เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พุทธานุสติปวารณา

“พระพุทธเจ้าเป็นบุตรที่ปราดเปรื่อง ยิ่งใหญ่ และรอบรู้ที่สุดของอินเดีย

ในโลกที่ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เคียดแค้นและรุนแรง คำสอนของพระพุทธเจ้าส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์ที่รุ่งโรจน์

ไม่มีคนอินเดียคนใดที่จะนำเกียรติยศ เกียรติภูมิกลับมาสู่อินเดียได้เท่ากับพระพุทธองค์

หากเราไม่จัดงานฉลองท่านผู้นี้แล้ว เราจะไปฉลองวันสำคัญของใคร”

นี่คือถ้อยวาทะของท่านศรี เยาวหราล เนรูห์ นายกฯ ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาอินเดีย สนับสนุนให้อินเดียจัดงานเฉลิมฉลองในวาระครบยี่สิบห้าพุทธศตวรรษเมื่อปี พ.ศ.2500 และด้วยวาทะของท่านเนรูห์ข้างต้นนี้เอง ประเทศอินเดียได้จัดงานเฉลิมฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเทิดทูนพระพุทธองค์และยกย่องความสำคัญของพระพุทธศาสนา

เมื่อมีคนถามท่านนายกฯ ศรี เยาวหราล เนรูห์ ว่าท่านนับถือศาสนาอะไร

ท่านเนรูห์ตอบว่า

“ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีศาสนา แต่หากให้ข้าพเจ้าเลือก ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา”

ความข้างต้นนี้จักจารไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดีย และพึงตราไว้ในใจของพุทธศาสนิกชนด้วย

 

วิสาขบูชาปีนี้ขอนำวาทะของท่านเนรูห์มาปรารภไว้เป็นมงคลกถา เสมือนหนึ่งพุทธานุสติปวารณา

วันสำคัญในพระพุทธศาสนานั้นมีสามวันตามคติ “ไตรรัตนา” คือแก้วสามดวง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

วันพระพุทธ คือวันวิสาขบูชา

วันพระธรรม คือวันอาสาฬหบูชา

วันพระสงฆ์ คือวันมาฆบูชา

ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนหก เดือนแปด เดือนสาม ตามลำดับ

วิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธ ด้วยเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

อาสาฬหบูชา (อ่าน อา-สาน-ละ-หะ-บูชา) เป็นวันพระธรรม ด้วยเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์หลังตรัสรู้ พระธรรมที่ทรงแสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

มาฆบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ด้วยมีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ล้วนเป็นพระสงฆ์ผู้ทรงได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธองค์ทรงบวชให้ทั้งหมด ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย และพระองค์ทรงแสดงธรรม โอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นธรรมเพื่อสังคมชาวพุทธโดยแท้ นั่นคือ

ไม่ทำชั่วทุกกรณี

ทำดีเป็นนิตย์

ทำจิตให้บริสุทธิ์

 

จําเพาะวันวิสาขบูชานี้ เรามักรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนหก โดยเข้าใจว่า ประสูติคือวันที่พระองค์เกิดจากครรภ์มารดา ตรัสรู้คือวันพระองค์ทรงบรรลุพระอริยสัจธรรม ปรินิพพานคือวันพระองค์เสด็จดับขันธ์

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า แท้จริง ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน นั้นเป็นสิ่งที่เกิดใน “วาระเดียว” กัน คือ ขณะแห่งการตรัสรู้นั้นเอง ดังนี้

ตรัสรู้เป็นเหตุให้ประสูติซึ่งความเป็นพุทธะ

ตรัสรู้เป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน

เพราะฉะนั้น วาระนั้นได้บังเกิดปรากฏการณ์สามอย่าง คือ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ในขณะเดียวกันนั้นคือ ขณะแห่งการตรัสรู้นั่นเอง

ก่อนหน้านั้นพระองค์คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

ปรากฏการณ์ใต้ต้นไม้อันได้ชื่อว่าต้นโพธิ์เมื่อภายหลัง ขณะเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ คือขณะแห่งการ “ได้รู้” แล้วนั้น ภาวะของ “ผู้รู้” ได้เกิดขึ้นแล้ว “พุทธะ แปลว่า รู้”

นี่คือการประสูติ (เกิด) ของความเป็นพุทธะ

 

พระองค์เปลี่ยนสภาวะจากความไม่รู้มาสู่ความรู้ นั่นคือ เปลี่ยนจากความเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาเป็นพระพุทธเจ้า คือผู้รู้

นี่คือการประสูติของความเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธองค์เกิดขึ้นในวาระแห่งการตรัสรู้นี้

ธรรมที่ทรงตรัสรู้ก็คือ ธรรมแห่งการดับทุกข์ ความดับทุกข์คือนิพพาน เพราะนิพพานคือสภาพของความสะอาด สว่าง สงบ ปราศจากทุกข์สิ้นเชิง

สามสภาวะนี้คือ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลในเนื่องกัน ในวาระเดียวกันทั้งสามสภาวะ

นี้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง

ทั้งไม่ขัดกับความเชื่อเดิมที่ทรงศรัทธาอยู่แล้วนั้น

ศรัทธากับปัญญานี้ต้องมีเสมอกัน ศรัทธาไม่มีปัญญาจะทำให้ “งมงาย” ปัญญาไม่มีศรัทธาก็จะทำให้เกิด “ทิฏฐิมานะ” คือสำคัญในความเห็นจนถึงทะนงตันและหลงตนจนเป็นอหังการ์ได้

 

พระพุทธศาสนา เป็นทั้งปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ดังธรรมนิยามสูตร ใจความว่า

ไม่ว่าพระองค์จะทรงเกิดมาในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมคือความจริงนั้นมีอยู่แล้ว คือความจริงที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง (อนิจจัง) สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ (ไม่ทน) ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ไม่แท้) พระองค์เพียงมาพบ มาจำแนก บัญญัติ เผยแผ่ มาแสดงและมาทำให้แจ้งด้วยพระองค์เอง

วิทยาศาสตร์ ให้ความรู้

พุทธศาสตร์ ให้ความเข้าใจ

ศาสนา ให้ความเชื่อ

ดังคำท่านเนรูห์ที่กล่าวไว้ดีนักคือ

“ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีศาสนา แต่หากให้ข้าพเจ้าเลือก ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา”