เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / แซยิดให้ชีวิต

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

แซยิดให้ชีวิต

 

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ขอเขียนเรื่องใกล้ตัวสักหน่อย

ใกล้มากๆ เลยละครับ เพราะเป็นเรื่องของตัวผู้เขียนเอง

ในวันที่เขียนต้นฉบับนี้ เป็นวันแรกที่อายุใช้เลขหกนำหน้าอย่างเป็นทางการแล้ว หากมีการเลี้ยงฉลองสำหรับวันเกิดปีนี้ก็จะเป็นการเลี้ยงฉลองแซยิดตามความเชื่อของชาวจีน

แต่ก่อนแต่ไรเวลาเรามองคนวัยนี้ จะรู้สึกว่าแก่จังเลย ยิ่งข้าราชการด้วยแล้ว มีเรื่องเกษียณอายุราชการมาเป็นตัวตอกย้ำเข้าไปอีก ก็ยิ่งให้ความรู้สึกอาวุโสมากๆ

หากพอเหยียบย่างเข้ามายังดินแดนเลข 6 นี้จริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากไปกว่า แค่อายุที่เปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกยังคงเดิม

บางคนแนะนำว่า อย่าบอกใครว่าอายุ 60 แล้ว ใครถามก็บอก 50 กว่าๆ ไปเรื่อยๆ จะช่วยหลอกตัวเองว่า “ฉันยังไม่แก่” เป็นการช่วยเรื่องจิตใจให้กระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ

 

สําหรับตัวเองนั้น หากมองย้อนหลังไปในช่วงแต่ละ 10 ปีที่ผ่านมา ก็พอจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร

ช่วง 10 ปีแรก เป็นช่วงของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จริงๆ

ตั้งแต่อายุ 3 ขวบก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่จากจังหวัดศรีสะเกษมาเป็นเด็กกรุงเทพฯ โดยสมบูรณ์ เพราะพ่อต้องย้ายมาช่วยราชการที่กรุงเทพฯ จึงอพยพครอบครัวมาด้วย นั่นทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองกรุงตั้งแต่นั้นที่ต่างจากต่างจังหวัดอย่างมาก

รวมทั้งได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีนักเรียนเยอะแยะ

ได้เจอญาติพี่น้อง เจอคนแปลกหน้ามากมาย

และได้เปลี่ยนโรงเรียนอีกในเวลาต่อมา ซึ่งก็ได้เรียนรู้โลกใหม่ๆ ขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี ยังคงอยู่ในกรอบความคิดและการกระทำที่ผู้ใหญ่ชี้นำให้ หรือ “สั่ง” ให้ทำมากกว่าจะมีความคิดของตนเอง

 

ช่วง 10 ปีต่อมา คือช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย ที่เรียกว่าวัยทีนเอจ เป็นวัยแห่งความสับสน แห่งการลองผิดลองถูก คาบอยู่ระหว่างชั้นมัธยมกับมหาวิทยาลัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

ช่วงวัยทีนเอจนี้ จำได้ว่าตัวเองอยากเรียนรู้ไปหมด อยากรู้อยากเห็น อยากหาคำตอบแม้กับเรื่องที่ไกลตัวมากๆ อย่างจักรวาล และด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว จึงเกิดคำถามจากการอ่านขึ้นมากมาย

จำได้ว่าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการปกครองแบบสังคมนิยม ได้รู้จักคำว่าศักดินา ได้รู้จักคำว่าเสรีภาพ ได้รู้จักคำว่า “ความยุติธรรม” และ “อยุติธรรม”

แน่นอน ที่วัยใสๆ อย่างนั้น ผ่านโลกมาแค่นั้น ก็ย่อมตื่นเต้นไปกับความรู้ใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต และด้วยพลังของวัยทีนเอจ ก็รู้สึกอยากลุกขึ้นมาแสดงออกต่างๆ

แต่ด้วยวิถีชีวิตของสังคมสมัยก่อนไม่ได้เปิดกว้างมากเหมือนสมัยนี้ โลกของการสื่อสารยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงแสดงออกทางความคิดได้บ้างตามพื้นที่ที่พอจะอำนวย

เช่น ออกมาทางงานเขียนที่ส่งเข้าประกวด ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมชนบทกับในเมือง มีเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

หรือการเขียนการ์ตูนเสียดสีสังคมบนบอร์ดในห้องเรียน จนถูกอาจารย์เรียกไปคุยถึงที่มาของความคิด

จึงเมื่อเห็นการลุกขึ้นแสดงออกทางการเมืองของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ จึงเข้าใจได้ว่ามาจากอะไร

เข้าใจได้ในการลุกขึ้นแสดงออก แต่การกระทำบางเรื่องก็ไม่เข้าใจ หรือยากจะเข้าใจและยอมรับได้เหมือนกัน อันนี้เป็นคนละเรื่อง

 

ช่วงวัยต่อมาคือ 21-30 ปี เป็นช่วงของความท้าทายของการสู่วัย “คนทำงาน” อย่างเต็มตัว

อายุช่วงนี้จะคาบเกี่ยวกับวัยที่เรียนมหาวิทยาลัยในปีท้ายๆ กับการเริ่มต้นสู่ความเป็นจริงของชีวิตกับโลกของการทำงาน

ช่วงชีวิตที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ก็ท้าทายกับการเป็นเด็กโตที่ควรมีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบในการศึกษาประมาณหนึ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นคนทำงานเต็มรูปแบบ

และชีวิตของเด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ ของผู้เขียนก็มีเรื่องให้ท้าทายตลอดเวลา ทั้งท้าทายกับอิสรเสรีที่จะลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย หรือท้าทายกับการใช้ชีวิตที่โลดโผนมากขึ้น ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่ชวนกันทำแบบเฮไหนเฮนั่น

อาจจะด้วยที่ตัวเองหาเงินเรียนและใช้เองได้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย จึงให้ความรู้สึกว่าเราโตเต็มที่แล้วที่จะรับผิดชอบตัวเองเต็มๆ จึงกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง

และความท้าทายก็มีมากขึ้น เมื่อกระโดดสู่โลกของการทำงาน ที่เรียกร้องความรับผิดชอบ และการพิสูจน์ตัวเองว่าเรามีความสามารถเพียงใด เหมาะกับที่ทำงานแค่ไหน

งานที่ผมทำเป็นงานทีวี ที่มีเรื่องให้ได้เรียนรู้ใหม่ๆ เสมอ ให้เราได้เรียนผิดเรียนถูก จำได้ว่าเป็นช่วงที่สนุกกับการทำงานมากช่วงหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็มีงานหนังสือที่ตัวเองรักให้ได้สนุก และเรียนรู้โลกของวงการหนังสือมากขึ้นจากการเขียนเรื่องสั้น การรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก และการทำนิตยสารของตัวเองจนเจ๊งมากับมือก็เคยมาแล้ว

 

ช่วงวัย 31-40 ปี เป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจหลายเรื่องในชีวิต เพราะจากการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และค้นหาตัวเองในช่วง 10 ปีที่แล้ว ก็ถึงช่วงอายุที่ต้องลงหลักปักฐานให้ชัดเจน ทั้งเรื่องการทำงาน และเรื่อง “ครอบครัว”

ผู้เขียนอาจจะแต่งงานช้ากว่าเพื่อนๆ ร่วมรุ่น แต่เมื่อแต่งงานแล้วก็มีลูกทันที จึงทำให้ความเป็นครอบครัวมีความสมบูรณ์มากขึ้น และแน่นอนที่ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนจากเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นการคิดและทำเพื่อครอบครัว

จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วงวัยของการเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ที่มีภาระครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเต็มๆ

วัยนี้จะนิ่งขึ้น คิดรอบด้านมากขึ้น และเข้าใจชีวิตมากขึ้นกว่าช่วงอายุที่ผ่านมา

เรื่องเดียวกันกับที่เราเคยเสียใจมากๆ ในสมัยก่อน หากเป็นตอนวัยนี้เราก็จะไม่รู้สึกมากเท่า และมองแบบยอมรับ และเข้าใจจริงๆ

 

ช่วงวัย 41-50 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องสร้างผลงานในระดับสูงตามบทบาทหน้าที่ที่สูงขึ้น และเผอิญที่วงการโทรทัศน์และอุตสาหกรรมการสื่อสารและบันเทิงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้เหมือนเราต้องเรียนรู้และปรับตัวใหม่อยู่ตลอดเวลา

เป็นความท้าทายที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก บางครั้งก็มากเสียจนวิ่งตามทุกเรื่องไม่ไหว

โดยส่วนตัวรู้สึกว่าโลกใบเก่าได้ปิดตัวเองไปแล้ว โลกใบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงวิถีโดยสิ้นเชิงได้เริ่มต้นขึ้น ได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ได้เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย

ได้เห็นความคิดและการกระทำของมนุษย์ที่ผิดแผกจากวิถีเดิมๆ มากขึ้น

 

ช่วงวัย 51-60 ปี เป็นช่วงที่สุกงอมพอดีสำหรับหลายๆ สิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ทำมานานจนเหมือนกับจะอิ่มตัว ในขณะเดียวกันเราก็กระหายในการเรียนรู้โลกใหม่ๆ ที่แตกต่างและน่าสนใจเช่นกันมากขึ้น

เรื่องภาระครอบครัวก็สุกงอมไปด้วย จากความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องส่งเสียให้ความรู้กับลูก เพื่อเขาจะได้ใช้เป็นเครื่องมือดูแลตัวเองต่อไป ก็เป็นช่วงที่ปลดภาระได้พอดี

เรื่องความคิดของตน ก็สุกงอมกับประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนจริงๆ” และ “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างมีดีและร้าย มีขาวมีดำ”

นั่นจะทำให้เรามองคนรอบตัว มองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเท่าทัน และเข้าใจมากขึ้น

 

ในวันที่เหยียบย่างเข้าสู่เลข 6 จึงรู้สึกเหมือนเริ่มต้นใหม่ กับการก้าวสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ตามใจชอบ อยากรู้อะไรก็มีเวลาและโอกาสเข้าไปสัมผัสมากขึ้น มีความท้าทายมากมายรออยู่ข้างหน้า

ถ้าเป็นหนังสือก็มีอีกหลายเล่มที่รอให้เปิดอ่าน

มีสถานที่อีกหลายแห่งให้เราเดินทางไปสัมผัส

ตั้งใจว่าจะสนุกกับชีวิตอย่างมีความสุข และพอเพียงที่สุด ไม่รู้หรอกว่าจะสนุกไปได้อีกกี่ปี แต่ก็พร้อมจะทำแต่ละวันให้ดีที่สุด

อย่างน้อยก็ให้ช่วง 10 ปีต่อจากนี้ เป็น 10 ปีที่มีค่า ไม่เสียเปล่า ทั้งกับตัวเราเองและคนอื่น

เอาใจช่วยคนวัย 60 คนนี้ด้วยนะครับ