ย้อนคดี “ไผ่-อากง” : ย้อนดูแนวมาตรา 112 “ประยุทธ์” ใช้คุมม็อบ ตร.แจ้งข้อหา 15 แกนนำ

ย้อนดูแนวมาตรา 112 “บิ๊กตู่” ใช้ควบคุมม็อบ ตร.แจ้งข้อหา 15 แกนนำ พลิกคดีเก่า “ไผ่-อากง”

เพิ่มอุณหภูมิการเมืองไทยให้ร้อนแรงขึ้นทันที เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประกาศยกระดับการรับมือม็อบด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างจริงจังทุกมาตรา

ซึ่งรวมถึงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

พลิกผันจากที่ก่อนหน้านี้เคยออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลถอยกันคนละก้าว

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ยังเคยให้สัมภาษณ์ถึงพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112

ผ่านมาเพียง 5 เดือนสถานการณ์ก็กลับกลาย

ขณะที่ล่าสุดมีผู้ถูกหมายเรียกในความผิดมาตรา 112 แล้วไม่ต่ำกว่า 15 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและแกนนำการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และคาดว่าจะทยอยมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ชวนให้ย้อนกลับไปมองถึงการใช้กฎหมายมาตรานี้ในอดีต ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน อย่าง “ไผ่ ดาวดิน” และคดีโด่งดังในอดีต อย่าง “อากง” ที่เสียชีวิตในที่คุมขัง

กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงว่าบรรยากาศแบบในอดีตจะกลับคืนมาอีกหรือไม่!??

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.112 จัดการม็อบ

หลังสถานการณ์ชุมนุมดุเดือดข้ามเดือน จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว และให้นำปัญหาบ้านเมืองเข้าสู่กระบวนการแก้ไขด้วยรัฐสภา ในที่สุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ก็เปลี่ยนท่าที โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า

จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติบนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง

แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินการต่างๆ ตามหลักสากลด้วยความระมัดระวัง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศของความรักความสามัคคีปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ

ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก มีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป

รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ก่อนจะให้สัมภาษณ์อีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน ระบุว่า คำว่าทุกมาตรารวมถึงมาตรา 112 ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์เรื่องเป็นห่วงการละเมิด การก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง โดยเรื่องการบิดเบือนสถาบัน มีกฎหมายมาตรา 112 แต่ไม่ค่อยมีปัญหา จะเห็นได้ว่ามาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้

ผ่านมา 5 เดือนสถานการณ์ก็กลับกลาย

ตร.ออกหมายเรียกม็อบราษฎร

ซึ่งหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณใช้กฎหมายทุกมาตรา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำสำนวนออกหมายเรียก หลังจากที่ยื่นขออนุมัติจากศาลขอหมายจับ แต่ศาลเห็นว่าเป็นบุคคลสาธารณะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงให้ออกหมายเรียกแทน

โดยมีอย่างน้อย 12 แกนนำที่ถูกหมายเรียกมาตรา 112 ประกอบด้วย 1.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน 2.น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 3.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 4.นายอานนท์ นำภา มี 4 คดี 5.น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ 6.นายชนินทร์ วงษ์ศรี 7.น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

8.นายปิยรัฐ จงเทพ 9.นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี 10.นายอรรถพล บัวพัฒน์ 11.นายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือจัสติน ไทยแลนด์ 12.นายสมบัติ ทองย้อย

ต่อมาก็มีออกหมายเรียกเพิ่มเติม ประกอบด้วย 13.นายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ 14.นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และ 15.นายชลธิศ โชติสวัสดิ์

โดยทั้งหมดเป็นแกนนำในคดีที่ร่วมชุมนุมใน 2 จุดหลัก คือที่หน้าสถานทูตเยอรมัน พื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ และหน้ารัฐสภา พื้นที่ สน.บางโพ

เป็น 15 คนในเบื้องต้น ขณะที่เจ้าหน้าที่เตรียมรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องอีก คาดว่าจะมีอีกจำนวนมาก

สำหรับมาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามว่ามีปัญหาในการบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ความผิดในมาตราดังกล่าว เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งอาจถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง ให้สิทธิบุคคลทั่วไปฟ้องร้องกล่าวโทษได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่ผู้เสียหายเป็นผู้เริ่มต้นฟ้องคดีเอง รวมทั้งปัญหาในการพิจารณาคดี ที่ส่วนใหญ่พิจารณาคดีในทางลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

ไม่รวมการขยายขอบเขตการตีความ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการรับฟ้องคดีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น หรือแม้แต่คนละรัชสมัยกับปัจจุบัน และขยายวงไปถึงสุนัขทรงเลี้ยง

จนเกิดกระแสการรณรงค์ให้ยกเลิก เกิดคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เคยรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอต่อสภามาแล้วเมื่อปี 2555

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณา

ย้อนคดี “ไผ่ ดาวดิน-อากง”

ทั้งนี้ ในการใช้มาตรา 112 นี้ เคยปรากฏขึ้นมาหลายกรณี แต่ที่เป็นเรื่องโด่งดังและเป็นที่รับรู้ในสังคม ไม่พ้นกรณีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู ประจำปี 2017

ที่ถูกจำคุกในฐานความผิดมาตรา 112 โดยถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ด้วยความผิดแชร์บทความของบีบีซีไทย แต่นายจตุภัทร์รับสารภาพ ศาลลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน

โดยไผ่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 และได้รับการปล่อยตัววันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ก่อนครบกำหนดในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เพราะได้รับพระรราชทานอภัยโทษเนื่องจากโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และเมื่อออกจากคุกก็ยังเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และเป็น 1 ในแกนนำกลุ่มราษฎร

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางเอสเอ็มเอสโทรศัพท์มือถือ เข้ามือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ จำนวน 4 ครั้ง เนื้อหามีข้อความแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี เหตุเกิดเมื่อปี 2553

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับนายอำพลที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ยึดโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมมาตรวจสอบ ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น และไม่รู้เบอร์ของบุคคลสำคัญ ขณะที่มือถือเครื่องดังกล่าวเลิกใช้นานแล้ว

โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ระบุว่า นายอำพลมีความผิดตามมาตรา 112 และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้จำคุกตามความผิดมาตรา 112 จำนวน 4 กรรม รวมจำคุก 20 ปี

ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นายอำพลเสียชีวิตที่เรือนจำกลางคลองเปรม โดยแพทย์ชันสูตรระบุว่าเสียชีวิตเพราะมะเร็งตับที่แพร่กระจาย ทำให้หัวใจล้มเหลว

ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112

และในที่สุดกฎหมายดังกล่าวก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งกับกลุ่ม “ราษฎร”