หลังเลนส์ในดงลึก/”มิตรภาพ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“มิตรภาพ”

 

ร่วม 10 ปีแล้ว ตอนที่ผมใช้ชีวิตอยู่บริเวณเทือกเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส เกือบ 4 ปี

ผมไปที่นั่นด้วยความตั้งใจจะตามหาสมเสร็จ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอยู่ในสถานภาพอันค่อนข้างลึกลับ ป่าดิบชื้นทางตอนใต้ของประเทศไทย คือแหล่งอาศัยของพวกมัน

แต่การเข้าร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) ทำให้ผมได้พบเจอสิ่งที่มากกว่านั้น

ผมเปลี่ยนหัวข้อการทำงาน เมื่อร่วมคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่ของโครงการ รวมทั้งชาวบ้านแห่งหมู่บ้านตาเปาะ ที่พยายามปกป้องนกเงือกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลูกนกเงือกจะโดนล้วงจากโพรงเพื่อนำไปขาย

อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ ทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเปลี่ยนวิถีคนที่ปีนขึ้นต้นไม้ ล้วงเอาลูกนก มาคอยเฝ้าดูนก ให้ได้มีโอกาสเติบโตและออกจากโพรงรัง มาอยู่ในป่าอย่างที่ควรจะเป็น

และได้ผล ลูกนกเงือกส่วนหนึ่งมีโอกาสออกมาโบยบิน

ป่าบริเวณเทือกเขาบูโด มีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 6 ชนิด หลายชนิดมีแหล่งอาศัยเฉพาะถิ่นนี้

นกเงือกหัวแรด ดูเหมือนจะเป็นเจ้าถิ่น เราพบพวกมันได้ง่ายกว่าตัวอื่นๆ

นกเงือกตัวนี้เอง เป็นที่มาของคำเรียก นกเงือก ในภาษาอังกฤษว่า “HORN BILL”

อันหมายถึง มีเขาที่ปาก ลักษณะหัวนกที่มีรูปร่างคล้ายเขา สีแดงส้ม โค้งงอน เหมือนนอแรด

ไม่มีใครปฏิเสธว่า นี่คือนกเงือกที่สวยและสง่างามมากตัวหนึ่ง

“เวลานกเงือกโดยเฉพาะนกเงือกหัวแรดบินมานี่ เสียงยังกะรถจักรไอน้ำ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้ตัวหรอก” อาแซ มาเสาะ ผู้เปรียบเสมือน “บาบอ” เป็นทั้งครูและเพื่อนของผมบอก

รออยู่ในซุ้มบังไพรเงียบๆ ช่วงที่พ่อนกนำอาหารมาให้ลูก เมีย ซึ่งรออยู่ในโพรง

ผมรู้สึกราวกับมีเครื่องบินปีกหมุนมาบินเหนือหัว

ไม่แค่เสียงบิน บางครั้งพ่อนกจะส่งเสียงร้องดังก้องไปทั่วภูเขา

มันเริ่มด้วยเสียง

“กก! กก! กก!” ไปเรื่อยๆ ว่าไปแล้ว สำเนียงก็ไม่ต่างจากนกกก หรือนกกาฮัง สักเท่าไหร่

เพียงแต่เจ้าหัวแรด เสียงออกจะก้องกังวานกว่า ลักษณะทั่วๆ ไปไม่ต่างจากนกกกนัก มีแค่ส่วนซึ่งโค้งขึ้นในบริเวณด้านหน้าของโหนกเท่านั้น ในสายตาของคน นกหัวแรดจึงสวยกว่านิดหน่อย

นกเงือกหัวแรดวัยรุ่นยังไม่โตเต็มวัย โหนกด้านหน้าจะยังไม่โค้งขึ้น ต้องรอจนโตเต็มวัยเสียก่อน

วิถีชีวิตนกเงือก ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่หรือความรัก เหมือนกันทุกตัว

เมื่อเสาะหาโพรงที่พอใจได้ ตัวเมียเข้าไปอยู่ข้างใน ปิดปากโพรง เหลือแค่ช่องเล็กๆ ออกไข่ เลี้ยงลูก

ตัวพ่ออยู่ข้างนอกทำหน้าที่หาอาหารมาให้

และมันจะทำหน้าที่นี้อย่างเคร่งครัด

แม่นกเงือกบางชนิด เมื่อลูกโตพอจะเปิดปากโพรงและออกมาพร้อมๆ กับลูก

ส่วนนกเงือกหัวแรด แม่จะเจาะปากโพรงออกมาก่อน ลูกอยู่ในโพรงอีกราวๆ 20 วัน

เหตุผลน่าจะเป็นลูกตัวโตขึ้น กินจุ พ่อหาอาหารมาให้ไม่ทัน แม่จึงออกมาช่วย

การเฝ้าดูนกเงือก ช่วงที่มันเลี้ยงดูลูก ตื่นตา ดูว่าเที่ยวนี้จะมีอะไรมาป้อน

เราต้องจดบันทึกอย่างละเอียด ส่วนใหญ่จะสลับกัน เช่น เป็นผลไม้สัก 2-3 เที่ยว ต่อจากนั้นก็เป็นสัตว์เลื้อยคลานบ้าง แมลงบ้าง หลายครั้งเป็นงู หรือกระรอก

กิ้งกือเป็นตัวที่พ่อนกคาบมาบ่อย เวลาป้อนกิ้งกือ พ่อนกมักกัดเป็นชิ้นๆ ค่อยๆ ป้อนให้ ไม่ได้ให้หมดทั้งตัวเลย

ม่านตาของนกเงือกหัวแรดตัวผู้เป็นสีแดง ของตัวเมียเป็นสีขาว เราแยกตัวได้ง่าย

นกเงือกหัวแรด ทำให้ผมได้เห็นถึงความละเอียดที่ “ผู้หญิง” มีมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเวลาเลี้ยงดูลูก

ขณะเข้าป้อน ตัวเมียเมื่อมาถึงปากโพรง จะหันมองซ้ายขวาก่อน ขยอกผลไม้ออกมา เอียงคอ มองลูกในโพรง ใช้เวลาป้อนนาน หลังอาหารหมดก็เกาะอยู่อย่างนั้นอีกพักใหญ่ ถึงจะผละไป

ตัวผู้จะรีบๆ ป้อน เสร็จแล้วผละไปเลย

บริเวณโพรงนกเงือกหัวแรด กับหมู่บ้าน อยู่ไม่ไกลกันนัก เสียงสวดจากมัสยิดดังไปถึง

ในวันศุกร์ เป็นวันหยุดทำงาน และตอนเที่ยงผู้ชายทุกคนจะไปมัสยิดเพื่อละหมาดร่วมกัน

อาแซ เดินลงจากเขา ไปร่วมละหมาด เสร็จแล้วก็กลับมาที่รังนก โดยใช้เวลาไม่นาน

นอกจากเสียงบทสวดจากมัสยิด อีกเสียงที่ผมได้ยินเสมอๆ คือ เสียงนกหว้า นกขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายนกยูง ที่มีถิ่นอาศัยที่นี่เช่นกัน

ผมอยู่บนภูเขาฟังเสียงเหล่านี้

ผ่านไปร่วม 4 ปี จากความตั้งใจตามหาสมเสร็จ

ผมได้รู้จักนกเงือก

พูดตามตรง อยู่ที่นั่น ผมรู้สึกคล้ายทำงานอยู่ต่างประเทศ ภาษาที่พวกเขาใช้คือเรื่องต้องเรียนรู้ อยู่ในหมู่บ้านต้องใช้ล่าม คือ อาแซ ผู้ชายชาวปัตตานีมามีครอบครัวที่นี่ ในหมู่บ้านตาเปาะ หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่เชิงเขาบูโด

คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ ปรับวิถีเพื่ออยู่ร่วมกับนกเงือกบนภูเขา

ผมเปลี่ยนความตั้งใจ จากสมเสร็จ มาเป็นการบันทึกเรื่องราวของนกเงือก และคนแถบภูเขาแห่งนี้

ไม่ใช่เรื่องราวระหว่างผมกับพี่น้องมุสลิมแห่งหมู่บ้านตาเปาะ

แต่เป็นเรื่องราวแห่งมิตรภาพระหว่างชาวบ้านตาเปาะ กับเหล่านกเงือกบนภูเขา

ถึงที่สุด ผมทำได้เพียงงานรวมเล่มบางๆ เล่มหนึ่ง ไม่ใช่หนังสือภาพอย่างความตั้งใจ

ผมจากหมู่บ้านตาเปาะมานานแล้ว

หากคิดจากความตั้งใจ พูดได้ว่าเป็นงานที่ผมล้มเหลว

แต่ดูเหมือนความล้มเหลวนี้จะเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเป็นไปของชีวิตแห่งเทือกเขาบูโด

ลูกนกยังมีคนปีนขึ้นไปล้วงออกจากโพรงเพื่อนำไปขาย เสียงปืน เสียงระเบิดยังดังเสมอๆ กระนั้นก็เถอะ มิตรภาพระหว่างคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่กับนกบนภูเขา คงดำเนินต่อไป

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด

สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้น

คือ “มิตรภาพ” ระหว่างคนด้วยกัน