วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (3)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุแห่งสามรัฐ เหตุจากราชสำนัก (ต่อ)

สําหรับนักประวัติศาสตร์จีนแล้วย่อมรู้ดีว่า เวลาที่จีนมีความสงบสุขมักเป็นยามที่จีนมีราชวงศ์ปกครองอย่างเป็นเอกภาพ และผู้ที่ใช้อำนาจสูงสุดก็คือจักรพรรดิ

ดังนั้น ถ้าจักรพรรดิอ่อนแอด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง โอกาสที่จะมีผู้อื่นเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิก็ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของคนเหล่านี้อาจเป็นไปในเชิงบวกหรือลบก็ได้

ถ้าเป็นบวกก็เป็นโชคดีของบ้านเมือง

แต่ถ้าเป็นลบก็แสดงว่าลางร้ายของบ้านเมืองเริ่มปรากฏ

และหากการใช้อำนาจนั้นยังไม่รู้สิ้นสุด บ้านเมืองก็จะแตกแยกในที่สุด

ถ้าเช่นนั้นแล้วใครคือผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิในขณะที่จักรพรรดิอ่อนแอ?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์จีนมีข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่า ผู้ที่ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิในยามที่จักรพรรดิอ่อนแอนั้นจะมีอยู่สี่กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรก พระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะมเหสีหรือญาติข้างฝ่ายมเหสี

กลุ่มต่อมา ขันที

กลุ่มที่สาม ตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยและเครือญาติ

และกลุ่มสุดท้าย บรรดาขุนศึกหรือแม่ทัพนายกองทั้งหลาย

การใช้อำนาจของกลุ่มใดจะโดดเด่นกว่ากลุ่มใดขึ้นอยู่กับแต่ละยุคสมัย

บางสมัยกลุ่มที่โดดเด่นมีเพียงกลุ่มเดียว บางสมัยก็มากกว่าหนึ่งกลุ่ม บางสมัยก็มีทั้งสี่กลุ่มรวมกันไป

ในกรณีที่มีมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือมีทั้งสี่กลุ่มนี้ก็ยังมีอีกด้วยว่ากลุ่มใดโดดเด่นกว่ากลุ่มใด และแข่งขันหรือห้ำหั่นกันอย่างไรเช่นกัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของกลุ่มบุคคลเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วล้วนไม่เป็นผลดีแก่บ้านเมืองทั้งสิ้น

 

กล่าวเฉพาะราชวงศ์ฮั่น การมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดินั้นได้เกิดขึ้นนับแต่แรกตั้งราชวงศ์แล้ว

โดยผู้ที่สถาปนาราชวงศ์ฮั่นคือ หลิวปัง (ก.ค.ศ.256 หรือ 247-195) โดยได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์มีพระนามว่า เกาจู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ฮั่นเกาจู่ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.206-195)

เมื่อก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้วผู้เป็นภรรยามาแต่เดิมที่มีนามว่า จื้อ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมเหสี

เมื่อก้าวขึ้นเป็นมเหสีแล้วจึงเรียกขานกันว่า มเหสีหลี่ว์หรือหลี่ว์ฮว๋างโฮ่ว (หลี่ว์ฮองเฮา)

และเมื่อฮั่นเกาจู่สวรรคต ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือ ฮั่นฮุ่ยตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.195-187) ดังนั้น มเหสีหลี่ว์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชชนนีหลี่ว์หรือหลี่ว์ไท่โฮ่ว (หลี่ว์ไทเฮา)

เนื่องจากฮั่นฮุ่ยตี้เป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ราชชนนีหลี่ว์จึงอาศัยโอกาสนี้เข้ามาใช้อำนาจแทนพระองค์ วิธีการก็เป็นไปโดยแต่งตั้งเครือญาติของพระนางให้มีตำแหน่งที่สำคัญ

และเมื่อฮั่นฮุ่ยตี้สวรรคตหลังจากครองราชย์ได้เพียงเจ็ดปี ราชชนนีหลี่ว์ก็ใช้อำนาจแต่งตั้งราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน เพื่อที่พระนางจะได้ใช้อำนาจอยู่เบื้องหลังต่อไปให้ยาวนานยิ่งขึ้น เช่นนี้แล้วการใช้อำนาจก็ยิ่งแผ่วงกว้างออกไปมากขึ้น

กล่าวกันว่า ราชชนนีหลี่ว์ทรงใช้อำนาจทารุณโหดร้ายกับบุคคลที่พระนางเห็นว่าเป็นศัตรู

จากเหตุนี้ เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ขุนนางที่เห็นภัยร้ายนี้จึงได้ร่วมมือกับราชสกุลหลิวสังหารบุคคลที่เป็นเครือญาติกับพระนาง ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามของราชวงศ์ให้หมดไป

จากนั้นก็พร้อมใจกันยกให้หลิวเหิงผู้เป็นหนึ่งในราชสกุลเป็นจักรพรรดิ ซึ่งก็คือจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ แต่นั้นมาราชวงศ์ฮั่นก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ และภายใต้การปกครองของจักรพรรดิองค์นี้บ้านเมืองจีนก็เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

 

อันที่จริงแล้วปรากฏการณ์การเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิดังกล่าวน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่ราชวงศ์เอง

แต่เอาเข้าจริงก็มิอาจต้านกิเลสในความเป็นมนุษย์ไปได้ เพราะเมื่อราชวงศ์นี้ได้ยืนยงลุล่วงมาถึงช่วงปลายฮั่นตะวันออก ประวัติศาสตร์ด้านมืดก็กลับมาซ้ำรอยดังเดิม นั่นก็คือเรื่องราวของเราในที่นี้

สาเหตุแห่งความแตกแยกในยุคสามรัฐก็เช่นกัน ที่เริ่มจากมีบางกลุ่มในสี่กลุ่มดังกล่าวข้างต้นได้เข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ จนทำให้บ้านเมืองจีนถูกแบ่งเป็นสามรัฐไปในที่สุด

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อเหตุได้เกิดขึ้นนั้นบ้านเมืองจีนยังไม่แตกแยกในทันที หากยังทอดเวลาไปอีกยาวนานความแตกแยกจะปะทุขึ้นนั้น

กรณีของยุคสามรัฐก็เป็นเช่นนั้น

 

ก่อนที่จะเกิดยุคสามรัฐนั้น ราชวงศ์ฮั่นที่ปกครองจีนอยู่นั้นถูกแบ่งเป็นสองช่วงด้วยกัน

ช่วงแรกคือฮั่นตะวันตก (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.25)

ช่วงที่สองคือฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) แรกเริ่มที่ราชวงศ์ฮั่นปกครองนั้นก็เป็นไปอย่างราบรื่น จนถึงช่วงที่ราชชนนีหลี่ว์ได้เข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิดังได้กล่าวไปแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนราชวงศ์แทบล่มสลาย แต่ก็สามารถกอบกู้ราชวงศ์ขึ้นมาได้ในที่สุด และเมื่อปกครองไปอีกนับร้อยปีราชวงศ์ก็ถูกยึดอำนาจโดยบุคคลนอกราชสกุลหลิวอีกนานนับสิบปี แต่ก็กอบกู้ราชวงศ์ขึ้นมาได้อีก

ตอนที่กอบกู้ขึ้นมาได้นี้เองที่ทำให้มีการนับราชวงศ์ที่ถูกกอบกู้ขึ้นมาใหม่ให้เป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แล้วจัดให้ช่วงก่อนหน้านี้เป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

และเหตุการณ์อันเป็นที่มาของยุคสามรัฐนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายของฮั่นตะวันออก

 

แรกเมื่อฮั่นตะวันออกปกครองนั้นบ้านเมืองก็เจริญไปด้วยดี แต่พอถึงช่วงปลายราชวงศ์ก็เกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อฮั่นตะวันออกได้จักรพรรดิที่อ่อนแอมาปกครอง

ความอ่อนแอยังคงมาจากสาเหตุเดิมๆ นั่นคือ หนึ่ง จักรพรรดิไม่ใส่ใจในราชกิจ ได้แต่อาศัยบุญเก่าที่จักรพรรดิก่อนหน้านี้ทิ้งเอาไว้ให้แล้วใช้เสพสุขไปวันๆ สอง มีจักรพรรดิที่ทรงวัยเยาว์ขึ้นมาปกครองแต่ในนาม

กล่าวเฉพาะเรื่องราวของเราในที่นี้แล้วแม้จะเกิดขึ้นในช่วงปลายฮั่นตะวันออกก็จริง แต่ก็กินเวลายาวนานนับร้อยปีกว่าบ้านเมืองจีนจะถูกแยกเป็นสามรัฐ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในหลายรัชกาลติดต่อกัน

กล่าวคือ เมื่อฮั่นตะวันออกปกครองมาจนถึงก่อนจักรพรรดิฮั่นเหอตี้ (ค.ศ.89-106) ราชวงศ์ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญาติวงศ์ฝ่ายราชชนนี้และมเหสีอีกครั้งหนึ่ง ฮั่นเหอตี้จึงทรงหาทางออกด้วยการอาศัยมือขันทีเข้ากำจัดอิทธิพลนี้ และฝ่ายขันทีก็สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างราบคาบ

จากผลงานนี้ทำให้ฮั่นเหอตี้ทรงมอบตำแหน่งขุนนางระดับสูงแก่ฝ่ายขันที ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายขันทีจึงก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนัก

หลังจากนั้นราชวงศ์ก็มีจักรพรรดิปกครองไปอีกสี่-ห้ารัชกาล ระหว่างนั้นปัญหาการเมืองในราชสำนักก็ไม่ต่างจากที่กล่าวมา คือเป็นการหมุนเวียนการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิระหว่างฝ่ายราชชนนีและมเหสีกับฝ่ายขันที

บางสมัยการใช้อำนาจทำนองนี้ก็เป็นไปด้วยดี คือไม่ถึงกับทำให้บ้านเมืองเสื่อมถอยและยังพอมีความรุ่งเรืองอยู่บ้าง แต่โดยมากแล้วมักทำให้เสื่อมถอยมากกว่ารุ่งเรือง

 

จนถึงสมัยฮั่นหวนตี้ (เหี้ยนเต้, ค.ศ.146-167) ในสมัยนี้ญาติวงศ์ฝ่ายราชชนนีกับมเหสีได้เข้ามามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง จนทำให้ฮั่นหวนตี้มีฐานะไม่ต่างกับจักรพรรดิหุ่นเชิด

ว่ากันว่า ขุนนางที่เป็นญาติวงศ์ข้างราชชนนีและมเหสีที่ก้าวขึ้นมามีตำแหน่งสูงๆ นั้น ถึงกับใช้อำนาจของตนโดยไม่เห็นฮั่นหวนตี้อยู่ในสายตา ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงสะสมความมั่งคั่ง และสร้างบ้านพักหรูหราที่มีอาณาเขตกว้างขวางจนถึงขั้นที่มีสวนป่าให้ล่าสัตว์ได้

เครื่องบรรณาการที่มีผู้นำมาถวายฮั่นหวนตี้ต้องถูกส่งให้ขุนนางกลุ่มนี้ได้เลือกก่อน เมื่อเลือกของมีค่าจนพอใจแล้วจึงส่งของที่เหลือให้แก่จักรพรรดิ เป็นต้น

ที่สำคัญ ฮั่นหวนตี้ไม่ทรงยอมที่ฐานะของพระองค์ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่แทนที่จะใช้วิธีร่วมมือกับขุนนางที่มีสติปัญญาและคุณธรรมไว้ใจได้ หรือใช้ความรู้ความสามารถกอบกู้ฐานะด้วยพระองค์เอง ฮั่นหวนตี้กลับทรงใช้เหล่าขันทีที่ใกล้ชิดพระองค์และเหล่าขันทีก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อร่วมมือกับขุนนางจำนวนหนึ่งเข้าจัดการกลุ่มขุนนางที่ทรงอิทธิพลกลุ่มดังกล่าว

วิธีการของเหล่าขันทีคือ จัดกำลังเข้าล้อมบ้านพักของขุนนางฝ่ายราชชนนีกับมเหสี พอเจ้าตัวรู้ว่าตนถูกล้อมปราบก็กระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมภรรยา ส่วนคนในตระกูลที่เหลือไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนรับใช้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ต่างถูกคณะรัฐประหารที่นำโดยเหล่าขันทีเข่นฆ่าจนหมดสิ้น

เช่นนี้แล้วฮั่นหวนตี้จึงปูนบำเหน็จความดีความชอบให้กับขันทีกลุ่มนี้โดยแต่งตั้งให้เป็นขุนนางระดับสูง