จรัญ มะลูลีม : วรรณกรรมอาหรับในยุคทอง

จรัญ มะลูลีม

ผู้พิพากษาคนหนึ่งของกรุงแบกแดดคือ อัต-ตานูคี (al-Tanukhi – ค.ศ.940-994) ได้เขียนเรื่องเล่าขึ้นมาสามเล่ม ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ให้ความบันเทิงและเป็นเอกสารชุดหนึ่งเกี่ยวกับโลกของเสนาบดี ผู้พิพากษาและผู้สูงศักดิ์ชั้นรองๆ ลงมาที่วนเวียนอยู่กับราชสำนักอับบาสิยะฮ์

ในศตวรรษต่อมา อะบู ฮัยยาน อัต-เตาฮีดี (Abu Hayyan al-Tawhidi – เสียชีวิต ค.ศ.1023) ได้เขียนบทความและตำราในหัวข้อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งกลายเป็นที่นิยมกันในหมู่นักวิชาการและนักเขียนในสมัยของเขา แต่งขึ้นด้วยรูปแบบของวรรณกรรมที่น่าดึงดูดใจ

วรรณกรรมเหล่านี้เปิดเผยถึงความรู้ที่กว้างขวางและจิตใจที่ยอดเยี่ยม ความบันเทิงเป็นจุดมุ่งหมายหลักของมะกอมัต (maqamat) ซึ่งเป็นการเขียนเชิงพรรณนาของร้อยแก้วที่มีสัมผัสใน (ชาจ – saj”) เป็นตอนต่อๆ กันมาซึ่งผู้เล่าจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ของนักหลอกลวงหรือคนเร่ร่อนซึ่งเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ

ผู้ที่นำไปสู่จุดสูงสุดของการพัฒนาร้อยแก้วแบบนี้ก็คืออัล-ฮะมาดานี (al-Hamadhani – ค.ศ.968-1110) และอัล-หิริ (al-Hariri – ค.ศ.1054-1122) เรื่องราวในชีวิตประจำวันแบบนี้ยังได้รับความนิยมอยู่ในแวดวงวรรณกรรมอาหรับจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ

การบันทึกสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีความสำคัญต่อสังคมมนุษย์ทั้งมวล แต่มันมีความสำคัญเป็นพิเศษในชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นบนความเชื่อที่ว่าเหตุการณ์ที่มีลักษณะไม่เหมือนใครจะเกิดขึ้น ในเวลาและสถานที่บางแห่งเท่านั้น

 

ก่อนการเกิดขึ้นของอิสลาม ชาวอาหรับเผ่าต่างๆ มีบันทึกทางคำพูดของพวกเขาเองเกี่ยวกับการกระทำของบรรพบุรุษของพวกเขา สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในบทกวีซึ่งตกทอดมาถึงพวกเราจากสมัยนั้นบ้างเหมือนกัน

ในศตวรรษต้นๆ ของอิสลาม ประวัติศาสตร์เป็นความสำคัญชนิดใหม่จึงเริ่มถูกบันทึกไว้ด้วยการเขียน ได้เกิดการเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันสองชนิดซึ่งเกี่ยวข้องกับกันและกันอย่างใกล้ชิด

ด้านหนึ่ง นักภาษาศาสตร์และนักชาติวงศ์วิทยาได้รวบรวมและเขียนประวัติศาสตร์ของเผ่าต่างๆ ของชาวอาหรับที่เล่าด้วยวาจาเอาไว้

สิ่งเหล่านี้มิได้มีความสำคัญแค่เพียงสำหรับการศึกษาภาษาอาหรับเท่านั้น แต่ยังอาจให้หลักฐานสำคัญที่เหมาะสม รวมทั้งคำถามที่มีอยู่จริงๆ เกี่ยวกับการแจกจ่ายของที่ยึดได้จากการพิชิตดินแดนหรือเกี่ยวกับที่ดินในถิ่นที่ไปตั้งถิ่นฐานใหม่

อีกด้านหนึ่ง มันมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตของท่านศาสดา เคาะลีฟะฮ์ท่านแรกๆ การพิชิตครั้งแรกและกิจกรรมสาธารณะของชุมชนมุสลิม ด้วยการถ่ายทอดของนักวิชาการที่มีความรับผิดชอบ บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงหรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์เรื่องขึ้นมาในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและทางศาสนวิทยา

บางทีก็มีผู้ตกแต่งต่อเติมขึ้นมาบ้าง จึงค่อยๆ มีการรวมเรื่องเล่าต่างๆ ขึ้นมา และจากสิ่งนี้วรรณกรรมหลายรูปแบบก็ปรากฏขึ้นคือการรวบรวมหะดีษ (วจนะของท่านศาสดา) และในที่สุดก็คืองานเล่าประวัติศาสตร์ซึ่งบันทึกสิ่งที่เป็นอุทาหรณ์ แต่เป็นเรื่องที่มีแก่นของความจริงอย่างมาก

การประดิษฐ์ปฏิทินอิสลามขึ้นมา การจัดลำดับเหตุการณ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฮิจญ์เราะฮ์ หรือการเริ่มนับศักราชของอิสลามนั้นได้ให้เค้าโครงงานสำหรับบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้

 

ประเพณีการเขียนประวัติศาสตร์ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์ในคริสต์ศตวรรษที่เก้า พร้อมกับการปรากฏขึ้นของประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีขอบเขตกว้างขวาง และสามารถทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างมาก มีประวัติศาสตร์ของอัล-บะลาดูรี (al-Baladhuri – เสียชีวิต ค.ศ.892) อัต-ตะบารี (al-Tabari- ค.ศ.839-923) และอัล-มัสอูดี (al-Mas”udi – เสียชีวิต ค.ศ.928)

นักเขียนดังกล่าวได้นำเอาประวัติศาสตร์ทั้งหมดของอิสลามมาเป็นเนื้อหาของตนและบางครั้งก็นำเอาเรื่องราวทั้งหมดที่พวกเขาคิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่สำคัญๆ ด้วย

ดังนั้น มัสดูดีจึงเกี่ยวข้องกับบันทึกลำดับเหตุการณ์ของคนโบราณเจ็ดชาติที่เขาถือว่ามีประวัติศาสตร์อันแท้จริง นั่นคือ ชาวเปอร์เซีย คอลเดีย กรีก อียิปต์ เติร์ก อินเดียและจีน

ข้อมูลมากมายต้องถูกจัดระเบียบ ในกรณีของประวัติศาสตร์อิสลามจัดโดยอาศัยปีต่างๆ ส่วนในประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็ใช้เกณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น การครองราชย์ของกษัตริย์

การเขียนประวัติศาสตร์จะต้องถูกตัดสินโดยมาตรฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เกณฑ์ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นโดยอิสนาด (isnad) นั่นคือห่วงโซ่ของผู้เห็นเหตุการณ์นั้นๆ และหลักฐานของพวกเขาจะไว้วางใจได้แค่ไหน?

อย่างไรก็ตาม มีเกณฑ์อื่นๆ อีกเช่นกัน อย่างเช่น บันทึกที่ถูกถ่ายทอดมานั้นอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ หรือเชื่อไม่ได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจทั่วไปในเรื่องที่ว่า ผู้ปกครองกระทำอย่างไร และสังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

อัล-บิรูนี (al-Biruni – ค.ศ.973 ถึงประมาณ ค.ศ.1050) เป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องความสนใจและความเข้าใจของเขา

งานที่มีชื่อเสียงของเขาคือเรื่อง ตะห์กิ๊ก มาลิลฮินด์ (Tahqiq ma li”l-Hind – หรือประวัติศาสตร์ของอินเดีย) นั้นบางทีอาจเป็นความพยายามที่ถาวรอันยิ่งใหญ่ที่สุดของนักเขียนมุสลิมในการที่จะไปให้ไกลกว่าโลกอิสลามและมีความเข้าใจถึงสิ่งที่มีคุณค่าในประเพณีด้านวัฒนธรรมของผู้อื่น

งานของเขามิได้เป็นเรื่องของการโต้เถียง ดังที่เขาได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในคำนำว่า นี่มิใช่หนังสือแห่งความขัดแย้งและโต้เถียงกันซึ่งแสดงข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามและแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นเท็จ สิ่งใดแท้จริงจากการโต้เถียงนั้น แต่เป็นเรื่องราวที่ตรงไปตรงมา เป็นการให้ถ้อยแถลงของชาวฮินดู และได้เพิ่มเติมด้วยสิ่งที่ชาวกรีกได้พูดถึง ในเรื่องที่คล้ายคลึงกันนั้นเพื่อที่จะได้เปรียบเทียบในระหว่างพวกเขา (M.Talbi, L”emirat aghlabide 184-296/800-999, Paris, 1960)

ความคิดทางศาสนาและทางปรัชญาของอินเดียได้ถูกบรรยายอย่างดีที่สุดว่า เนื่องจากเรากำลังพูดถึงว่ามีอะไรอยู่ในอินเดีย เราได้พูดถึงการถือไสยศาสตร์ของพวกเขา แต่เราควรจะชี้ให้เห็นทางแห่งเหตุผลและข้อโต้เถียง และผู้ที่ต้องการความจริงย่อมจะหลีกเลี่ยงการเคารพสักการะผู้ใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวหรือเคารพรูปของพระองค์ที่แกะสลักไว้

(M.Morony, Iraq after the Muslim Conquest , Princeton, 1984).

 

ในที่สุดเขาก็ได้ชี้ให้เห็นว่า

ความเชื่อของชาวฮินดูนั้นคล้ายคลึงกับความเชื่อของชาวกรีก ในหมู่ชาวกรีกก็เช่นเดียวกัน คนทั่วไปเคารพบูชาในสมัยแห่งความเขลาทางศาสนาก่อนการมาถึงของคริสต์ศาสนา แต่ผู้ที่มีการศึกษาก็มีทรรศนะคล้ายคลึงกับทรรศนะของชาวฮินดู อย่างไรก็ตาม ในด้านหนึ่งนั้นแม้แต่ชนชั้นนำของฮินดูก็แตกต่างไปจากมุสลิมดังนี้

ชาวอินเดียในสมัยของเราได้ให้ความแตกต่างอย่างมากหลายในหมู่มนุษย์ เราแตกต่างจากพวกเขาในเรื่องนี้เพราะเราถือว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน ยกเว้นในเรื่องของความศรัทธา นี่เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ระหว่างพวกเขากับศาสนาอิสลาม

(H.Djait, Al-Kufa : naissance de la ville islamique, Paris, 1986).