อนุช อาภาภิรม : ทบทวนสัมพันธภาพ “มนุษย์-สิ่งแวดล้อม” จากวิกฤตโควิด

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (28)
ธรรมชาติทางสังคมและธรรมชาติทางนิเวศของมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์สมองใหญ่ เดินสองขา รู้จักใช้เครื่องมือและไฟ มีภาษาพูดเชิงสัญลักษณ์ สื่อสารถึงเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดเฉพาะหน้า สร้างแบบแผนความเข้าใจของตนต่อโลกแวดล้อม แต่งเรื่องความเข้าใจเหล่านี้ไปต่างๆ กระทั่งเรื่องชีวิตหลังความตาย

สร้างสังคม-วัฒนธรรมที่ซับซ้อนและเป็นพลวัตขึ้น เป็นโลกแห่งความหมายและคุณค่าที่พวกเขาใช้อ้างอิงในการปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอันหลากหลาย สังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้บางส่วนก็สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง

บางส่วนก็ห่างไกลกระทั่งขัดกับความเป็นจริง

แต่ไม่ว่าจะเป็นแมวดำหรือหรือแมวขาว ขอเพียงช่วยการมีอำนาจและการอยู่รอด ก็ถือว่าเป็นแมวที่ดีได้

สังคม-วัฒนธรรมทั้งหลายได้มีการปะทะสัมพันธ์กันในหลายรูปแบบ บ้างทำลายล้าง บ้างกลมกลืนกัน หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน มีอารยธรรมที่ล่มสลายไป และมีอารยธรรมที่อุบัติใหม่ ในทิศทางที่เพิ่มความซับซ้อน และการเป็นพลวัตเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ เป็นธรรมชาติทางสังคมของมนุษย์

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ทั้งหลายจะไม่มีสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อมนุษย์ได้ศึกษาและเข้าใจส่ำสัตว์มากขึ้น ได้พบว่าสัตว์จำนวนมากต้องอาศัยความรู้ที่เรียนใหม่ ไม่ใช่เพียงความรู้ทางสัญชาตญาณที่ตกค้างมาเพื่อการอยู่รอด

เช่น การรู้จักใช้เครื่องมือของชิมแปนซี โลมาบางชนิดคิดวิธีล่าเป็นฝูงเฉพาะตน หรือกาป่ารู้จักคาบก้อนหินใส่ลงในแก้วน้ำ เพื่อดื่มน้ำที่เอ่อขึ้นมา ปูเสฉวนรู้จักมารวมตัวกันเป็นแถวเพื่อแลกเปลี่ยนเปลือกหอย นกอพยพรู้จักบินเป็นรูปตัว V เพื่อประหยัดพลังงานตามหลักอากาศพลศาสตร์

นอกจากนี้ยังพบว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อได้สังเกตนานขึ้นก็พบว่า แต่ละตัวต่างกัน มีบุคลิกของตนคล้ายมนุษย์ เช่น บางตัวกล้าและอยากรู้อยากเห็น บางตัวสงบเสงี่ยมกว่า

ซึ่งมีการศึกษาพบการมีบุคลิกภาพในสัตว์กว่า 100 ชนิด ความแตกต่างกันทางบุคลิกของสัตว์เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของฝูงในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม สังคม-วัฒนธรรมและบุคลิกของสัตว์ ไม่ได้มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตเหมือนของมนุษย์ ที่สำคัญเนื่องจากความจำกัดของส่ำสัตว์ในการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มีพลังงาน เป็นต้น น้อยกว่ามนุษย์เป็นอันมาก

สังคมมนุษย์ภายใต้บางเงื่อนไขสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เช่น เปลี่ยนจากตอนปลายของการขี่เกวียน สู่การขี่รถยนต์ และยุคต้นของการขี่เครื่องบินเจ๊ตในเวลาเพียงราว 100 ปี

 

จากการที่มนุษย์มีลักษณะโดดเด่นทางสังคมกว่าสัตว์ทั้งหลาย จึงมีนักคิดบางคนเสนอว่ามนุษย์มีธรรมชาติทางสังคม ไม่ใช่ธรรมชาติทางสัญชาตญาณเหมือนสัตว์อื่น

แปลในทางปฏิบัติก็คือ มนุษย์มีพฤติกรรมและค่านิยมตามสภาพและระดับการพัฒนาของสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัย

ดังนั้น ถ้าหากมีการจัดระบบระเบียบสังคมที่เหมาะสม เช่น ทำให้การผลิตเป็นเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อกำไรของเจ้าของปัจจัยการผลิต ก็จะสามารถสร้างสังคมที่ผู้คนมีความสำนึกทางสังคม ร่วมมือกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อเกิดขึ้นทั่วไปก็สามารถสร้างโลกที่สันติเป็นเสรีและปราศจากสงครามได้

แต่ทุกวันนี้ยังปรากฏสงครามรูปแบบต่างๆ ทั่วไป ผู้คนถูกกดขี่จองจำและอยู่อย่างไม่มั่นคงตั้งแต่การงานจนถึงอาหาร

มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามศึกษาว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว ก้าวร้าวชอบก่อสงคราม หรือเป็นสัตว์ที่รักสงบ มีความสำนึกทางกลุ่มต้องการร่วมมือกัน

นักวิชาการเหล่านี้บางกลุ่มชี้ว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ก้าวร้าว บางกลุ่มเห็นว่ามนุษย์โดยธรรมชาติรักสงบ และต่างก็ยืนยันทัศนะของตนไม่ยอมให้แก่กัน แต่ก็มีบางคนเห็นว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการ เป็นทั้งรุนแรงมากและรักสันติภาพอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษย์เป็นทั้งนักฆ่าและจำต้อง ทำให้ตัวเองเชื่องเพื่อที่จะรวมกันอยู่เป็นสังคม

(ดูบทความของ Richard Wrangham ชื่อ How humans evolved to be both shocking violent and super-operative ใน newscientist.com 13/03/2019 เป็นต้น)

 

ธรรมชาติที่ดูเหมือนขัดแย้งกันนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างยอกย้อน เช่น การเป็นผู้ร่วมมือกันอย่างยิ่งช่วยให้มนุษย์เป็นผู้ล่าได้ดีขึ้น และก่อสงครามได้อย่างที่ไม่มีสัตว์ใดทำได้เหมือน แม้แต่มด การร่วมมือกันอย่างยิ่งมักกระทำได้ดีในกลุ่มเครือญาติ ชนเผ่า เมือง แว่นแคว้นหรือรัฐหนึ่งเพื่อต่อสู้กับฝ่ายปรปักษ์

มีผู้สืบค้นว่ามนุษย์ได้ทำสงครามมาตั้งแต่ครั้งไหน พบหลักฐานจากอาวุธ ภาพวาด และการตั้งบ้านเรือนเพื่อการระวังตัว

อาจอธิบายได้ว่ามนุษย์ทำสงครามตั้งแต่ปลายยุคหินเก่าเมื่อราว 25,000 ปีมาแล้ว และสามารถกล่าวอย่างมั่นใจขึ้นว่ามนุษย์ทำสงครามครั้งแรกหลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งท้ายสุดราว 10,000 ปีมาแล้ว หลังจากมนุษย์เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวร ทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์ สังคมมีความซับซ้อนขึ้น มีความมั่งคั่งมากขึ้น ผู้คนอยู่หนาแน่น เมื่อเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ก็เป็นชนวนเพื่อแย่งชิงความมั่งคั่งและที่ดินทำกิน เป็นต้น

ในปัจจุบัน การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยิ่งมั่นคงถาวร มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สร้าง รักษาหรือรื้อถอนไปไม่ได้ง่าย เช่น ระบบน้ำประปา ระบบระบายน้ำ ข่ายไฟฟ้า ถนน รถไฟใต้ดินหรือรถไฟลอยฟ้า อาคารสำนักงาน

ผู้คนกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเมือง โลกหนาแน่นด้วยผู้คนใกล้ 8 พันล้านคนเข้าไปทุกที

แต่ละปีสร้างความมั่งคั่ง คิดเป็นจีดีพีโลกราว 80 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีบางประเทศที่พัฒนาแล้วมีจีดีพีสูงมาก ต้องสร้างกองทัพใหญ่ไว้ป้องกันตัว และบังคับชาติที่เล็กกว่า ปัญหาของสงคราม การแตกแยก ยิ่งชัดเจนกว่าสมัยใด ทั้งที่มีการตั้งองค์การเพื่อสันติภาพอย่างเช่นสหประชาชาติมาแล้ว

 

นอกจากธรรมชาติทางสังคมที่มีความซับซ้อน และไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ แล้ว มนุษย์ยังมีธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง คือธรรมชาติทางนิเวศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์มีร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น และเราก็ยิ่งไม่เข้าใจธรรมชาติด้านนี้ เนื่องจากความใหญ่โตและรายละเอียดครอบคลุมโลกทั้งใบและชีวิตทั้งมวลรวมไปถึงไวรัส

คำถามง่ายๆ ว่าไวรัสมีบทบาทอย่างไร ในระบบนิเวศโลก ก็ไม่ใช่จะตอบได้ง่ายๆ โดยไม่มีการโต้แย้ง

ไวรัสทำหน้าที่หลายอย่างในระบบนิเวศทั้งที่เราชอบ เช่น การฆ่าแบคทีเรียที่มนุษย์หาทางใช้เป็นยาทำลายแบคทีเรีย และที่ไม่ชอบ เช่น การเป็นเชื้อโรคที่มนุษย์ต้องการทำลาย

ในโลกธรรมชาติและความเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียว หากปรากฏร่วมกับสิ่งอื่นเสมอ เกิดปฏิสัมพันธ์และความเป็นไปได้ที่หลากหลายทั้งในรูปคู่ความขัดแย้งและระบบซับซ้อน สัญชาตญาณของสัตว์นั้นก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว หากมีหลายสัญชาตญาณขึ้นอยู่กับวงจรชีวิต วงจรธรรมชาติและฤดูกาล และเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป

เช่น จระเข้ที่เห็นกันว่าเป็นสัตว์ดุร้าย ก็มีเวลาที่มันคาบลูกลงน้ำอย่างอ่อนโยน

เสือบางตัวบางเวลาก็ไม่ได้ฆ่าลูกกวาง หรือลูกหมูป่า เรายังรู้ธรรมชาติของสัตว์น้อยไป

 

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มีรูปแบบใหญ่อยู่สามประการได้แก่

1) ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งมีกลุ่มย่อยอีกหลายชนิด เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ บางคนเรียกว่า เป็น “มิตรภาพในธรรมชาติ” ไม่ได้มีแบบผู้ล่าและเหยื่ออย่างที่เราถูกชี้ให้เห็นประจำ

ความสัมพันธ์แบบนี้ เช่น ไลเคนส์ ที่เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างสาหร่ายกับรา หรือแบคทีเรียที่รากต้นถั่ว แบคทีเรียช่วยตรึงไนโตรเจนให้ต้นถั่ว ต้นถั่วแบ่งอาหารให้แบคทีเรีย หรือแมลงช่วยผสมเกสรแก่ดอกไม้ และได้น้ำหวานตอบแทน หรือมดบางชนิดเลี้ยงเพลี้ยเพื่อให้ได้น้ำหวาน ยังมีนกและปลาบางชนิดกินอาหารและทำความสะอาดให้แก่สัตว์ใหญ่อื่น หรือความสัมพันธ์ปลาเหาฉลาม ที่เกาะติดตัวฉลามเพื่อให้ได้เศษอาหาร

2) ความสัมพันธ์แบบปรปักษ์ เป็นการอยู่ร่วมของสิ่งมีชีวิตที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเสียประโยชน์ แบ่งเป็นหลายชนิดย่อย เช่น ปรสิตกับผู้ถูกอาศัย โดยปรสิตเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ผู้ถูกอาศัยเป็นผู้เสียประโยชน์ เป็นความสัมพันธ์ที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่ง ว่ากันว่าไวรัสเป็นเจ้าแห่งการเป็นปรสิต แต่การปฏิบัตินี้ก็พบได้ในสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น เชื้อโควิด-19 บังคับเจาะเข้าไปในเซลล์มนุษย์ และให้บางโปรตีนในเซลล์ช่วยให้พลังงานในการแบ่งตัวแพร่จำนวนของไวรัสซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ต่างกับที่เหล่าเจ้าอาณานิคมกระทำต่อชนพื้นเมืองทั่วโลก

ความสัมพันธ์แบบปรปักษ์อีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีได้แก่ ความสัมพันธ์และผู้ล่า-เหยื่อ เช่น เสือกับกวาง ในนี้เกิดการแข่งขันอาวุธได้แก่ กวางพยายามวิ่งให้เร็วกว่าเสือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลไกในการควบคุมจำนวนผู้ล่าไม่ให้มากเกินไปจนเหยื่อโตไม่ทัน นอกจากนี้ ทั้งผู้ล่าและเหยื่อต่างต้องแข่งขันในการหาอาหาร เกิดเป็นห่วงโซ่และลำดับทางอาหารขึ้น

3) ความสัมพันธ์แบบเป็นกลางๆ การให้ประโยชน์หรือการเสียประโยชน์โดยตรงระหว่างกันไม่มาก คล้ายกับต่างคนต่างอยู่ หรือแบ่งพื้นที่กันอยู่ เช่น บ้างอยู่บนดิน บ้างในน้ำ บ้างอยู่โคนไม้ บ้างที่ปลายไม้

แต่ทั้งหมดประกอบขึ้นเป็นความอุดมสมบูรณ์หรือความไม่สมบูรณ์ของระบบนิเวศ

 

จากการที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถสร้างสังคมได้ซับซ้อนขึ้น ได้ปรากฏความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติทางสังคมกับธรรมชาติทางนิเวศของมนุษย์ที่รุนแรงมากจนถึงกับเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของมนุษย์ และสร้างความอ่อนล้าแก่ผู้คนทั้งหลายโดยเฉพาะที่อยู่ในส่วนแกนของความเจริญ

ความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่ 3 ประการใหญ่คือ

1) วิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ไปเร็วกว่าวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ เช่น กล่าวกันว่ามนุษย์มีสมองแบบมนุษย์ถ้ำแต่ว่าอยู่บนตึกระฟ้า และที่ร้ายกว่าคือมนุษย์มีอาวุธนิวเคลียร์กวัดแกว่งในมือ ขณะที่ความต้องการบริโภคยังเปิดกว้างไม่สิ้นสุด การวิวัฒน์ทางสังคมเป็นไปอย่างน่าทึ่ง มนุษย์สามารถยกระดับความซับซ้อนทางสังคม วัฒนธรรมได้ต่อเนื่องท่ามกลางการล่มสลายของอารยธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า

2) มนุษย์สามารถพัฒนาพลังการผลิตทางสังคมได้เร็วเกินกว่าการผลิตและการให้บริการที่ธรรมชาติจะมอบให้แก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สัตว์และพืชจำนวนมากหมดที่อยู่อาศัยต้องสูญพันธุ์ไป และทำให้มนุษย์ต้องเข้าสัมผัสกับไวรัสอุบัติใหม่เช่นที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ว่ากันว่ามนุษย์ต้องการโลกมากกว่า 1 ใบ เพื่อที่จะสามารถรักษามาตรฐานการครองชีพอย่างที่เป็นอยู่ไว้ มนุษย์กำลังทำตัวคล้ายไวรัสเป็นปรสิตในการทำลายระบบนิเวศโลก

3) ภาระในการแบกรับสังคมที่ซับซ้อนหนักขึ้นทุกที ทั้งสำหรับผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เกิดความอ่อนล้าไปทั่ว ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้แบบเดิม ผู้ถูกปกครองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ ประวัติศาสตร์มนุษย์ขณะนี้มีทั้งไหลรุดและไหลเอื่อย ผู้คนสับสนและแตกแยก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงศึกยืดเยื้อกับโควิด-19 กับความอ่อนล้าที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์