E-DUANG :  ทำไม “ข่าวร้าย” จึงกลายเป็น “ข่าวดี”

ทำไม “น้ำเสียง” อันมาจากคนอย่าง นายศุภชัย พานิชภักดิ์ หรือจาก นายบรรยง พงษ์พานิช จึงมากด้วย “น้ำหนัก”

“น้ำหนัก” ในทาง “เศรษฐกิจ”

ปัจจัย 1 มาจากภูมิหลังอันเป็น “รากฐาน” สำคัญในทางสังคมและธุรกิจ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เคยอยู่ “แบงก์ชาติ”

เมื่อเข้ามาเล่นการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” ในสายงาน “เศรษฐกิจ”

ทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการ “องค์การระหว่างประเทศ”

ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ WTO  ไม่ว่าจะเป็นองค์การอังค์ถัดของสหประชาชาติ

ทั้ง ณ วันนี้ ยังเป็น”ที่ปรึกษา” ของ “รัฐบาล”

ยิ่ง นายบรรยง พงษ์พานิช ยิ่งเติบโตในภาคเอกชนและเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับคสช.

เมื่อพูดอะไรผู้คนก็จะ “ล้างหู” น้อมรับฟัง

 

กระนั้น ปัจจัย 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเมืองปัจจุบัน

นั่นก็คือ เป็นการตั้งข้อสังเกตในเชิง “ลบ”

ชาวบ้านรับฟังข่าว “การตลาด” ข่าว “พีอาร์” อันเป็นความถนัดอย่างยิ่งยวดของทีมงาน ฟิลิป ค็อตเลอร์

ไม่ว่าจะเป็น “สมคิด” ไม่ว่าจะเป็น “สุวิทย์”

การที่คนอย่าง นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ถามถึงสาเหตุทำไมภาคเอกชนจึงไม่ยอมลงทุนทั้งๆที่มีเงินออมอยู่ในมือจำนวนมหาศาล จึงน่าสนใจ

การที่คนอย่าง นายบรรยง พงษ์พานิช ตั้งข้อสงสัยในเรื่องการลงทุน “จริง” จากต่างประเทศ จึงน่าฟังมากกว่าตัวเลขอันมาจากบีโอไอ

“ข่าวร้าย” จึงกลายเป็น “ข่าวดี”

 

ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ ความไม่เชื่อมั่น ไม่ว่าจะใช้คำหะรูหะรามากเพียงใด

ทั้ง “ไทยแลนด์ 4.0” ทั้ง “ไทยเฟิร์สท์”

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับสัจจะที่ว่า เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อ

คำว่า “เชื่อ” นี่แหละทรงความหมาย

เป็นความเชื่อจาก “ผลงาน” การกระทำมิใช่ “การพูด”