วิเคราะห์ : “โรคระบาด” คำตอบให้กับมนุษย์กับการปฏิบัติต่อโลก-สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“โลกใบนี้เข้าสู่ยุคแห่งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แม้จะหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้นการแพร่ระบาดก็ยังเกิดบ่อยครั้ง แพร่ขยายอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ฆ่าคนมากขึ้นและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับการทำลายล้างที่หนักหน่วง” นี่เป็นถ้อยแถลงปรากฏในรายงานชิ้นล่าสุดที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในสาขาต่างๆ ของโลกสังเคราะห์ข้อมูลออกมาและนำเสนอต่อที่ประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้

ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีอาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักสัตววิทยา นักสาธารณสุขศาสตร์ จำนวน 22 คนเป็นผู้ประมวลผลการศึกษาในแต่ละสาขากว่า 600 ชิ้นงาน

รายงานฉบับนี้จึงถือเป็นสุดยอดของข้อมูลเพราะใช้หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

 

“ปีเตอร์ ดาซัค” หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมจัดทำรายงานชี้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 โรคไข้หวัดนก เชื้อเอชไอวี มีต้นตอมาจากสัตว์ เชื้อเหล่านี้แพร่กระจายไปยังฟาร์มปศุสัตว์ และแหล่งค้าสัตว์ป่า ติดต่อกับคนด้วยจุลินทรีย์ที่มีอันตรายร้ายแรง

ทุกๆ ปีชาวโลกจะเผชิญความเสี่ยงกับเชื้อโรคใหม่ๆ มากกว่า 5 ชนิดซึ่งมีศักยภาพในการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ดาซัคประเมินว่า เชื้อไวรัสที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนมีอยู่ราว 5 แสนชนิดแฝงเร้นอยู่ในสัตว์และนก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีอันตรายกับมนุษย์

แม้ว่าจะมีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้มองว่า “ช้าและไม่มีความแน่นอน”

หนทางแก้ปัญหานั้น ต้องมองทะลุไปที่ต้นตอของเชื้อโรค

เมื่อเชื้อมาจากป่า เราจะต้องหยุดการทำลายป่า

เราต้องหยุดโค่นป่า หยุดเผาป่า หยุดการรุกป่าเพื่อเอาผืนป่ามาทำไร่เลื่อนลอย ปลูกปาล์ม ทำฟาร์มปศุสัตว์ หรือทำเหมืองแร่ เพราะได้ไม่คุ้มเสีย เราเห็นผลลัพธ์ของการทำลายผืนป่าธรรมชาติมาแล้ว ถึงที่สุดธรรมชาติก็ย้อนกลับมาทวงคืน

เป็นการทวงคืนที่เกิดความสูญเสียอย่างมโหฬาร

ดังกรณีตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากการทำลายป่า และเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้เมื่อคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งโลกแล้วมีจำนวนหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

ในรายงานฉบับนี้แจกแจงตัวเลขและสถิติข้อมูลความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ความเสียหายทั้งหมดประมาณ 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 16,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ถ้าคิดเป็นเงินบาทเอา 31 บาทคูณดูกันเองนะครับ)

ในตัวเลขดังกล่าวนั้น หมายรวมช่วงที่ประเทศต่างๆ มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการคุมเข้มการเดินทาง 3-6 เดือน เกิดความเสียหาย 580,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 6.4%-9.7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลก (Global GDP)

โรคอีโบลาจัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับไข้เลือดออกระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี 2557 เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 53,000 ล้านเหรียญ

ระหว่างปี 2558-2560 เชื้อไวรัสซิก้าเกิดจากยุงลาย แพร่ระบาดในแถบอเมริกาใต้และกลุ่มประเทศในทะเลแคริบเบียน ความเสียหายทางเศรษฐกิจตกราวๆ 7,000-18,000 ล้านเหรียญ

ในแต่ละปีรัฐบาลทั่วโลกใช้งบประมาณราว 78,000 ล้านเหรียญ ถึง 91,000 ล้านเหรียญ เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

เชื้อโรคไม่ว่าจะเชื้ออีโบลา ไวรัสซิก้า หรือเชื้อไวรัสสมองอักเสบ “นิปาห์” ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในประเทศมาเลเซียเมื่อปลายปี 2541 ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อที่พบมาจากจุลินทรีย์ของสัตว์ป่า ติดต่อระหว่างสัตว์ป่าด้วยกันเอง หรือผ่านฟาร์มสัตว์เลี้ยงและแพร่ระบาดมายังคน

ส่วนเชื้อไวรัส เช่น ซาร์ส และโควิด-19 เกือบ 100% เป็นการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน

ในตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วโลก ล่าสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยบนบก (wild terrestrial vertebrate species) ราว 24% มาซื้อ-ขายกัน และมูลค่าการขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายเมื่อปี 2562 มีมากถึง 107 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 500% เมื่อเปรียบกับ 15 ปีก่อน และเพิ่มทะลุ 2,000% เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1980

ช่วงระหว่าง 50 ปีที่ผ่านมา เชื้อจุลินทรีย์ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว หรือเชื้อราที่พบในคนป่วย 70% มีต้นตอมาจากสัตว์ป่า

ระหว่างปี 2545-2558 พื้นที่ป่าทั่วโลกราว 218 ล้านไร่ถูกโค่นทำลายแล้วดัดแปลงมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

คาดกันว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า ชาวโลกจะทำลายป่าจนย่อยยับราบเป็นหน้ากลองราว 6,000 ล้านไร่

เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ป่ากลายเป็นเขตเกษตรกรรม เป็นชุมชน เป็นเมือง การแพร่ระบาดของเชื้อโรคเพิ่มขึ้น 30%

โรคไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดเมื่อปี 2552 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกพังพินาศราว 55,000 ล้านเหรียญ

 

“ดาซัค” ยังบอกอีกว่า สาเหตุการระบาดโรคโควิด-19 หรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องลี้ลับใดๆ เลย เพราะต้นตอนั้นมาจากการทำกิจกรรมของคนทั้งโลกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ จนทำให้โลกนี้มีความเสี่ยงเกิดโรคระบาดและผลกระทบกับสภาพแวดล้อม

“เราได้เห็นการแพร่ระบาดของโรคร้ายทุกๆ 20-30 ปี และยิ่งนานวันความถี่ในการแพร่ระบาดยิ่งมากขึ้น รุนแรงขึ้น เกิดความเสียหายมากขึ้น แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงยุคโรคระบาด ถ้าคนทั้งโลกผนึกกำลังเพื่อหาทางป้องกัน” ดาซัคให้ความเห็นว่า ยังมีทางแก้อื่นๆ เช่น ร่วมกันตั้งเครือข่ายโลกในการตรวจสอบการทำลายป่า การปล่อยก๊าซพิษ การออกนโยบายโลกในการจัดเก็บภาษีผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและเลิกอุดหนุนทางภาษีกับอุตสาหกรรมที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

นักวิทยาศาสตร์ในทีมจัดทำรายงานเรื่องนี้บอกอีกว่า ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านการแพทย์สาธารณสุขได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวโลกร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มอัตราศึก เพราะไม่ใช่เพียงแค่การระบาดมีผลต่อด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีผลร้ายแรงกับเศรษฐกิจโลก

ในเดือนมิถุนายน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์บอกว่า โควิด-19 คือสัญญาณเตือนภัยของมนุษยชาติ แต่รัฐบาลทั่วโลกเงี่ยหูฟังน้อยมาก จนในที่สุดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นซ้ำรอบ 2 ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.2 ล้านคน ติดเชื้อทะลุ 46 ล้านคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ถ้ายังปล่อยให้สังคมบริโภคนิยม การค้า การเอารัดเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรมไม่มีจุดสิ้นสุด และแต่ละประเทศอยากจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วๆ เหล่านี้จะเป็นแรงขับให้โรคใหม่ๆ อุบัติมากขึ้น

ฉะนั้น เราจะต้องปลุกให้ชาวโลกร่วมคิดกันใหม่ ทำอย่างไรคนจึงจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและสมดุลมากที่สุด?