ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (76) ภัยแล้งอาละวาด “เมืองผู้ดี”

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม//ทวีศักดิ์ บุตรตัน [email protected]

ฝนปีนี้ดูเหมือนมาตรงฤดูกาล แต่แค่เริ่มต้นก็ตกเทกระจายหลายพื้นที่ชุ่มฉ่ำ น้ำโปรยปรายจากฟากฟ้าไม่ขาดสายอย่างนี้ชาวนาชาวไร่น่าจะยิ้มแป้น

กรมอุตุฯ ทำนายทายทักว่าตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายมิถุนายน ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณ 40-60% ของพื้นที่

ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรมอุตุฯ คาดมีฝนตกหนักมาก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง อีกทั้งในเดือนนี้อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นแถวๆ ทะเลอันดามัน และทวีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชั่นหรือพายุไซโคลนแล้วเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย

จากนั้นช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงเนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะอ่อนกำลังลง อาจมีฝนทิ้งช่วงและขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

ชาวนาชาวไร่คงต้องติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

 

ข้ามเวลาไปที่เกาะอังกฤษ ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรอังกฤษเผชิญกับความทุกข์เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงฤดูหนาวนานที่สุดในรอบ 20 ปี

ตามข่าวบอกว่า เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษต่อท่อส่งน้ำจากภาคเหนือมายังพื้นที่ภาคใต้ซึ่งขาดน้ำอย่างรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าฝนทิ้งช่วงเกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศของเกาะอังกฤษแปรปรวน

ภาคเหนือฝนตกหนัก แต่ภาคใต้แล้งจัด

แม่น้ำหลายแห่งในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองผู้ดี แห้งขอด อย่างแม่น้ำชิลเทิร์นส์ (Chilterns) ปริมาณน้ำหายไปครึ่งหนึ่งทั้งที่เดือนพฤษภาคมควรจะมีน้ำเต็มตลิ่ง

แม่น้ำเวียร์ก็เช่นเดียวกัน น้ำแห้งขอดยาวถึง 6 กิโลเมตร

เขตชิลเทิร์นส์ถือว่าเป็นแหล่งระบบนิเวศน์สมบูรณ์ มีทิวเขาทุ่งหญ้า ป่าไม้และลำธารสวยงาม เป็นที่รวมศูนย์ของนกสัตว์ป่าและต้นไม้นานาพันธุ์

ทุกกลางเดือนพฤษภาคม กลุ่มอนุรักษ์ชิลเทิร์นส์จัดกิจกรรมเดินป่า ปั่นจักรยาน ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษและนักท่องเที่ยวอย่างมาก

กลุ่มอนุรักษ์ชิลเทิร์นเครียดหนักทั้งเรื่องที่รัฐบาลอังกฤษมีโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงลอนดอนไปเมืองเบอร์มิ่งแฮมและเชื่อมต่อกับทางตอนเหนือ แถมยังมาเจอภาวะภัยแล้งกระหน่ำซ้ำอีก

กลุ่มอนุรักษ์ หวั่นวิตกว่าระบบนิเวศน์ของเขตชิลเทิร์นส์ได้รับผลกระทบ

ความแห้งแล้งที่ยาวนานในเขตภาคใต้ของอังกฤษทำให้บรรดาสวนผักผลไม้ในเขตเคนต์ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ชาวสวนแอปเปิ้ลบอกว่า ลูกแอปเปิ้ลเล็กลงกว่าเดิมเพราะแล้งน้ำ

เมื่อแอปเปิ้ลมีขนาดเล็กลง ราคาตก จะส่งไปขายแข่งกับแอปเปิ้ลประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้

เช่นเดียวกับเกษตรกรปลูกข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ประสบปัญหาขาดน้ำ ถ้าไม่มีฝนตกลงมาหรือยังไม่มีน้ำอย่างเพียงพอ ข้าวที่ปลูกเอาไว้จะมีผลผลิตลดลง 20 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย

เกษตรกรอังกฤษดิ้นสู้ เร่งระดมทุนขุดแหล่งน้ำสำรองและสูบน้ำไปยังไร่นาเพราะเป็นช่วงกำลังออกดอกออกผล

แหล่งน้ำมีขนาดความจุน้ำ 200 ล้านแกลลอนต้องใช้เงิน 8 แสนปอนด์หรือตกราวๆ 36 ล้านบาท

 

นั่นเป็นความทุกข์ของเกษตรกรอังกฤษจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

แต่เอามาเปรียบเทียบกับเกษตรกรบ้านเราคงไม่ได้เพราะชาวนาชาวไร่เมืองผู้ดีมีรายได้สูงกว่ามาก

กลับมาที่รายงาน “พืชสวนภายใต้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประจำปี 2560” จัดทำโดยราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษ

บทที่ 3 ของรายงานชิ้นนี้ พูดถึงสภาวะอากาศในอนาคตของเกาะอังกฤษ

ถ้านำแผนที่มากางดูจะเห็นว่าเกาะอังกฤษตั้งอยู่ริมขอบขวาของมหาสมุทรแอตแลนติก กระแสลมมีมาจาก 5 ทิศทาง

เหนือสุดของเกาะ เป็นกระแสลมเย็นจากขั้วโลกเหนือ

ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีกระแสลมเย็นในช่วงฤดูหนาวและกระแสลมร้อนจากทวีปยุโรป

ฝั่งตะวันออก กระแสลมร้อนและแห้งจากทวีปแอฟริกา

ฝั่งตะวันตก เป็นกระแสลมจากมหาสมุทรแอตแลนติก ค่อนข้างอบอุ่นและชื้น ตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นกระแสลมเย็นจากเกาะกรีนแลนด์

ดังนั้น สภาวะอากาศของเกาะอังกฤษจึงแปรปรวน อุณหภูมิก็แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอยู่ในพื้นที่ใด

บางแห่งมีแดดจ้า จู่ๆ ฝนโปรยลงมา กระแสลมแรง อากาศเย็นวูบ สักพักแดดจ้าอีกก็มี

ด้วยสภาพภูมิอากาศอันไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ เมื่อปี 2202 ชาวอังกฤษจึงคิดค้นเครื่องมือตรวจวัดอุณหภูมิแล้วนำไปติดตั้ง 3 จุด กรุงลอนดอน เมืองแลงคาเชียร์ และบริสตอล พร้อมกับเก็บบันทึกสถิติ

ข้อมูลบันทึกอย่างเป็นระบบมานานถึง 258 ปีจึงกลายเป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า อุณหภูมิของอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา

สาเหตุอุณหภูมิเพิ่มสูงเพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้น

จากสถิติพบว่าอังกฤษมีอากาศร้อนที่สุด 8 ใน 10 ครั้งอยู่ในช่วงปี 2545 เป็นต้นไป

ระหว่างปี 2549-2558 อุณหภูมิของอังกฤษ สูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2504-2533

เมื่อดูปริมาณฝนตกในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ และฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม สถิติปริมาณฝนตกในอังกฤษและแคว้นเวลส์มีมากและตกถี่ขึ้น

ส่วนสกอตแลนด์และตอนเหนือของเกาะอังกฤษปริมาณฝนตกมีนัยยะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2543

ปีที่ฝนตกหนักสุด 7 ใน 10 ปี เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531

ฤดูหนาวปี 2556/2557 ฝนตกหนักทำสถิติสูงสุด

 

ผู้เชี่ยวชาญของราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษคาดการณ์สภาวะอากาศในอนาคต เป็น 2 ห้วงเวลา

ห้วงเวลาแรก ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2583 อุณหภูมิในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ

จนถึงปลายศตวรรษที่ 20 ฝนตกในฤดูหนาว บริเวณอังกฤษและแคว้นเวลส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่พื้นที่สกอตแลนด์ปริมาณฝนตกหนักและเพิ่มความถี่ขึ้นตลอดหลายทศวรรษ

ส่วนห้วงเวลาที่สอง เป็นระยะปานกลางจนถึงระยะยาว (ระหว่างปี 2593-2643) อากาศในอังกฤษร้อนขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ของเกาะอังกฤษกว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อากาศร้อนอบอ้าวและมีคลื่นความถี่แผ่ซ่าน

วันที่อากาศร้อนจัดจะเพิ่มขึ้น 32 วันต่อปี

ส่วนฤดูหนาวจะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นราว 50 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำหลากน้ำท่วม

คำถามตอนท้ายของบทที่ 3 ถามว่า เมื่อแนวโน้มมีสภาวะอากาศแปรปรวน จะมีผลกระทบต่อสวนอังกฤษอย่างไรบ้าง?

มีคำตอบสั้นๆ 2 ข้อ

ข้อแรก สวนอังกฤษจะเผชิญกับภาวะน้ำท่วมขัง ดินถล่ม ดินชื้น ต้นไม้ล้มตายเพราะฝนตกหนัก อากาศที่ร้อนขึ้นในฤดูหนาวจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและศัตรูพืช ส่วนหน้าร้อน ดินแห้งแตกระแหง ระบบชลประทานจะมีบทบาทมากขึ้น

ข้อสอง ฤดูร้อนและอุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้ต้นไม้โตเร็ว แต่การจัดหาแหล่งน้ำใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำมากขึ้น