คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมอวย และระบบสมณศักดิ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีเพจทางพุทธศาสนามหายานเพจหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ทางฝ่ายมหายานโดยเฉพาะในไต้หวันหรือในเมืองจีนได้มีการปรับบทสวดมนต์ทำวัตรประจำวันที่มีมาแต่โบราณ

โดยเฉพาะบทสรรเสริญบูชาธูป “ศีลสมาธิคือเครื่องหอมที่จริงแท้” โดยมีการเปลี่ยนท่อนหนึ่งที่เป็นการอวยพรแด่ “กษัตริย์” ตั้งแต่อดีต มาเป็นอวยพรแด่ “ปวงประชาราษฎร์” จากอดีตถึงปัจจุบัน

มีผู้มาให้ความเห็นว่า ก็เพราะประเทศเหล่านั้นต่างก็ไม่มีกษัตริย์แล้ว การปรับเปลี่ยนก็เป็นไปตามเงื่อนไขของสังคม ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน (แต่กระนั้นคณะสงฆ์จีนนิกายในไทยยังใช้แบบเดิมอยู่)

ทั้งนี้ ท่านเจ้าของเพจเขียนอธิบายโพส9Nทำนองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามปณิธานแห่งความเป็นมหายาน

กล่าวคือ ไม่ควรมีใครได้รับอภิสิทธิ์จากการอวยพรของคณะสงฆ์อีกต่อไป โดยเฉพาะในบทสวดสำคัญก็ ควรแสดงปณิธานแห่งมหายานให้ชัด จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น

 

จากเรื่องนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ในบ้านเรานั้นมีบทสวดแผ่เมตตาแบบยาว ซึ่งมีการแผ่กุศลไปยังผู้คนต่างๆ ทั้งสูรย์จันทร์และพระราชา (สุริโยจันทิมาราชา) แต่การแผ่เมตตาแบบบ้านเราดูเหมือนจะต่างจากฝ่ายมหายานอยู่ตรงที่ฝ่ายมหายานนั้น เวลาแผ่กุศลมักจะแผ่โดยถ้วนทั่ว แต่หากจะจำแนกก็มักจำแนกกว้างๆ เช่น สัตว์ในภพภูมิต่างๆ มากกว่าแบ่งโดยสถานะบุคคล

บทแผ่เมตตาที่นิยมของเรามักกล่าวถึงคนใกล้ชิดอย่างพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง เรื่อยไปจนถึงคนสูงกว่าอย่างเทวดาและพระราชาแล้วเอาสัตว์ทั้งหลายมัดรวมไว้ท้ายๆ หรือบางครั้งก็ไม่มีเพราะจงใจให้เฉพาะญาติพี่น้องโดยเฉพาะ (อิทังเม ญาตินังโหตุ สุขิตาโหตุ…)

ผมคิดว่านี่คงไม่ใช่วัฒนธรรมเก่าแก่ของพุทธศาสนา อย่างน้อยก็ในช่วงพุทธกาล แต่คงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอวยผู้มีอำนาจซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง เพราะคณะสงฆ์ก็ต้องการการอุปถัมภ์ดูแลจากรัฐหรือพระราชาจึงได้สร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้น

อย่างน้อยก็ปรากฏในบทสวดมนตร์อย่างที่เราเห็น

 

วัฒนธรรมแบบเดียวกันนี้ ทำให้ผมนึกถึงเวลาที่หนังตะลุงมโนราห์จะเล่นก็ต้องไหว้ครู แล้วก็พ่วงคำไหว้แสดงความนอบน้อมคนมีอำนาจในท้องถิ่นนั้นๆ เรื่อยไปจนถึงพระราชา หรือในวัฒนธรรมไหว้ครูของดนตรีนาฏศิลป์ ก็มักเอ่ยอ้างถึง “ราชคุณัง” คุณของพระราชาให้ปกเกล้าเกศี นอกเหนือจากคุณบิดามารดาครูอาจารย์

“คุณัง” ทั้งหลายเหล่านี้มีจริงหรือไม่คงต้องเถียงกันต่อ แต่อย่างน้อยวัฒนธรรมการอวยดูเหมือนน่าจะจำเป็นในโลกโบราณ เพราะไม่ว่าจะคณะสงฆ์ หนังตะลุงมโนราห์หรือโขนละคร ต่างdHต้องการ “การคุ้มครอง” จากผู้มีอำนาจทั้งนั้น โดยเฉพาะพระราชาซึ่งดูเหมือนมีอำนาจสูงสุด ที่อาจดล “ราชภัย” ให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ในโลกสมัยใหม่ที่มีกฎหมายที่ชัดเจน ในการกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คน การที่รูปแบบเช่นนี้ยังดำรงอยู่ในบ้านเราคงแสดงให้เราเห็นถึงอำนาจทางวัฒนธรรมบางอย่างที่มีอยู่เหนือกฎหมาย

ผมพูดเรื่องนิติรัฐหรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรงในบ้านนี้เมืองนี้ ก็เหมือนคนบ้าพูดเรื่องหนวดเต่าเขากระต่ายที่เป็นแค่จินตนาการ ไม่มีจริง

บางคนอาจมองว่าผมคิดมากไป ที่จริงการนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ย่อมจะเป็นที่รักใคร่เอ็นดู จะมาตั้งแง่ทำไม ก็ใช่อยู่ครับ แต่ผมคิดว่า บางครั้งเราลืมไปว่าเรามักทำสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ แล้วดันใช้เป็นตัววัดคุณค่าที่ไว้ชี้นิ้วตัดสินคนอื่นว่าเลวชั่วต่างกับเรา เพียงเพราะเขาไม่ได้นอบน้อมสิ่งที่เรานอบน้อมกราบไหว้

บางครั้งถึงขนาดมีคนอยากจะใช้ความรุนแรงกับคนที่ไม่นอบน้อมกราบไหว้สิ่งเดียวกับตน ผมคิดว่านี่คือความวิปริตป่วยไข้ของคนที่ยึดมั่นถือมั่นความดี ซึ่งเป็นอันตรายต่อตนเองและคนอื่น

 

ที่จริงวัฒนธรรมอวยที่ปรากฏในทางศาสนาของบ้านเรายังมีอีกหลายอย่าง เช่น ระบบสมณศักดิ์และระบบการปกครองที่เลียนแบบพวกฆราวาส ต้องบอกว่า พระพุทธะท่านคิดระบบการปกครองโดยพระธรรมวินัยเอาไว้แล้วเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ครู-ศิษย์ที่ว่ากล่าวดูแลกันไปอย่างหลวมๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

แม้ปราชญ์อย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จะเคยบอกว่า การมีสมณศักดิ์เป็นเรื่องที่พระราชาได้ยกย่องพระดีให้เป็นที่ประจักษ์ แต่นั่นมันเรื่องของอดีตครับ เพราะทุกวันนี้เราก็รู้กันว่าพระหลายรูปไต่เต้าจะมีสมณศักดิ์สูงเหมือนกับระบบราชการทั่วๆ ไป ไม่ใช่การยกย่องพิเศษอะไร

ดังนั้น ปัจจุบันสมณศักดิ์คือเรื่องยศถาฯ แบบเดียวกับขุนนางโบราณ (ที่ฝ่ายฆราวาสไม่มีแล้ว) พ่วงไปกับอำนาจการปกครองและเงินประจำตำแหน่ง (นิตยภัต)

หากไปดูพระธรรมวินัย พระไม่ควรรับยศศักดิ์ แม้คนทำราชการหรือเป็นข้าพระราชาท่านก็ไม่ให้บวช (ถ้าหนีราชการมา) ดังคำถามอันตรายิกธรรมว่า นสิ๊ ราชภโต (เป็นข้าราชการหรือไม่) ในเมื่อทำราชการอยู่ก็ยังบวชไม่ได้ จะกล่าวไปไยถึงการบวชแต่รับราชการไปด้วย ย่อมขัดกับพุทธเจตนารมณ์แน่นอน

การรับสมณศักดิ์โดยมีเงินเดือนและยังมีตำแหน่งปกครองในคณะสงฆ์ด้วย ก็อาจถือว่านี่คือการรับใช้พระราชาหรือรัฐ คือเป็นข้าราชการแบบหนึ่งนั่นเอง ควรถือว่าวัฒนธรรมนี้ทำให้พระละเมิดพระธรรมวินัยและพุทธเจตนารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่พระควรยึดถือสูงสุด

 

มีผู้เถียงว่าแม้ในฝ่ายมหายานเองก็มีเรื่องสมณศักดิ์ แต่ในปัจจุบันมหายานส่วนใหญ่ยกเลิกระบบสมณศักดิ์จากฝ่ายบ้านเมืองไปแล้ว จะมีก็แต่ตำแหน่งปกครองภายในสายการปฏิบัติหรือในนิกายของตน ซึ่งตั้งกันเองไม่เกี่ยวกับรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาIของชุมชนหรือหมู่คณะ

นอกจากนี้ ระบบสมณศักดิ์ทำให้เกิดวัฒนธรรมอวยในอวยอีกที ผมเคยมีประสบการณ์ด้วยตนเอง คราหนึ่งผมเคยไปช่วยงานพุทธาภิเษกที่จัดขึ้นในต่างจังหวัด ได้เห็นพระที่ทำหน้าที่จัดการงานขวนขวายให้ฆราวาสใส่ซองหนัก-เบาตามสมณศักดิ์ของพระที่ได้นิมนต์มา เข้าใจว่าท่านเองโดนกำชับมาอีกที แต่อีกทางหนึ่งท่านก็ได้หน้าด้วย

นอกจากบังคับเรื่องปัจจัยใส่ซอง ยังมากระซิบบอกพิธีกรฆราวาสให้ประกาศอวยเวลาพระมีสมณศักดิ์เดินทางมาถึงงาน สำนวนโอ้โลมปฏิโลมยิ่งกว่าฆราวาส

นอกจากนี้ ผมยังเคยได้ยินพระบางรูปเล่าให้ฟังว่า เวลามีงานฉลองสมณศักดิ์ เจ้าอาวาสในเขตปกครองนั้นต่างได้รับมอบหมายให้หาเงินมาจัดงานฉลองแก่ผู้บังคับบัญชาเป็นหลักหมื่นหลักแสน พระก็ต้องไปรีดเอาจากญาติโยมเป็นที่เดือดร้อนกัoเป็นทอดๆ ใครไม่ยอมหาหรือหาไม่ได้ตามยอดก็ยากจะเจริญในยศศักดิ์ หรือบางครั้งก็ถูกรังเกียจไปเลย

ยังมินับวัฒนธรรมอวยในอวยอื่นๆ เช่น การกราบไหว้กันตามยศศักดิ์ซึ่งผิดพระธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยกำหนดให้พระเคารพกันโดยอายุพรรษา ไม่ใช่โดยยศ

 

ยังมีเรื่องใช้ศัพท์แสงแบบฆราวาส (โบราณ) ในการอวยกัน เรียกกันว่าใต้เท้าใต้ตีนอะไรอีกมาก ทั้งที่ฆราวาสแทบจะไม่ใช้คำแบบนั้นอวยกันแล้ว

ที่จริงวัฒนธรรมสมณศักดิ์นี้ถูกหนุนส่งโดยวัฒนธรรมราชสำนัก เป็นต้นว่า พระระดับสมเด็จราชาคณะ เวลาฉันในพิธีหลวงก็ฉันภัตตาหารในตะลุ่มมุก ส่วนพระราชาคณะอื่นๆ ฉันโตกฉันถาดเหล็กธรรมดา เบาะอาสนะก็คนละสี แบ่งแยกชัดเจน นั่งเรียงกันก็ไม่ได้เรียงกันตามอายุพรรษา แต่เรียงตามยศ

ถ้าจะบอกว่า เรื่องแบบนี้โยมหรือวังเขาจัดให้ พระก็ไม่ได้อยากจะได้รับอะไรแบบนั้น แต่พระจะช่วยกันปรับเปลี่ยนได้ไหม หรืออย่างน้อยก็แจ้งไปว่าควรปรับเปลี่ยนตามหลักพระธรรมวินัย

ที่จริงพระก็คือลูกชาวบ้านเหมือนกันกับเราครับ แต่ระบบสมณศักดิ์ทำให้พระหลายรูปลืมไปว่าท่านเคยเป็นลูกชาวบ้าน บางคนบอกว่า ทำไงได้เขาถวายมาก็ต้องรับ แต่เอาจริงๆ มีพระที่ไม่ยินดียินร้ายกับสมณศักดิ์ที่ได้มามากน้อยแค่ไหนผมก็ไม่หยั่งทราบ

จะไม่ดีกว่าหรือครับที่พระจะกลับไปยึดมั่นในพระธรรมวินัยมากกว่ายศศักดิ์ทางโลก การยกเลิกระบบสมณศักดิ์ให้เหลือไว้แต่การปกครองตามระบบศิษย์ครู ตามความเห็นชอบของหมู่คณะที่เหมาะสม โดยไม่ใช่เลียนแบบการปกครองทางโลก ผมเชื่อว่าจะลดอำนาจนิยมในคณะสงฆ์ได้ เป็นการปฏิรูปสถาบันศาสนาให้สมสมัย เจริญศรัทธาแก่ผู้คน

จุดเริ่มต้นเรื่องนี้ จะทำได้ต้อง “แยกศาสนาออกจากรัฐ” ก่อนครับ