ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่ (9) เมื่อศิลปะถูกตั้งคำถาม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

08012228_1สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนแรงในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยและระดับนานาชาติ นั่นก็คือเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดงานนิทรรศการชุด “The Truth_ to Turn It Over” ขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

โดยมีผลงานของศิลปินจาก 5 ประเทศอย่าง เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ไทย และฟิลิปปินส์

นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 1980

หรือเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู

และความเจ็บปวดของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างยาวนาน ไม่เพียงแค่ในเกาหลีใต้ หากแต่ยังรวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชียอีกด้วย โดยศิลปินจากทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้รวมตัวกันแสดงออกซึ่งผลงานศิลปะที่จะเป็นเสมือนเครื่องรำลึกและย้ำเตือนไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

ผ่านจิตวิญญาณแห่งความเจ็บปวดและการต่อสู้ของชาวเมืองกวางจู จิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

 

เรื่องมันก็คงจะไม่มีอะไร ถ้าไม่ติดปัญหาตรงที่ผลงานชุดหนึ่งในนิทรรศการของศิลปินชาวไทยอย่าง สุธี คุณาวิชยานนท์ นั้นเป็นผลงานที่คัดเลือกมาจากผลงานศิลปะชุด Thai Uprising/มวลมหาประชาชน ของสุธี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมศิลปะ Art Lane ของกลุ่ม กปปส.

ซึ่งไม่เพียงเป็นกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น

หากแต่ยังมีการชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งอันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 อีกด้วย

ซึ่งเหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดการคำถามในแวดวงสังคมออนไลน์ของศิลปะร่วมสมัยอย่างมาก จนในที่สุดก็มีความเคลื่อนไหวจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยและการรวมตัวกันของบุคคลในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมในชื่อ “กลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (กวป.) ทำการส่งจดหมายเปิดผนึกไปถึงภัณฑารักษ์ของนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เพื่อตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกและเหตุผลที่เชิญสุธีเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้

รวมถึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางศิลปะและจุดยืนทางการเมืองของสุธี ซึ่งมีความขัดแย้งกับจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวกวางจูอันเป็นบริบทสำคัญของนิทรรศการ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://prachatai.org/journal/2016/05/65820)

โดยภายหลัง สุธี คุณาวิชยานนท์ ได้ออกจดหมายชี้แจงไปถึงภัณฑารักษ์ของนิทรรศการดังกล่าวใจความว่า กิจกรรมทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของตนไม่ได้ทำไปเพื่อเชิดชูทหาร

หากแต่เป็นการตอบโต้กับความฉ้อฉลของเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เขาและคนไทยหลายล้านคนใช้สิทธิทางประชาธิปไตยด้วยการประท้วงบนท้องถนน ต่อต้านการใช้อำนาจอันบิดเบือนอย่างน่ารังเกียจโดยรัฐบาลของเธอ

ความดื้อรั้นและขาดซึ่งสำนึกความรับผิดชอบต่อประชาธิปไตยของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำมาซึ่งทางตันและสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการรัฐประหาร

เขามีความเชื่ออย่างจริงใจว่า กิจกรรมและความเชื่อของตนมีความเที่ยงตรงเทียบเท่ากับความทะเยอทะยานของผู้คนที่เข้าร่วมในการประท้วงในเมืองกวางจู เมื่อปี 1980

และการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกที่ฝักใฝ่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบต่อการสร้างสถานการณ์ในรัฐทหารในปัจจุบัน

ในขณะที่ศิลปินชื่อดังอย่าง มานิต ศรีวานิชภูมิ และ วสันต์ สิทธิเขตต์ เองก็ออกจดหมายชี้แจงไปถึงภัณฑารักษ์ของนิทรรศการดังกล่าวเพื่อเป็นการสนับสนุนการแสดงผลงานของสุธีว่ามีความเหมาะสมและสะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยศิลปินไทยได้เป็นอย่างดี

การกล่าวหาผลงานชุดนี้ว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย” เพียงเพราะศิลปินเป็นพันธมิตรเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม กปปส. จนเป็นเหตุอันนำไปสู่การรัฐประหารนั้น นับเป็นข้อกล่าวหาอันตื้นเขิน ไร้เหตุผล ไม่อาจยอมรับได้

และเรียกร้องให้ภัณฑารักษ์มีสติและมีความอดทนต่อกระบวนการใส่ร้ายป้ายสี ทำลายเกียรติยศและชื่อเสียง ของสุธี ศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด

 

ต่อมา กลุ่ม กวป. ได้ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่สอง โดยมีใจความในการเรียกร้องให้หอศิลปเมืองกวางจูติดตั้งจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มคู่ไปกับผลงานของสุธี

และเรียกร้องให้ภัณฑารักษ์และกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์กล่าวขอโทษต่อความไม่เข้าใจในเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยจนนำไปสู่การเชิญสุธีเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้

รวมถึงเรียกร้องให้จัดพิมพ์จดหมายเปิดผนึก จดหมายโต้ตอบ ทั้งฝ่าย กวป. ฝ่ายสุธีและผู้สนับสนุน ตลอดจนจดหมายของภัณฑารักษ์รวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุ 518* เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เป็นผู้ตัดสินการกระทำในวันนี้ (เว้ากันซื่อๆ ผมเองก็ลงชื่อในจดหมายของ กวป. ทั้งสองฉบับนี้ด้วยแหละนะ)

ล่าสุด มีการเผยแพร่จดหมายซึ่งลงชื่อว่าเป็นของ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ หัวหน้าศิลปินกลุ่ม Art Lane และคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยระบุว่าจดหมายกลุ่ม กวป. มีเนื้อหาชี้นำและปลุกปั่นว่าสุธีเป็นศิลปินที่สนับสนุนเผด็จการทหารให้ออกมายึดอำนาจ และพยายามกดดันให้ภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีถอดงานออกจากการแสดง

และยืนยันว่าประวัติการทำงานของสุธีนั้น ไม่มีแนวทางและแนวความคิดในการสนับสนุนเผด็จการทหารแต่อย่างใด

รวมทั้งในประวัติการแสดงงานศิลปะของเขาก็ไม่เคยมีความบกพร่อง และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเป็นจำนวนมากในหลากหลายสาขาอาชีพ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://prachatai.org/journal/2016/05/65947)

 

และจากปากคำของ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนผู้ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองกวางจู ได้กล่าวว่า ทางด้านภัณฑารักษ์ของนิทรรศการอย่าง ลิม จง ยอง เขายอมรับว่าไม่ได้หาข้อมูลมากพอ เขาไม่ได้ทราบบริบทเบื้องหลังการประท้วงในปี 2556 ของประเทศไทย

เขามองว่ามันเป็นงานศิลปะแบบที่เคยปรากฏในช่วงที่มีการต่อสู้ของชาวกวางจูในช่วงที่มีการต่อต้านเผด็จการทหารในปี 1980 ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าไม่ทำการบ้านมากพอในจุดนี้ ข้อมูลจาก http://shows.voicetv.co.th/inherview/365505.html

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ นอกจากในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของบ้านเราแล้ว ยังมีข้อมูลว่า มีคนเกาหลีใต้บางกลุ่มที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยและเอเชียอาคเนย์ ออกมาแสดงความกังวลและตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสุธีและการคัดเลือกผลงานของภัณฑารักษ์ว่ามีความขัดแย้งกับเนื้อหาของนิทรรศการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู ผ่านทางสื่อออนไลน์อีกด้วย

อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่เว็บไซต์ http://goo.gl/QAuZ8r (ป.ล. ต้นฉบับเป็นภาษาเกาหลี กรุณาใช้เครื่องมือแปลภาษาแปลอ่านกันได้ตามสะดวกนะขอรับท่านผู้อ่าน)

 

ล่าสุด วันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ที่ศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys บุกเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เกาหลีใต้ และก่อปฏิบัติการศิลปะฉับพลัน (Happening) ด้วยการยืนสวมหน้ากากกอริลลาถือป้ายหน้าผลงานศิลปะของสุธี

โดยในป้ายเขียนข้อความว่า “ผลงานชิ้นนี้ยังคงรอเผด็จการทหารสรรค์สร้างประชาธิปไตยให้พวกเขาอยู่” ลงชื่อ Guerrilllaboys

โดยถ่ายภาพโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก Guerrilllaboys ของพวกเขา

และระบุว่าปฏิบัติการศิลปะครั้งนี้เกิดขึ้นจากจดหมายเปิดผนึกที่ ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยัง ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการเพื่อสอบถามเหตุผลในการคัดเลือกผลงานของสุธีมาร่วมแสดง

“อนึ่ง กลุ่ม Guerrilla Boys ได้แรงบันดาลใจมาจาก Guerrilla Girls กลุ่มศิลปินเฟมินิสต์นิรนามที่ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์กปี 1985 ที่มีเป้าหมายในการต่อสู้กับการเหยียดเพศและชาติพันธุ์และมุ่งสร้างความเท่าเทียมทางเพศและกำจัดความเหลื่อมล้ำในวงการศิลปะโลกด้วยปฏิบัติการทางศิลปะแบบกองโจร โดยมีสัญลักษณ์อยู่ที่การสวมหน้ากากกอริลลาเพื่อแสดงความไร้ตัวตนของสมาชิกและเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า “Guerrilla” (การรบแบบกองโจร) ซึ่งเป็นชื่อและลักษณะการทำงานของกลุ่ม”

 

ท้ายที่สุดไม่ว่าเรื่องนี้จะมีข้อสรุปแบบใด ใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ใครจะเป็นนักฝักใฝ่เผด็จการ หรือใครจะเป็นพวกนิยมการใส่ร้ายป้ายสี พี่ภัณฑารักษ์เขาจะถอดหรือไม่ถอด (หมายถึงงานศิลปะนะ อย่าคิดลึก!) มันก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องเอาชนะคะคานหรือคาดคั้นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้งานศิลปะไม่ได้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสาธารณชน และศิลปินก็ไม่ใช่ผู้วิเศษที่สูงส่งจนชาวบ้านชาวช่องแตะไม่ได้

การมีอยู่ของศิลปะและสถานะของศิลปินควรถูกตรวจสอบและตั้งคำถามได้

นั่นคือหัวใจสำคัญของงานศิลปะเพื่อประชาธิปไตยอย่างที่หลายคนชอบกล่าวอ้างกันนั่นแล

 


*หอจดหมายเหตุ 518 เป็นหน่วยงานที่รวบรวมเอาเรื่องราว เอกสารและบันทึกจากกรณีสังหารประชาชนที่เมืองกวางจูทุกประเภทเก็บเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกสังหารในการประท้วงที่เมืองกวางจู และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับรากฐานของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง ชื่อของมันได้มาจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม (เดือน 5) วันที่ 18 นั้นเอง ข้อมูลจาก http://goo.gl/JJ5Mda