E-DUANG : ลักษณะ “อนิจจัง” แห่ง “รัฐธรรมนูญ”

 

ความโน้มเอียงประการหนึ่งของบรรดา “นักรัฐธรรมนูญนิยม” คือ ความ โน้มเอียงที่จะมองอย่าง “สัมบูรณ์”

“ตายตัว” ไปตาม “บัญญัติ”

ไม่ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการยกร่าง

ไม่ว่า “นักวิชาการ” อย่าง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ไม่ว่า “นักการเมือง” อย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ นายถาวร เสนเนียม

นั่นก็คือ มอง “รัฐธรรมนูญ” อย่าง “สถิต”

เมื่อประกาศและบังคับใช้แล้วทุกอย่างล้วน “ดำเนิน” ไปตามนั้นไม่มีผิดพลาด คลาดเคลื่อน

เท่ากับมองข้ามกฎแห่งโลกว่าด้วย “อนิจจัง”

เพราะมองเห็นแต่ด้าน “สัมบูรณ์” จึงมองข้ามลักษณะ “สัมพัทธ์” ไป

 

ขอให้ศึกษาบทบาทและความเป็นจริงจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521” เป็นตัวอย่าง

เป้าหมายของการร่างคืออะไร

คำตอบเฉพาะหน้าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ก็คือ ต้องการรักษาและสืบทอดอำนาจของ “ทหาร”

ทหารในที่นี้ คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เพราะฐานคะแนนเสียงอย่างสำคัญ คือ ฐานจาก “วุฒิสภา” อันเป็นสภา “ลากตั้ง”

หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522 อาจเป็นไปเช่นนั้น

เพราะแม้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ได้ลงเลือกตั้ง ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อยู่ยั้งยืนยงหรือไม่

 

แค่เพียงปลายปี 2523 ก็สะท้อนให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มไม่มั่นคง

ไม่ใช่จาก “พรรคการเมือง”

หากแต่มาจาก สมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็น”ทหาร”อัน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งมากับมือ

อย่าง พ.อ.มนูญ รูปขจร อย่าง พ.อ.จำลอง ศรีเมือง

คนเหล่านี้ต่างหากที่ร่วมกับพรรคการเมือง “กดดัน” ต่อรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กระทั่งต้องลาออกจากตำแหน่งกลางรัฐสภา

นี่คือลักษณะ”สัมพัทธ์”อันแสดงออกภายใต้ลักษณะ “สัมบูรณ์”

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เป็นเช่นนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็มีโอกาสเป็นเช่นนี้