กรองกระแส / บทบาทราษฎร ในการกำหนด ‘เกม’ การเมือง กำหนดวาระสังคม

กรองกระแส

 

บทบาทราษฎร

ในการกำหนด ‘เกม’ การเมือง

กำหนดวาระสังคม

 

การประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าสำนักพระราชวังโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติว่ามี 1.5 หมื่น

มิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

แม้ในห้วงก่อนการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และบริเวณท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน จะเคยคาดไว้ที่ 50,000

โดยยึดกุมฐานการชุมนุมอย่างน้อย 2 ครั้ง

นั่นก็คือ 1 การชุมนุม ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม และ 1 การชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของเยาวชน/ประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

บทสรุปที่ว่า การชุมนุมฝ่อลง ฝ่อลง จึงเป็นด้านหลักของการคำนวณ

พื้นฐานที่ยึดกุมคือ สถานการณ์ ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 24 กันยายน อันนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในวันที่ 15 ตุลาคม อันนำไปสู่การพยายามสลายการชุมนุม

ผลก็คือ แทนที่จะฝ่อลง กลับยิ่งเติบใหญ่ ขยายตัว

 

จากตุลาคม 2516

มาสู่ตุลาคม 2563

ไม่ว่าการเสนอจำนวนผู้ชุมนุมในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าการเสนอจำนวนผู้ชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563 โดยพื้นฐานแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นั่นก็คือ กดจำนวนเอาไว้ให้ดูเหมือนไม่มีอะไร

จากพื้นฐานเช่นนี้เองนำไปสู่การตัดสินใจทางการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2535

การเสนอจำนวนผู้ชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563 ก็ไม่แตกต่างกัน

เพราะความเชื่อว่าการชุมนุมแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับในขอบเขตทั่วประเทศจึงนำไปสู่การตัดสินใจที่แหลมคมทางการเมือง

นั่นก็คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในวันที่ 15 ตุลาคม

นั่นก็คือ การตัดสินใจสลายการชุมนุมในเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม และการตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในตอนค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม

แล้วผลจากการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นอย่างไร

 

สถานทูตเยอรมนี

สารจากราษฎร

การตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง การตัดสินใจส่งกำลังพร้อมยุทโธปกรณ์ครบมือเข้าสลายการชุมนุมโดยเฉพาะที่ปทุมวันเมื่อตอนค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม

ก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา” โต้กลับอย่างรุนแรง ล้ำลึก

การชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นห้าแยกลาดพร้าว ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นแยกเกษตร บางเขน

ในที่สุด นำไปสู่การเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล

ในที่สุด นำไปสู่การเคลื่อนขบวนจากสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ในที่สุด นำไปสู่การเคลื่อนขบวนการจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าสำนักพระราชวัง

ไม่ว่าจะมองในด้าน “รูปแบบ” ไม่ว่าจะมองในด้าน “เนื้อหา” ล้วนมีพัฒนาการ

จะสรุปว่าในด้านรูปแบบเป็นอย่างไรขอให้ดูความต่อเนื่อง ขอให้ดูจากการยืนระยะ จะสรุปว่าในด้านเนื้อหาเป็นอย่างไรขอให้ดูวาระและประเด็นในทางสังคม

เด่นชัดว่าใครเป็นกำหนด “วาระแห่งชาติ” กำหนดประเด็นทางการเมือง

 

จาก นายกรัฐมนตรี

ถึง ปมรัฐธรรมนูญ

ถามว่า ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เคยให้ความสนใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่เคยสนใจ

ทุกอย่างดำเนินไปตามบทสรุป “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ทุกอย่างล้วนสนองให้กับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แล้วเหตุใด ณ วันนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นประเด็น “ร้อน”

คำถามหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ ทำไมแสงแห่งสปอตไลต์จึงฉายจับไปยังการดำรงอยู่หรือการจะต้องจากไปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุดเริ่มต้นมาจากเสียงตะโกน “ออกไป ออกไป” ที่ดังกึกก้อง มิใช่หรือ

ปมเงื่อนที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด การเดินสายของนายชวน หลีกภัย เพื่อขอรับฟังความเห็นจากบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีล้วนแวดล้อมอยู่กับปัญหานี้อย่างแหลมคมยิ่ง

นี่คือประเด็นทางสังคม นี่คือวาระแห่งชาติที่จะต้องร่วมกันแก้ปัญหา

 

ใครกำหนดวาระ

คนนั้นกำหนดเกม

การมองบทบาทและการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในด้านลบเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ “เยาวชนปลดแอก” ปรากฏตัวในเดือนกรกฎาคม มาแล้ว

เห็นได้จากคำว่า ม็อบมุ้งมิ้ง ม็อบฟันน้ำนม ม็อบวูบวาบ

พัฒนาการอย่างเด่นชัดจาก “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม กระทั่งยกระดับเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม มีความเด่นชัด

เด่นชัดในการเติบใหญ่ ขยายตัว อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

เด่นชัดว่าข้อเสนอของเยาวชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ว่าจะในเรื่องรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้กระทั่งในเรื่องการปฏิรูปสถาบันได้กลายเป็น “วาระ” ในทางการเมือง

   ความหมายนี้หมายความว่า ใครกันแน่ที่กำหนดเกม ใครกันแน่ที่กำหนดวาระ