ต่างประเทศ : จากการประท้วงของเด็กมัธยม สู่ “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ของ “ชิลี”

จากจุดเริ่มต้นการประท้วงของกลุ่มเด็กๆ นักเรียนมัธยมที่ต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงซานติอาโกของประเทศชิลี ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2019

ลุกลามกลายเป็นการประท้วงของประชาชนนับล้านที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคม เพิ่มค่าแรง เงินบำนาญ พัฒนาระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา และเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

ในที่สุดการเคลื่อนไหวตลอด 1 ปีประสบผล เมื่อล่าสุดชิลีเพิ่งผ่านการทำประชามติคว่ำรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นตั้งแต่ยุคผู้นำเผด็จการ “ออกุสโต ปิโนเชต์” ลง และเห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

คำถามในบัตรลงคะแนนประกอบด้วยคำถาม 2 ข้อด้วยกัน คือ

1. ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

และ 2. ใครจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

โดยประชาชนลงคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย เห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรงและจะต้องไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนมีมติเห็นชอบแนวคิดนี้แบบถล่มทลายมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์

เวลานี้ชาวชิลีออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนในค่ำคืนของวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับป้ายแบนเนอร์ข้อความที่ส่งถึงอดีตผู้นำเผด็จการอย่างปิโนเชต์

“ลาก่อนท่านนายพล” รวมถึง “การลบมรดกตกทอดจากคุณจะเป็นมรดกของพวกเรา”

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศชิลี ที่แม้ถูกมองว่ามีเสถียรภาพและร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างมากมาย

คำถามคือ “ชิลี” เดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ชิลีเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1990 มีการร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนบรรยากาศที่ดีในการทำธุรกิจในประเทศ

ประเทศชิลีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระดับความยากจนลดต่ำลง แต่นั่นก็แลกมาด้วยความร่ำรวยที่กระจุกตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจละตินอเมริกาขององค์การสหประชาชาติ ประมาณการว่ารายได้ของประเทศเกือบ 1 ใน 4 นั้นไปเข้ากระเป๋าประชากรชาวชิลีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ประชาชนชาวชิลีต้องเป็นหนี้เป็นสิน ล่าสุดธนาคารกลางชิลีพบว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสัดส่วนถึง 3 ใน 4 จะต้องถูกนำไปใช้จ่ายหนี้สินที่ติดตัวอยู่

นอกจากนี้ ชิลียังมีปัญหาเรื่องระบบการศึกษา รวมไปถึงระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ขณะที่เงินบำนาญผู้สูงอายุที่มีเพียงน้อยนิดส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงานต่อไปหลังเกษียณ

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้าการประท้วงเมื่อ 1 ปีก่อน แนวความคิดเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน การประท้วงเริ่มต้นขึ้นจากความไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงซานติอาโก

กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มจากกลุ่มนักเรียนมัธยมกลุ่มเล็กๆ ที่รวมตัวกันเรียกร้องการขึ้นค่ารถไฟฟ้า ต่อมาเริ่มเข้ายึดสถานีรถไฟฟ้า การชุมนุมขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถูกเรียกจากสื่อชิลีว่า “เอสตัลลิโด” หรือการ “ระเบิด” ของสังคม

การประท้วงรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนมีการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บมากถึง 1,800 คน

นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา ลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ปิเนราตัดสินใจเสนอให้มีการเปิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยให้มีการทำประชามติถามความคิดเห็นประชาชน

 

สําหรับรัฐธรรมนูญเดิมที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายพลปิโนเชต์ในปี 1980 ผ่านการแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง

โดยในปี 2005 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยการยกเลิกข้อกฎหมายที่สำคัญๆ ที่เป็นเผด็จการลงหลายมาตรา

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมประท้วง

ขณะที่การเสนอข้อกฎหมายใดๆ ก็ตามจะต้องผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งชาวชิลีมองว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางพัฒนาการของประเทศ ขณะที่การจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางมาตราที่ร่างขึ้นในยุคเผด็จการนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แม้ว่าเสียงสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างถล่มทลาย แต่ฝ่ายคัดค้านก็มองว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชิลีประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้อาจเป็น “ความผิดพลาด” ก็เป็นได้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชิลีจะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า โดยจะมีการกำหนดให้มีสัดส่วนสมาชิกที่เป็นตัวแทนเพศต่างๆ อย่างเท่าเทียม โดยเวลานี้ยังคงอยู่ระหว่างการหารือว่าจะให้กลุ่มตัวแทนจากชนเผ่าเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่

และหลังจากนั้นจะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งในปี 2022 ต่อไป

นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยพลังของสังคมในชิลี ที่น่าจับตาว่าพลวัตทางสังคมในครั้งนี้จะนำพาชิลีไปในทิศทางใด