วงค์ ตาวัน | ชุมนุมอดีตนายกฯ

วงค์ ตาวัน

มีความพยายามจากหลายๆ ฝ่าย มีการเสนอหลากหลายแนวทางเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองไทยในขณะนี้ รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว รวมทั้งการระดมอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนเข้ามาร่วมถกเถียงหาทางออก

ต้องถือว่าผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน-นักเรียน-นักศึกษา มีมากมายมหาศาลจริงๆ

ผ่านมา 3-4 เดือนของการชุมนุมผลักดันข้อเรียกร้องต่อสู้ ยังคงความเข้มข้น ไม่ได้ลดระดับลงไป จะจับกุมแกนนำขังคุกกันไปแทบหมดสิ้น ก็ไม่ทำให้การชุมนุมอ่อนล้าลงไป เพราะทุกคนเป็นแกนนำ

พร้อมกับแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานการณ์ของรัฐบาล นับวันจะเข้าสู่จุดวิกฤตมากขึ้นไปเรื่อยๆ

“แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปได้สูงมาก จะหนักหรือเบา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น”

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมีที่มาอย่างไม่ชอบธรรม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียวอยู่ในอำนาจยาวนาน ถ้ายังยื้อเอาไว้ไม่ให้แก้ไขก็จะกลายเป็นชนวนระเบิดร้ายแรง

เพราะไม่ชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้นความเป็นมา ตั้งแต่การจัดทำประชามติที่ไม่สามารถหยิบยกมาอวดอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะเป็นประชามติที่ถูกโต้แย้งหลายด้าน เป็นประชามติที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยสามารถรณรงค์คัดค้านได้ มีการกวาดจับดำเนินคดีคนเห็นต่างในช่วงนั้นมากมาย เรียกกันว่าเป็นประชามติมัดมือชก

การตั้งคำถามในประชามติ ให้มีบทเฉพาะกาลมอบอำนาจให้ 250 ส.ว.สามารถโหวตนายกฯ ได้ ก็เขียนอย่างวกวนกำกวม

“ทำให้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เมื่อเริ่มเขียน จนถึงนำมาใช้!”

ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องร้อนแรงในเวลานี้ ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาไม่ลดระดับลงไป

เมื่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

จึงต้องมีความพยายามหาทางออกอื่นๆ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ให้ไปถึงจุดแตกหัก ไม่ให้ไปถึงความรุนแรง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งก็เป็นอดีตนายกฯ กำลังระดมอดีตนายกฯ อีกหลายราย เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้เข้ามาร่วมในคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์

เป็นการชุมนุมอดีตนายกฯ เพื่อเร่งหาทางออกให้กับบ้านเมือง

โดยทั้งหมดนี้ จุดความสนใจอยู่ที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ด้วยความที่เป็นอดีตนายกฯ มาถึง 2 สมัย และเป็น 2 สมัยที่มีลักษณะเข้ามาเพื่อคลี่คลายปัญหา

แม้แต่ในสถานการณ์วันนี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกนักเรียน-นักศึกษารุกไล่อย่างหนัก ก็เริ่มมีการหยิบยกชื่อนายอานันท์ขึ้นมา ว่าน่าจะเป็นนายกฯ แบบเฉพาะกิจเฉพาะกาล เพื่อดับไฟบ้านเมือง

แน่นอนว่าโอกาสที่จะเกิดนายกฯ เฉพาะกิจแบบนี้เป็นไปได้ยาก

“แต่การกล่าวถึงนายอานันท์ ย่อมมีความหมายในทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงการเข้าทางตันของนายกฯ คนปัจจุบัน!!”

เพราะกระแสเรียกหานายอานันท์ ก็มาจากกลุ่มชนชั้นสูงที่เคยมีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ทำนองว่า พวกเดียวกันเริ่มยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะถูกต้านจนไปได้ลำบากแล้ว อะไรทำนองนั้น”

ที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ นายอานันท์เริ่มแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยต่อสถานการณ์ที่นักเรียน-นักศึกษาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ โดยกล่าวบนเวทีเสวนา ชี้ถึงกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยสนับสนุนให้มีการแก้ โดยเฉพาะการแต่งตั้ง 250 ส.ว.แล้วมีอำนาจแต่งตั้งนายกฯ อันเป็นเหตุให้เยาวชนรุ่นใหม่ออกมาประท้วง

นายอานันท์เห็นว่า เรื่องอำนาจ ส.ว.ต้องตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแสดงความเห็นต่อกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเห็นว่า มาตรา 112 ไม่ควรเป็นคดีอาญา น่าจะเป็นโทษปรับตามคดีแพ่งเท่านั้น

ส่วนในเรื่องการต่อสู้ของนักเรียน-นักศึกษานั้น นายอานันท์ย้ำว่า คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ คือปัญหา เป็นคนเดียวที่จะปลดล็อกได้ ส่วนจะลาออกหรือไม่ลาออก เป็นสิทธิ์ของนายกฯ เพียงแต่ต้องรู้ว่า

“ข้อเรียกร้องเหล่านั้น นายกฯ ฟังหรือได้ยินหรือไม่!?”

รวมทั้งหากจะอ้างกฎหมายขึ้นมาโต้เถียง จะทำให้ปัญหาวนเวียนไม่ไปไหน เพราะเริ่มต้นผิดมาตลอด ผิดมา 7 ปีแล้ว

ฟังบทสรุปของนายอานันท์ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์อาจจำเป็นต้องตัดสินใจ เพื่อปลดล็อกปัญหาในวันนี้!

นายอานันท์เป็นอดีตนายกฯ ที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ยกให้เป็นผู้ดีรัตนโกสินทร์ ได้ชื่อเรื่องความตรงไปตรงมา โปร่งใส มีภาพลักษณ์ที่ดี สุภาพ หนักแน่น และมีผลงานในการแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง

“แต่ด้วยความที่การเข้ามาเป็นนายกฯ 2 ครั้งนั้นด้วยวิธีพิเศษ จึงทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับจากนักประชาธิปไตย”

โดยเป็นนายกฯ ครั้งแรกจากการรัฐประหารของคณะ รสช. นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2534 แล้วตั้งรัฐบาลพลเรือนมีนายอานันท์เป็นนายกฯ เพื่อบริหารประเทศชั่วคราว จัดทำรัฐธรรมนูญและจัดเลือกตั้ง

ต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2535 แล้วเกิดวิกฤตต่อต้าน พล.อ.สุจินดาที่เข้ามาเป็นนายกฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ ทำให้นายอานันท์เข้ามาเป็นนายกฯ อีกรอบด้วยวิธีการพิเศษ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

“ยุคนายกฯ หนที่สอง นอกจากจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น พร้อมกับจัดการเลือกตั้งเพื่อนำบ้านเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตยปกติแล้ว ยังมีการสอบสวนหาความจริงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนพฤษภาคม 2535 ได้ข้อสรุปในการจัดตั้งตำรวจปราบจลาจล ไม่ให้ทหารเข้ามาคุมสถานการณ์ม็อบ และสรุปความผิดของกองทัพในเหตุการณ์ดังกล่าว จนเกิดการย้ายล้างบางครั้งใหญ่”

หลังจากนั้นนายอานันท์ก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการเมือง แต่ได้แสดงท่าทีและความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นระยะๆ

นายอานันท์เป็นขวัญใจชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง แต่ถูกต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยเพราะเป็นนายกฯ วิธีพิเศษ อีกทั้งด้วยมีท่าทีที่ขัดแย้งกับรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลเลือกตั้งถูกฝ่ายอนุรักษนิยมและอำนาจนอกระบบโจมตีและทำลายอย่างหนัก

“แต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 และการอยู่ยาวนานของรัฐบาลทหาร คสช. ทำให้ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางบางส่วนเริ่มไม่ยอมรับ เริ่มมีกระแสไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ดังจากคนส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

การปรากฏตัวของนายอานันท์ เพื่อฟังการบรรยายทิศทางพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อปลายปี 2562 เป็นที่กล่าวขวัญกันไม่น้อย

จนกระทั่งเมื่อนักเรียน-นักศึกษาลุกฮือออกมาเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ ไปจนถึงการปรับโครงสร้างการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ได้เห็นถึงการขยับตัวของนายอานันท์”

ไปจนถึงด้วยผลสะเทือนเลื่อนลั่นจากย่างก้าวของนักเรียน-นักศึกษา

ทำให้ต้องระดมอดีตนายกฯ 4-5 คนออกมาร่วมกันคลี่คลายปัญหาและรับฟังเสียงเรียกร้องนั้น!