศของชาวจีนด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

จำนวนไม่น้อยของชาวจีนเหล่านี้มุ่งไปยังต่างแดนในลักษณะที่เรียกว่า “ไปตายเอาดาบหน้า”

เหตุดังนั้น ปรากฏการณ์นี้มีหลากหลายรูปแบบและมีทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย แต่ที่ผิดกฎหมายจะมีมากกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย และยังคงเกิดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

แต่กระนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ช่วงหนึ่ง กล่าวคือ โดยเฉพาะหลังจากการปฏิรูปครั้งสำคัญใน ค.ศ.1998 ดังได้กล่าวไปแล้ว จีนก็ทำให้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) เห็นว่าเศรษฐกิจจีนได้ลุล่วงสู่พื้นฐานเศรษฐกิจที่เสรีแล้ว

องค์กรนี้จึงยอมรับจีนเข้าเป็นสมาชิกก่อนสิ้นปี ค.ศ.2001 หลังจากที่จีนใช้เวลาในการต่อสู้ดิ้นรนที่จะเป็นสมาชิกให้ได้ตั้งแต่ ค.ศ.1985

ค.ศ.2001 จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นั่นคือ ก่อนปีดังกล่าวชาวจีนที่ออกนอกประเทศแม้จะมีหลากหลายกลุ่ม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีฐานะยากจน แต่หลัง ค.ศ.2001 เริ่มมีชาวจีนที่มีฐานะระดับปานกลางจนถึงระดับสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากกฎการค้าเสรีขององค์การการค้าโลกที่จีนเป็นสมาชิกนั้นเอื้อประโยชน์ในการทำการค้าต่างประเทศของชาวจีนมากขึ้น

ประกอบกับเศรษฐกิจภายในที่เจริญเติบโตขึ้นทำให้ชาวจีนมีฐานะดีขึ้น การคิดหาลู่ทางทำการค้าต่างประเทศจึงเกิดขึ้น

แม้จะมีความต่างกันของชาวจีนสองกลุ่มที่มี ค.ศ.2001 เป็นหลักหมาย แต่ก็มีจีนอยู่กลุ่มหนึ่งในสองกลุ่มนี้ที่หมายมุ่งไปปักหลักตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศปลายทาง มิได้ไปๆ มาๆ เพียงเพื่อทำการค้าแต่เพียงสถานเดียว

กล่าวเฉพาะชาวจีนที่ตั้งรกรากยังต่างแดนแล้วก็คือจีนที่เคยผ่านยุคปฏิวัติกับยุคปฏิรูปมาก่อน เป็นจีนที่ถูกกล่อมเกลาให้มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ในแบบสังคมนิยมในยุคปฏิวัติ แต่พอเข้าสู่ยุคปฏิรูปที่จีนเสรีมากขึ้นแล้วนั้น จีนเหล่านี้ก็มุ่งที่จะแสวงหาชีวิต (ทางเศรษฐกิจ) ที่ดีกว่า

โดยที่ยังสลัดโลกทัศน์และชีวทัศน์เดิมไปไม่หมด

และยังคงเป็นชาวจีนที่มีวัฒนธรรมสังคมนิยมหลงเหลืออยู่ ลำพังการอยู่ในประเทศของตนแล้วมีวัฒนธรรมเช่นนี้ย่อมมิใช่เรื่องแปลก แต่หากไปอยู่ต่างแดนแล้ววัฒนธรรมนี้อาจมีบางด้านที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และที่แตกต่างในเชิงเปรียบเทียบอย่างแน่นอนก็คือ ชาวจีนเหล่านี้มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกับชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่มาก่อนหน้า

ชาวจีนในปรากฏการณ์นี้ก็คือกลุ่มคนที่ถูกเรียกกันต่อมาว่าชาวจีนอพยพใหม่

 

จากที่กล่าวมานี้แม้จะเห็นได้ว่าจีนอพยพใหม่แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปฏิรูป แต่ในแง่วัฒนธรรมแล้วมิอาจตัดขาดจากยุคปฏิวัติไปได้

กระแสพัฒนาการภายในจีนทั้งสองยุคจึงเป็นกระแสที่หล่อหลอมให้จีนอพยพใหม่มีความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ อุปนิสัย ตลอดจนบุคลิกภาพเฉพาะตนที่ต่างไปจากจีนโพ้นทะเลที่ประชาคมโลกหรือไทยเคยรู้จัก และเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยแล้ว การทำความเข้าใจจีนอพยพใหม่จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และอย่างเหมาะสม

—————————————————————————————-
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป