ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนที่แล้วที่เขียนถึงศิลปินไทยรุ่นใหม่มาแรงอย่าง กรกฤต อรุณานนท์ชัย
บังเอิญว่าเขาอ้างอิงถึงศิลปินร่วมสมัยผู้หนึ่งขึ้นมา แล้วศิลปินผู้นั้นก็เป็นศิลปินคนโปรดในดวงใจของผม เลยขอถือโอกาสเขียนถึงในตอนนี้เลยก็แล้วกัน
ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้นี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลกยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เขาผู้นี้มีชื่อว่า อ้าย เหว่ยเหว่ย (Ai Weiwei)
ศิลปินประติมากรรม, สื่อประสม, ศิลปะจัดวาง, สถาปัตยกรรม, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์ ผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก
เขายังเป็นนักวิจารณ์และเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้โดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในความเป็นประชาธิปไตย
และเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งที่ใช้แข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 (หรือที่เรียกกันในชื่อเล่นว่า สนามกีฬา “รังนก”) ร่วมกับสถาปนิกชื่อก้องโลกอย่าง Herzog & De Meuron
อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่ถูกทางการจีนหมายหัวมากที่สุดคนหนึ่ง
เขาเกิดในปี 1957 ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
พ่อแม่ของเขาทั้งคู่ต่างก็เป็นกวี พ่อของเขา อ้าย ชิง เป็นกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักจากบทกวีวิพาษ์วิจารณ์สังคมของเขา
แต่หลังจากนั้นไม่นานในยุคสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม พ่อของเขาก็ถูกลงโทษและเนรเทศไปเป็นกรรมกรยังค่ายกักกันจากอุดมการณ์ต่อต้านทุนนิยมขวาจัดของเหมา ซึ่งเหล่าศิลปิน นักคิด และปัญญาชนต่างก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า
เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อความคิดและทัศนคติของ อ้าย เหว่ยเหว่ย อย่างมาก
หลังจากจบการศึกษาจากสถาบันการภาพยนตร์ปักกิ่งไม่นาน เขาก็ย้ายไปศึกษาต่อ ณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในสถาบัน Parson School of Design
ในช่วงเวลา 12 ปีที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก เขาหลงใหลกวีอย่าง อัลเลน กินส์เบิร์ก และศิลปินอย่าง แจสเปอร์ จอห์น และ แอนดี้ วอร์ฮอล
แต่ศิลปินที่เขาคลั่งไคล้และส่งอิทธิพลต่อความคิดและการทำงานศิลปะของเขามากที่สุดนั้นคือ มาร์เซล ดูชองป์ นั่นเอง
เขาเริ่มทำผลงาน ready-made ตัวเองชิ้นแรกเมื่อปี 1983 ด้วยการนำวัสดุและข้าวของที่พบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่าง ไม้แขวนเสื้อ, เมล็ดทานตะวัน, รองเท้า, เสื้อกันฝน, ถุงยางอนามัย ฯลฯ มาตัด ปะติดปะต่อดัดแปลงให้เป็นผลงานศิลปะ
ซึ่งไปเตะตาภัณฑารักษ์และนักสะสมงานศิลปะในนิวยอร์กจนได้แสดงนิทรรศการและมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง
แต่หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน เขาก็เริ่มหันมาสนใจการเมืองจนร่วมเป็นหนึ่งในผู้รณรงค์ประท้วงต่อเหตุการณ์นี้ในอเมริกาด้วย
ประกอบกับอาการป่วยของพ่อ เขาจึงเดินทางกลับประเทศจีนในปี 1993
และเมื่อพบว่าสภาพสังคมและวัฒนธรรมของจีนที่มีข้อจำกัดของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางคำพูดและความคิดกลับมีพื้นที่ให้เขาได้วิพากษ์วิจารณ์และฝึกฝนตัวเองในฐานะศิลปินมากกว่า
เขาจึงตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่ออย่างถาวร
ซึ่งต่อมา เขาและเพื่อนๆ ศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงร่วมกันสร้างกิจกรรมและความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ส่งแรงขับเคลื่อนต่อทั้งวงการศิลปะและวัฒนธรรมจีนในยุคนั้นอย่างมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่แสดงงานศิลปะทางเลือก นิทรรศการศิลปะที่มีประเด็นร้อนแรงท้าทาย (นิทรรศการมีชื่อว่า “Fuck Off!”)
และนิตยสารอิสระใต้ดินที่มีเนื้อหาหลากหลายและล่อแหลมหมิ่นเหม่กฎหมายยิ่ง
หลังจากนั้นเขาได้สร้างสรรค์วิถีทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น ด้วยการใช้วัตถุโบราณอย่างแจกันโบราณทั้งในสมัยราชวงศ์ชิง, ฮั่น มาจุ่มสี หรือเขียนโลโก้ยอดนิยมของน้ำอัดลม (โคคา-โคล่า) ลงไป หรือแม้กระทั่งทุบทำลายและโยนลงพื้นจนแตกละเอียด!
รวมถึงนำเอาเฟอร์นิเจอร์โบราณอย่างโต๊ะ เก้าอี้สมัยหมิง หรือแม้แต่ชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมโบราณในสมัยราชวงศ์ต่างๆ ของจีนมาตัด ปะติดปะต่อให้กลายเป็นรูปเป็นร่างใหม่ขึ้นมา
(ซึ่งผลงานในช่วงนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ และการไล่ล่าลงโทษ ทรมานและประจานเหล่าปัญญาชน ศิลปินและนักคิดของกองทัพแดงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั่นเอง)
และทำเมล็ดทานตะวันขึ้นจากพอร์ซเลนโรยบนพื้นหอศิลป์ Tate ในลอนดอนเป็นจำนวนหลายล้านเมล็ด
รวมถึงทำผลงานศิลปะในเชิงสถานการณ์ อาทิ การนำเอาชาวจีนที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศจำนวนหนึ่งใน 1,001 คน ร่วมเดินทางไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะของเขาในมหกรรมศิลปะระดับโลกอย่าง Documenta 12 ที่ Kassel ในปี 2007 (ในชื่องานว่า Fairly Tale)