วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ฝ่าวิกฤต ธุรกิจสื่อสาร (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพีกับธุรกิจสื่อสาร
เผชิญแรงเสียดทาน
มากเป็นพิเศษ

จากจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างครึกโครมแห่งยุค และดูจะเป็นไปอย่างราบรื่น

“มีนาคม 2533 รัฐบาลได้เชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนในการขยายเลขหมายโทรศัพท์จำนวน 3 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ…นับเป็นการประมูลที่มีมูลค่าการลงทุนใหญ่ที่สุดในโลกโครงการหนึ่งในยุคนั้น” ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำผู้มีบทบาทโดยตรงและมีเครดิตอย่างมากในสังคมธุรกิจไทยเวลานั้นเล่าเอาไว้ (หนังสือ “ธนินท์ เจียรวนนท์ : ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”)

ผ่านไปแค่ 6 เดือน โครงการสัมปทานสื่อสารใหญ่ที่สุดมาถึงบทสรุป-คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ) มีมติอนุมัติให้กลุ่มซีพีได้รับการคัดเลือกร่วมลงทุนขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย (18 กันยายน 2533) เป็นไปตามแผนเดินหน้าสู่ธุรกิจใหม่ เข้าสู่กระแสคลื่นใหญ่อย่างเต็มตัว สามารถคว้าสัมปทานสื่อสาร (เรียกว่าเอกชนร่วมลงทุน หรือ BTO-Build-Transfer-Operate)

เกิดปัญหาและอุปสรรคครั้งแรกๆ มีภาวะสะดุดเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐประหาร (23 กุมภาพันธ์ 2534) ได้รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2 มีนาคม 2534 – 22 มีนาคม 2535) เปิดการเจรจาทบทวน ท่ามกลางกระแส “การผูกขาด”

โครงการใหญ่จึงได้ถูกลดทอนให้เหลือ 2.6 ล้านเลขหมาย เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2534 นั่นเอง ซีพีซึ่งร่วมทุนกับ Bell Atlantic แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน))

 

เรื่องราวจากวันนั้นจนถึงวันนี้มีมากมาย จากเทเลคอมเอเซีย กว่าจะมาเป็นกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจหลัก 1 ใน 3 ของเครือข่ายธุรกิจซีพี

“30 ปีที่ผ่านมา ซีพีต้อง “สู้” สารพัดอุปสรรคกว่าจะสร้างทรูมาได้ เราต้องอดทนต่อคำสบประมาท ต่อสู้กับความไม่เข้าใจของประชาชน การกดจากฝ่ายรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจ และอีกมากมาย” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวไว้เหมือนบทสรุป (อ้างจากบท “ทรู เราคือนักสู้” ในหนังสือ “ธนินท์ เจียรวนนท์ : ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เช่นเดียวกัน)

อุปสรรคใหญ่อย่างแท้จริงเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ดังที่กล่าวไว้ตอนที่แล้ว

“มีการประเมินกันว่า เครือซีพีมีหนี้สินราวๆ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะโครงการโทรศัพท์พื้นฐานในประเทศไทย (ในนามบริษัทเทเลคอมเอเซีย ต่อมาเปลี่ยนเป็นทรูคอร์เปอเรชั่น) มีมากถึงราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ”

คิดอย่างคร่าวๆ (อัตราแลกเปลี่ยนปี 2541 ประมาณ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) มีหนี้สินเป็นเงินบาทราว 50,000 ล้านบาท เฉพาะเทเลคอมเอเซีย หรือ TA มีหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งเครือซีพี ซึ่งมากกว่า 30,000 ล้านบาท พิจารณาจากข้อมูลงบการเงินปี 2539 มีอยู่ถึง 24,000 ล้านบาท (ในรายงานประจำปี 2539 เทเลคอมเอเซีย)

ในรายงานประจำปี 2540 บริษัทเทเลคอมเอเซีย (ขณะนั้น) ในฐานะบริษัทในตลาดหุ้น ภาพหนึ่งปรากฏชัด ภาระหนี้สินหนักหนาเอาการ ในช่วงก่อนหน้าวิกฤตการณ์ พิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงิน ที่เรียกว่าอัตราส่วนหนี้ต่อส่วนผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 0.53 ในปี 2537 เป็นถึง 11.6 ในปี 2540

“ผมนึกเสียดายที่ช่วงวิกฤตไม่เลือกขายเทเลคอมเอเซีย เวลานั้น…หุ้นอยู่ที่ 80 บาท ถ้าขายไปก็สามารถปลดหนี้ก้อนใหญ่ แถมยังเก็บโลตัสไว้ได้ด้วย แต่กลับไม่ยอมขายเพราะยังมีความหวังว่าเทคโนโลยีเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลที่ลงทุนไปจะทำให้เราเติบโต คาดไม่ถึงจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเคเบิลใยแก้วไม่มีค่าอีกต่อไป หุ้นเทเลคอมเอเซียราคาก็ดิ่งลงไปเหลือแค่ 2 บาท จากสูงสุด 100 กว่าบาท” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวขึ้นภายหลังความเป็นไปเป็นอย่างที่คาด หรือ after the fact

(หนังสือ “ธนินท์ เจียรวนนท์ : ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”)

 

ปัจจัยและความเป็นไปเวลานั้น เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอีกครั้ง

ธนินท์ เจียรวนนท์ ตัดสินใจอย่างมั่นคงกับธุรกิจสื่อสาร มีบางตอนซึ่งเน้นไว้ “มีความหวังว่าเทคโนโลยีเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลที่ลงทุนไปจะทำให้เราเติบโต” เชื่อว่าเป็นมุมมองส่วนหนึ่งในภาพใหญ่ ความเชื่อมั่นในธุรกิจสื่อสาร ภาพอย่างกว้างๆ นั้นสะท้อนให้เห็นทั่วไป ไม่เฉพาะสังคมธุรกิจไทย หากเป็นไปในระดับโลก ความเชื่อมั่นในวลานั้นมีมากกว่าธุรกิจค้าปลีกอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญ ธุรกิจสื่อสารเป็นธุรกิจใหม่ บรรดาทายาทคนสำคัญของธนินท์ เจียรวนนท์ ปักหลักอยู่ที่นี่ เป็นพื้นที่สำคัญที่เหลืออยู่

ในขณะที่เขากล่าวอย่างหนักแน่นเสมอมาว่า บรรดาทายาทจะไม่เข้าไปมีบทบาทในธุรกิจสำคัญดั้งเดิม โดยเฉพาะการเกษตรและอาหาร

บุตรทั้งสอง ทั้งสุภกิต และศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งขณะนี้เป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ตามลำดับ ล้วนมีบทบาทในธุรกิจสื่อสารตั้งแต่ต้น ในฐานะกรรมการบริษัทเทเลคอมเอเซีย ตั้งแต่ปี 2536

อย่างกรณีบุตรคนโต (สุภกิต) มีบทบาทบุกเบิกทรูวิชั่นส์ (ครั้งแรกชื่อยูทีวี) ถือว่าอยู่ในเครือเทเลคอมเอเซีย “มีนาคม 2538 แพร่ภาพบริการยูทีวี เคเบิลทีวีที่แท้จริงเป็นครั้งแรก ผ่านระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสง” (รายงานประจำปี 2539 เทเลคอมเอเซีย)

ส่วนศุภชัย เจียรวนนท์ มีบทบาทบริหารอย่างมากตั้งแต่ปี 2535 เริ่มต้นดูแลห้องปฏิบัติการตั้งแต่แรก (2536-2537) ดูแลด้านวางแผน และโครงการในยุคของการเริ่มต้นวางเครือข่าย (2537-2538) จากนั้นดูแลงานด้านปฏิบัติการ และพัฒนาธุรกิจในยุคที่เริ่มธุรกิจอย่างจริงจัง ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เขามีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านเขตปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ

“หนี้ของเทเลคอมเอเซียเป็นหนี้ระยะยาว ในภาวะวิกฤตแบบนี้ เจ้าหนี้ไม่ว่ารายไหนก็อยากได้ความมั่นใจ เขาจะได้เงินคืน… เจ้าหนี้ขอให้ผมเข้ามาเป็น CEO เต็มตัว สุดท้ายก็ต้องให้คุณศุภชัย เจียรวนนท์ มาเป็น CEO เขาจึงวางใจ”

ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงบทสรุปกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เทเลคอมเอเซีย (อ้างแล้ว)

 

เมื่อศุภชัย เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเทเลคอมเอเซีย (15 มีนาคม 2542) ในเวลานั้น ธนินท์ เจียรวนนท์ ตัดสินใจย้ายที่ทำงานอย่างเป็นทางการ จากอาคารซีพีทาวเวอร์ ริมถนนสีลม มาอยู่ที่อาคารเทเลคอมทาวเวอร์ รัชดาภิเษก

“ทางโน้นเข้ารูปเข้ารอย ผมมาทีเอเป็นบริษัทใหญ่ ผมต้องประชุมเกือบทุกวัน สร้างทีมใหม่ …โดยมาเรียนรู้ใหม่ เราร่วมกับ Bell Atlantic ต่อไป เรามี KfW เข้ามา ซึ่งเป็นแบงก์ที่ใหญ่กว่าแบงก์ชาติของเยอรมนี ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้” เขากล่าวในวงสนทนาครั้งหนึ่ง (ซึ่งผมอยู่ด้วย) ก่อนขึ้นปี 2543

Bell Atlantic แห่งสหรัฐอเมริกา คือหุ้นส่วนสำคัญของเทเลคอมเอเซีย ในช่วงนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น NYNEX (ปี 2540) และกำลังจะปรับโครงสร้างธุรกิจอีกครั้ง (เปลี่ยนชื่อเป็น Verizon Communication ในปี 2543) สะเทือนถึงเทเลคอมเอเซียในเวลาต่อมาด้วย ส่วน KfW ธนาคารแห่งเยอรมนี เจ้าหนี้รายใหญ่เทเลคอมเอเซีย เพิ่งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้เป็นหุ้น ว่ากันว่าในเวลานั้นถือหุ้นในเทเลคอมเอเซียมากกว่า 20%

ส่วนที่ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงอีกบางตอน (อ้างไว้ข้างต้น) “…คาดไม่ถึงจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเคเบิลใยแก้วไม่มีค่าอีกต่อไป…”” สะท้อนภาพที่ใหญ่กว่านั้น อุปสรรคสำคัญในธุรกิจสื่อสารกำลังรออยู่ข้างหน้า

นำมาซึ่งการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง