มุกดา สุวรรณชาติ : รัฐประหาร ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แผนครองอำนาจสูตรเดิม…ทำไม่ได้

มุกดา สุวรรณชาติ

ข่าวรัฐประหาร เป็นแค่คาดการณ์

ตามที่มีข่าวว่า สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เสนอเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ว่า “ให้ยึดอำนาจ ถวายอำนาจให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกลับกรมกอง พระองค์ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โอนอำนาจให้รัฐบาลแห่งชาติไปเลย… ผมไม่อยากพูดว่านี่เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เป็นแนวทางเดียว ตอนแรกคนคงต่อต้านเยอะ แต่เมื่อโอนอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาลแห่งชาติ คนก็ไม่ติดใจว่าสืบทอดอำนาจ…”

ความเห็นของสนธิคือ…การปฏิวัติไม่ใช่ความเลวร้าย ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แฟร์ ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติที่ไม่ขึ้นกับใครเลย ใครก็ตามที่คิดปฏิวัติ อย่าทำพลาดแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ยึดอำนาจเข้าตัวเอง แล้วต่อยอดอำนาจ… แต่ต้องเข้ามาแล้วเอาความสงบเข้าสู่บ้านเมือง ด้วยการรีบถวายอำนาจคืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนเชื่อว่าพระองค์ไม่ใช้อำนาจนี้ พระองค์จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาทันที

รัฐบาลแห่งชาติมีหน้าที่ 2 ประการ คือ หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และรีบดำเนินการทางการเมือง ด้วยการเอาทุกฝ่ายเข้ามา เพื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ให้เวลา 2 ปี แต่ต้องไม่มีคนชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ และวิษณุ เครืองาม เข้ามาเกี่ยวข้อง เอาคนจากทุกพรรคมาเป็นรัฐมนตรี

สนธิกล่าวอีกว่า เราต้องมาตกลงกันก่อนว่าจะอยู่กันยังไง ร่างหลักการปกครองออกมาสัก 20 ข้อ (ไม่ได้บอกว่าคนร่างหลักการเป็นใครบ้าง) แล้วไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ พอเป็นรูปเป็นร่าง ถึงค่อยร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้อกับหลักการปกครองต่างๆ

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฏิวัติตัวเอง นายสนธิไม่เห็นด้วย …ปฏิวัติตัวเองยิ่งฉิบหาย รัฐบาลแห่งชาติต้องไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย คสช.ถึงเวลากลับบ้านได้แล้ว

ต่อข้อเสนอของสนธิ พล.อ.ประวิตรมีความเห็นว่า …ไม่มีทาง ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติ

สำหรับประเทศไทยทุกครั้งที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คนจำนวนหนึ่งมักจะคิดวิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ คืออยากให้มีคนมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจและแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นให้สงบ

แต่ที่ผ่านมา คนที่ทำการรัฐประหารมักจะครองอำนาจเสียเอง และก็สร้างปัญหามากขึ้นไปอีก

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และบทเรียนล่าสุดคือการรัฐประหาร 2549 ของ คมช. และ 2557 ของ คสช.

…แต่คราวนี้จะมีคนตั้งท่าต่อต้านจำนวนมาก

 

บทเรียนรัฐประหารมา 2 ครั้งหลัง
คราวนี้ไม่มีใครยอมง่ายๆ

สิบกว่าปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้เดินหน้าเร็วยิ่งขึ้น

ตัวปัญหาสำคัญคือกลุ่มอำนาจเก่าที่ฝืนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

ซึ่งไปหลงเชื่อกลุ่มที่ต้องการประโยชน์ส่วนตัว จึงเดินเกมพลาดมาตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549 พร้อมกับคิดว่าชนะแล้ว กว่าจะรู้ตัวว่าประชาชนไม่เอาด้วยก็แพ้เลือกตั้ง ปี 2550 ทั้งๆ ที่เอาเปรียบคู่แข่งทุกด้าน จึงต้องแก้เกมโดยยึดอำนาจด้วยตุลาการภิวัฒน์

นั่นคือความผิดพลาดซ้ำครั้งสำคัญซึ่งจะมีผลต่อระบบยุติธรรมและผู้เกี่ยวข้อง ในเวลาต่อมา ทำให้อำนาจตุลาการถลำลงมาในบ่อโคลนการเมืองอย่างเต็มตัว ทำให้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงมาประท้วง

และกลุ่มอำนาจเก่าก็ทำผิดซ้อนเข้าไปอีกโดยการล้อมปราบในปี 2553 เกือบ 100 ชีวิตที่ดับไป และเลือดที่นองท้องถนน พอเลือกตั้ง 2554 ก็แพ้อีกก็ต้องใช้สูตรเดิมเอาม็อบนำตามด้วยตุลาการภิวัฒน์

สุดท้ายก็รัฐประหารในปี 2557 ปกครองอยู่หลายปี บ้านเมืองถอยหลังทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

คสช.พยายามร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ได้เปรียบมากที่สุดเพื่อต่ออำนาจของฝ่ายเผด็จการ และในที่สุดก็สืบทอดอำนาจในการเลือกตั้ง 2562 มีเงื่อนไขสำคัญคือให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้เลือกนายกฯ ได้

แต่ผ่านมาได้ไม่ถึงปี คนก็ไม่ยอมรับ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังซ่อนอยู่ 2 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาจึงปะทุขึ้นอีกเป็นรอบที่ 3

แต่ครั้งนี้คู่ต่อสู้ไม่ใช่พรรคการเมืองแบบไทยรักไทยหรือเพื่อไทย เพราะแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาก็ถูกยุบ

คู่ขัดแย้งตัวจริงที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นนักศึกษา นักเรียนและกลุ่มคนหนุ่มสาว

จะใช้วิธียุบพรรคของเด็กๆ ตอนนี้ เด็กๆ ก็ไม่มีพรรคให้ยุบ เพราะบางคนยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่เลย

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ จับเด็กไปขังตั้งข้อหาสารพัด เช่น ไม่ขออนุญาตชุมนุม ห้ามใช้เครื่องเสียง กีดขวางการจราจร ที่ร้ายแรงหน่อยก็คือมาตรา 116 ปลุกปั่นยุยง การจับกุมคุมขังผู้มีความเห็นต่างมากจนไม่มีใครจำได้ว่ามีคดีใดบ้าง

แต่ข้อกล่าวหาประชาชนสรุปได้ว่าโดยรวมแล้วก็คือคนเหล่านี้ออกมาต่อต้านรัฐบาล ต้องการปฏิรูปทุกอย่าง ทั้งระบบปกครอง ระบบยุติธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงถูกจับ

แต่ยิ่งจับ ผู้ชุมนุมก็ยิ่งมากขึ้น จากหลักพันเป็นหมื่นเป็นแสน

วันนี้ข้อเรียกร้องของฝ่ายเยาวชนล้วนแต่แหลมคมและตรงเป้าของความขัดแย้ง ที่กระทบกระเทือนต่อสถานะขององค์กรและบุคคล ทั้งข้อเสนอที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากนายกรัฐมนตรี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากกรรมการที่เลือกโดยประชาชน และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อเสนอทั้งหมดแหลมคมจนทำให้หลายคนมองว่าไม่มีทางประนีประนอมได้และไม่มีทางออกนอกจากทำรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเป็นการแบ่งผลประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อรักษาโครงสร้างเดิม แต่ฝ่ายค้านคงไม่ไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าไปก็พัง

ส่วนเยาวชนที่ประท้วงอยู่ เขาไม่ยอมไปแบ่งประโยชน์ด้วย และก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้น ข้อเสนอที่คนเหล่านี้ยอมรับได้ต้องเกี่ยวพันกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ และต้องได้รับการปฏิบัติในเวลาไม่นาน

ที่รัฐบาลต้องทำคือ หาทางออกผ่านการเจรจาอย่างจริงใจ ไม่คิดถ่วงเวลาไปเรื่อย และกำจัดคนเห็นต่างไปเรื่อย ถ้าเป็นแบบนี้ความขัดแย้งยิ่งขยาย

สายเหยี่ยวของทั้งสองฝ่ายคิดอย่างไร?

ต้องเข้าใจว่าในมวลชนมิได้มีแต่คนเดินแนวทางสันติทั้งหมด เมื่อถูกจับ ถูกแกล้งสารพัด จะกลายเป็นการสะสมความแค้น ในขณะที่อีกฝ่ายมีอำนาจหนุนหลังก็คิดว่าเล่นเกมแรงได้

ความต้องการของกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองทั้งสองฝ่ายในวันนี้คือ คิดกวาดล้างอีกฝ่ายให้หมดไป เพราะพวกเขาไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง อยากปกครองแบบที่ตัวเองต้องการ

แต่ในความเป็นจริง เรื่องแบบนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพการเมืองการปกครองในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนอยู่บนสถานการณ์ที่มีการถ่วงอำนาจกัน

สายเหยี่ยวสองกลุ่มคิดคล้ายกัน ทั้งที่อยู่คนละฝ่าย…

1. กลุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนอำนาจเก่าต้องการให้มีการรัฐประหาร การรัฐประหารจะมาจากใคร ทหารกลุ่มไหน หรือมีคนกลุ่มอื่นร่วมด้วยก็ได้ พวกเขาประกาศเรียกร้องการรัฐประหารอย่างเปิดเผยและต้องการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามให้หมด หลังจากนั้นจะปกครองด้วยระบบอะไรก็ได้ ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือนานกว่านั้น

แต่สภาพการเมืองวันนี้ มีฝ่ายเดียวกันที่ฉลาดกว่ารู้ว่านั่นเป็นวิธีโบราณที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและจะได้รับการต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสตอบโต้

ความเสียหายจะรุนแรงทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ สภาพประเทศที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วจะดิ่งเหวทันที กลุ่มทุนใหญ่ไม่ต้องการแบบนี้

ผู้วิเคราะห์จึงประเมินว่า วิธีรัฐประหารแบบตรงๆ ไม่เพียงคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แม้แต่กลุ่มอำนาจเก่าบางส่วนก็ยังเกรงว่าจะกระทบผลประโยชน์ที่ตัวเองมีอยู่อย่างมากมายและในสภาพที่กำลังยังก้ำกึ่งถ้าเพลี่ยงพล้ำไป ไม่เพียงไม่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติได้ แม้ชีวิตตนเองและครอบครัวก็จะต้องตกอยู่ในอันตราย ออกจากประเทศก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร

สรุปว่ามีบางกลุ่มคิด แต่ใครจะเสี่ยง ถ้ายังมีทางเลือก พวกเขาจะไม่ทำ

เชื่อกันว่าการประกาศรัฐประหารไม่ใช่เรื่องยาก แต่ครั้งนี้เมื่อทำแล้วมีคนออกมาต่อต้านจำนวนมากจะทำอย่างไร เรื่องที่จะไม่มีคนต้านรัฐประหารใน พ.ศ นี้ ไม่มีทาง ไม่ใช่มีเล็กน้อย แต่มีเยอะแน่

และทหารคงไม่เอาปืนไปยิงเด็กนักเรียนที่มาต่อต้านได้เพราะบทเรียน 14 ตุลาคม 2516 สอนไว้ว่าทำแล้วเจ๊งแน่

ยิ่งวันนี้สื่อโซเชียลมีเดียและทั่วโลกกำลังจับตามอง ถ้ามีการบาดเจ็บล้มตาย คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงไม่ว่าถึงขั้นไหนต้องรับผิดชอบเต็มๆ

แต่ถ้ามีคนโง่กล้าเสี่ยงทำขึ้นมาจริง ก็จะมีคนทำรัฐประหารซ้อนแสดงตนเป็นพระเอกทันที

2. พวกหัวรุนแรงที่ต้องการปฏิวัติด้วยกำลังประชาชน พวกนี้รำคาญและไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่รู้สึกว่าล้าหลังของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งยังรู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความยุติธรรม และต้องการล้างแค้น ดังนั้น ถ้ามีการรัฐประหารของกลุ่มอำนาจเก่า พวกเขาจะปลุกความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ ลากพาสถานการณ์เข้าสู่การปฏิวัติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การต่อต้านจะขยายตัวและถ้ามีการใช้กำลังปราบ การต่อต้านจากแบบธรรมดาจะลามไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรง และจะยืดเยื้อ

แม้กลุ่มต่อต้านส่วนใหญ่จะใช้แนวทางสันติ แต่เมื่อถูกปราบหนัก มีความโกรธก็จะมีคนบางกลุ่มใช้วิธีตอบโต้แรงขึ้นและพัฒนาไปไกล ชนิดที่อาจไม่มีใครห้ามได้ เพราะวันนี้ล้วนแต่เป็นนักสู้อิสระสั่งกัน ยากอยู่แล้ว ที่น่ากลัวไม่ใช่รูปแบบความขัดแย้งทางภาคใต้ ที่เขากังวลกันทั้งโลกวันนี้คือ สงครามเคมี ชีวะ อิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนน้อย ทำลายเยอะ ใช้สมองมากหน่อย รู้แต่ป้องกันไม่ได้

การปฏิรูปจึงทำง่ายสุด เสียหายน้อยสุด แต่ถ้าช้าก็ยากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
เป็นแค่การปฏิรูป
ยังไม่ใช่การปฏิวัติ

เวลานี้ยังวิเคราะห์ได้ว่า ถ้าไม่มีการรัฐประหาร ก็ไม่มีการปฏิวัติด้วยกำลัง มีแต่การปฏิรูป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น โอกาสปฏิวัติด้วยกำลังจึงขึ้นอยู่กับการเลือกทางเดินของกลุ่มอำนาจเก่าว่าจะเปิดประตูให้พญามัจจุราชมาเยือนหรือไม่

เพราะถ้าจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติ ผลของการต่อสู้ครั้งนี้เมื่อจบลงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ดังนี้

1. เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ

2. เปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่มาจากชนชั้นใหม่ขึ้นมามีอำนาจหรือมาเป็นส่วนสำคัญในอำนาจการบริหารการปกครอง

3. มีการจัดแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ให้กับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

4. มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมโดยเปลี่ยนทั้งตัวกฎหมาย กฎเกณฑ์ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และตัวบุคคลที่ควบคุมกติกา ใช้อำนาจ ให้คุณให้โทษ

ตัวอย่างการปฏิวัติที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรปี 2475

เรื่องจริงขณะนี้คือ แนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ หรือระบบสังคม เป็นแค่ระดับการปฏิรูป การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็เป็นเพียงการปฏิรูปทางการเมืองการปกครอง การเสนอให้นายกฯ ลาออก รัฐบาลลาออก หรือยุบสภาเป็นการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย

การต่อสู้ของประชาชน จากนี้ไปจะมีการนำทางความคิดอย่างไร เพราะต้องทำให้ประชาชนมีความเข้าใจปัญหาตรงกันมีแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเดียวกัน เพื่อหาทางออกที่เป็นจริง ในการแก้สถานการณ์ เศรษฐกิจและการเมืองทำให้ประชาชน กำลังยากลำบากและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ

ในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเป้าหมายคืออะไร แค่ไหน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

สถานการณ์ที่กำลังเกิดจริง คือ รัฐบาลไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนได้แล้ว หลายบริษัทกำลังลุ้นว่า บริษัทตัวเองกับรัฐบาลใครจะล้มก่อน

ที่รัฐบาลทำตอนนี้คือ จัดการกับฝ่ายต่อต้านด้วยกฎหมาย จับขัง ฟ้องร้อง แบบยืดได้หดได้ ต่อแกนนำผู้ชุมนุม จัดการกับแกนนำคณะก้าวหน้าที่คิดว่าอยู่เบื้องหลัง

ทางการเมือง ก็สร้างม็อบหนุนรัฐบาลผ่านระบบราชการ อิงสถาบัน

ทางสภาใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าผู้ชุมนุมจะอ่อนกำลังลง

ทั้งหมดที่รัฐบาลทำขณะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเร่งความขัดแย้ง แต่กำลังผู้ชุมนุมไม่อ่อน แถมกลับเพิ่มมากขึ้น ถ้ายังเคลื่อนไหวต่อเนื่องได้ถึงปลายปี น่าจะเกิดผลทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 1 ขั้น

ใครที่ประกาศว่าจะยอมจมไปพร้อมเรือประยุทธ์ เตรียมชูชีพได้