เจาะระบบ “การ์ดวีโว่-โตโต้” 10 กลุ่มการ์ด ดาบสองคม จาก “รัฐสภา” ฝีแตก “ราบ 11” ระวังฝ่ายความมั่นคง “เจาะยาง”

การเกิดขึ้นของ “การ์ด wevo” หรือที่มาจากคำว่า “We Volunteer” หรือที่มีชื่อทางการว่า “การ์ดอาสานักศึกษา” นำโดย “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ทำหน้าที่ “มือประสาน” กับเจ้าหน้าที่ ตร. ในการจัดกิจกรรมต่างๆ จนมาสู่การจัดตั้งการ์ดรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุม ที่เริ่มก่อตัวครั้งแรกๆ เมื่อครั้งการชุมนุม 19-20 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง

ในครั้งนั้นหลังการชุมนุมคณะราษฎร 2563 พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ที่ถือเป็น “มือประสานม็อบ” ฝ่าย ตร. ที่ “โตโต้” เรียกว่า “พี่อรรถวิทย์” ได้ขอ “ปลอกแขน wevo” ไปเป็นที่ระลึก โดยเป็น “ปลอกแขน” ที่มีหมายเลขประจำตัวด้วย

การชุมนุมที่ผ่านมาแกนนำผู้ชุมนุมจะประสานกับ ตร.อยู่ตลอด เพื่อเจรจาตกลงให้ต่างฝ่ายต่างได้ทำหน้าที่และภารกิจของตัวเอง ถือเป็นจุดสมดุลระหว่าง 2 ฝ่าย ที่ไม่ต้องการให้มีการเผชิญหน้ากัน แม้หลายครั้ง ตร.จะถูก “แกงเทโพ” ก็ตาม ซึ่งภารกิจของทั้ง 2 ฝ่ายก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

สำหรับการ์ดวีโว่มีก็มีกระบวนการเทรนด์นิ่ง ที่ไม่ใช่การฝึกใช้อาวุธหรือศิลปะป้องกันตัว แต่เป็นการมาพบปะพูดคุยเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกันและมีการแบ่งหน้าที่ตามสายงานต่างๆ เพราะการ์ดแต่ละคนเป็นอาสาสมัครที่สมัครใจเข้ามาโดยไม่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน และการจัดพูดคุยก็มีทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ทำให้ภาพการ์ดวีโว่จึงเป็นภาพคนรุ่นใหม่มากกว่าการ์ดม็อบการเมืองในอดีต

โดย “การ์ดวีโว่” มีแนวทางในการทำหน้าที่คือเป็นคนที่เสียสละมาอยู่แนวหน้าในการชุมนุม เพราะเมื่อมีการปะทะเกิดขึ้น ก็เปรียบเป็นด่านหน้า แต่จุดยืนสำคัญของการ์ดวีโว่คือไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ “ขบวนการการ์ด” ของการชุมนุมได้พัฒนามาเป็น “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน” โดยมีทีมการ์ดที่เข้าร่วม 10 กลุ่ม ได้แก่

1. ทีมการ์ดปลดแอก จัดตั้งเพื่อปกป้องมวลชน สนับสนุนเพื่อนร่วมอุดมการณ์โดยไม่ยึดติดแกนนำ มุ่งเน้นให้ทีมงานปลอดภัย

2. ทีมการ์ดมวลชน จัดตั้งจากกลุ่มมวลชนอาสาเพื่อปกป้องประชาชน

3. ทีมการ์ดราษฎร นำโดย “สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ด นปช. หรือหัวหน้าทีมการ์ดเสื้อแดง ที่พยายามแสดงบทบาทนำในการชุมนุมกลุ่มราษฎรด้วยเช่นกัน แม้จะเคยประกาศไม่ร่วมเป็นการ์ดการชุมนุมของกลุ่มปลดแอกเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็ยังคงมาร่วมเป็นการ์ดในการชุมนุมกลุ่มราษฎร

4. ทีมราษฎรฝั่งธน เป็นกลุ่มการ์ดอาชีวะ

5. ทีมการ์ดเฉพาะกิจ เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ที่ปกป้องประชาชนแบบเฉพาะกิจ

6. ทีมการ์ดอากิระพลังมวลชน เกิดจากกลุ่มนักเพาะกาย และคนวัยทำงาน

7. กลุ่มองค์กรบอดี้การ์ด สเปเชียล ฟอร์ส โดยเป็มทีมจากนายพลาม พรมจำปา

8. ทีมพิราบขาว เพื่อปกป้องมวลชนให้ได้รับความปลอดภัย

9.กลุ่มการ์ดฟันเฟืองประชาธิปไตย เกิดจากกลุ่มพี่น้องอาชีวะร่วมกันปกป้องพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม

10. ทีมอาชีวะพิทักษ์ประชาชน

 

ด้วยการที่การ์ดมีจำนวนหลายกลุ่มย่อมมีผลต่อการ “ประสานงาน” ที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้น จึงเกิดปัญหาการทำงานของการ์ดเป็นไปในลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” เพราะไม่มีใครเป็น “ผู้บัญชาการหลัก” อย่างแท้จริง แต่ละทีมต่างเป็นเอกเทศต่อกัน โดยจุดเริ่มต้นปัญหาคือ

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่หน้ารัฐสภา 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่คุมกันไม่อยู่ จึงเกิดรอยร้าวระหว่างการ์ดขึ้น

นั่นคือการ์ดจากทีมฟันเฟืองประชาธิปไตยประกาศถอนตัวไม่ร่วมการชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

การที่การ์ดมาจากต่างที่ก็มีผลต่อ “ความไว้วางใจ” ต่อกันด้วย ทั้งนี้ มีรายงานว่าการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การ์ดวีโว่ก็ไม่ได้เข้าร่วมทำหน้าที่ แต่มาร่วมอีกครั้งเมื่อ 29 พฤศจิกายน ที่หน้า ร.11 ทม.รอ.

ล่าสุดเหตุการณ์หลังการชุมนุมที่หน้า ร.11 ทม.รอ. “โตโต้ ปิยรัฐ” ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า ตนได้เห็นคลิปคนที่อ้างว่าเป็น “หัวหน้าการ์ดอาชีวะ” คนหนึ่ง เดินมาต่อยหน้าทีมวีโว่เข้าอย่างจัง เพียงแค่เขา (คนโดนทำร้าย) เดินเข้าไประงับเหตุความวุ่นวายตามหน้าที่ และบอกให้คนที่กำลังโวยวายนั้นใจเย็นๆ ปรากฏว่านายคนนั้นกลับต่อยหน้าเขาอย่างจัง

โดย “โตโต้ ปิยรัฐ” ได้ให้ทีมที่โดนทำร้ายร่างกายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลและเข้าแจ้งความดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา

 

ทั้งนี้ “โตโต้” ชี้แจงเพิ่มว่า กลุ่มบุคคลที่ก่อเหตุได้รับการยืนยันจากแกนนำผู้จัดกิจกรรมแล้วว่าไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้รับผิดชอบเป็นการ์ดในงานวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเป็นเพียงกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่อาชีวะทั้งหมด และไม่ใช่กลุ่มอาชีวะฟันเฟืองปกป้องประชาธิปไตย

ต่อมา “โตโต้ ปิยรัฐ” ได้โพสต์ข้อความประกาศ 30 พฤศจิกายน ว่า ตนได้สั่งให้วีโว่ยุติการทำหน้าที่การ์ดให้กับการชุมนุมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากยังแก้ปัญหาการ์ดหัวรุนแรงไม่ได้ และเพื่อป้องกันความปลอดภัยจากการตกเป็นเป้าของกลุ่มคนไม่หวังดีหรือผู้ที่ประสงค์ใช้ความขัดแย้งของการ์ดมาเป็นเครื่องมือทำลายความชอบธรรมของม็อบ รวมทั้งประกาศไม่ร่วมชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว 2 ธันวาคมที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ “โตโต้” ได้ชี้แจงเพิ่มว่า จะมีเปลี่ยนจากการทำหน้าที่ “การ์ด” ไปสู่ “ภารกิจพิเศษ” ที่เราสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวของเราเอง นับจากวินาทีนี้ ตนจะพาครอบครัวใหญ่ที่ชื่อว่า “wevo” ยกระดับทั้งทางความคิด ประสิทธิภาพการทำงาน

และที่สำคัญยกระดับจิตใจให้พร้อมกับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงและล่อแหลม ในช่วงจังหวะที่ผู้มีอำนาจเหมือนว่าจะมีทีท่าว่ายอมหักไม่ยอมงอ จึงขอติดตามและให้กำลังใจกันต่อไป

 

สะท้อนว่าปัญหาภายในของระบบการ์ดได้เริ่มก่อตัวที่การชุมนุม “หน้ารัฐสภา” และมาฝีแตกที่การชุมนุมหน้า “ราบ 11”

แน่นอนว่า “ฝ่ายรัฐ” ก็จ้องหา “รูรั่ว-จุดอ่อน” ของขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อ “เจาะยาง” ให้ขบวนการอ่อนแอลง ซึ่งเปรียบเป็น “ดาบสองคม” ที่เป็นสิ่งที่มีจุดแข็งและจุดอ่อน

สำหรับการมีการ์ดที่มีมากกว่า 10 กลุ่ม อีกปัญหาคือ “ระบบโซตัส” ที่มีอยู่ในขบวนการการ์ด โดยเฉพาะปีกอาชีวะ รวมทั้งปัญหาเรื่องการ “จัดสรรทรัพยากร” ต่างๆ ที่ต้องทั่วถึงเท่าเทียม และกำลังเป็นที่ถกเถียงกัน

ทั้งนี้ “โตโต้” ได้โพสต์ระบุอีกว่า จุดอ่อนคือเมื่อใครก็ได้สามารถรวมกลุ่มกันขึ้นมาเป็นการ์ดให้กับผู้ชุมนุม ในแง่หนึ่งคือเรื่องดี แต่ในอีกแง่หนึ่งคือความอ่อนแอด้านความมั่นคงของขบวนการ ที่ง่ายต่อการแทรกซึมของผู้ไม่หวังดี ซึ่งผมก็เห็นเค้าลางนี้มาสักระยะ เพียงแต่ลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถจัดการปัญหาเชิงระบบได้ ดังที่ตนเคยโพสต์ไปเมื่อหลายวันก่อนว่า ถ้าเขาจะทำลายขบวนการการต่อสู้ เขาจะทำลายการ์ดเป็นกลุ่มแรกๆ

จากนั้น “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มราษฎร ได้เข้า “เทกโอเวอร์” ขบวนการการ์ดในการชุมนุม หลังโพสต์แจ้งต่อการ์ดกลุ่มต่างๆ ที่ดูแลความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรว่า “เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขบวนการต่อสู้กับเผด็จการ ขอให้การ์ดทุกกลุ่มส่งรายชื่อการ์ดของกลุ่มตัวเองเพื่อขึ้นทะเบียนการ์ดกับคณะทำงานกลาง โดยมีผมเป็นผู้รับผิดชอบ และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนในทุกการชุมนุม”

 

สําหรับกลุ่มการ์ดที่กำลังถูกโฟกัสคือกลุ่มของ “ครูพลาม พรมจำปา” หรือ “ดาบตำรวจพลาม” อดีตครูฝึกรบพิเศษ ตำรวจพลร่ม หลังนำทีมการ์ดเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในการชุมนุมที่หน้าเอสซีบี แยกรัชโยธิน เมื่อ 25 พฤศจิกายน ที่ส่วนใหญ่สมาชิกเป็นอดีตตำรวจ-ทหาร ได้มาเป็นการ์ดอาสา โดยมีจุดแข็งคือ “รู้วิชา” ที่ต้องนำมาใช้ในการดูแลพื้นที่ชุมนุม จึงทำให้ “ภาพการ์ด” มีความเป็น “การ์ดอาชีพ” มากขึ้น

สำหรับ “ครูพลาม” ปัจจุบันเปิดโรงเรียนสอนหลักสูตรป้องกันตัวเองด้วยมือเปล่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้วย “ครูพลาม” เป็น “อดีตตำรวจ” จึงทำให้แกนนำม็อบราษฎรยังคงมี “ระยะห่าง” กับการ์ดกลุ่มนี้

สิ่งเหล่านี้ “ฝ่ายความมั่นคง” ย่อมอ่านความเคลื่อนไหวออกทั้งหมด เพราะ “ยุทธวิธี” ที่กลุ่มการ์ดต่างๆ ใช้นั้น ในฝั่งฝ่ายความมั่นคงก็เรียนและถอดบทเรียนมาตั้งแต่ม็อบการเมืองในอดีต

ซึ่ง “โตโต้ ปิยรัฐ” ก็ทราบดีถึง “แผนเจาะยาง” กลับของฝ่ายความมั่นคงในการแทรกซึมเข้ามา

จึงทำให้ “ไมค์ ภาณุพงศ์” ต้องรีบเข้ามา “รีเซ็ตระบบการ์ด” ด้วยตัวเองทั้งหมด รวมทั้งต้องจับตาบทบาท “โตโต้” ต่อจากนี้ จะยกระดับ “วีโว่” ไปทิศทางใด

เพราะ “การ์ด” คือประตูด่านแรกของทุกม็อบ!!