จรัญ พงษ์จีน : ‘ประยุทธ์’ เหลือทางรอดอะไรให้ตัวเองบ้าง?

จรัญ พงษ์จีน

ปีกว่าๆ ที่ผูกขาดอยู่บนศูนย์อำนาจ ครั้งนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ถือว่าเหลือ “แต้มบุญ” น้อยที่สุด กับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีไพ่ให้เล่นหรือสะพานให้ข้ามอยู่เพียง 2 ประการเท่านั้น คือ “ลาออก” กับ “ยุบสภา”

เกมต่ออายุ “แก้รัฐธรรมนูญ” แบบโดยพลัน หรือตั้ง “กรรมการปรองดอง-สมานฉันท์แห่งชาติ” ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว คู่ขัดแย้งมองว่าเป็นแค่สันติภาพจอมปลอม ซึ่งดีกว่าสงครามรบพุ่งไม่เท่าไหร่

จับอาการจากการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ “บิ๊กตู่” เหมือนรู้แก่ใจดีว่า การสู้รบไม่มีใครชนะทุกครั้ง ถ้าเห็นศัตรูกระปรี้กระเปร่า การจะถอยสักก้าวไม่เสียเหลี่ยมอะไรมาก จึงเป็นหนแรกที่ยอมเปล่งวาจาถึง 2 ทางเลือก

“กรณีนายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง จะเกิดอะไรบ้าง ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯ ลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเลือกนายกฯ ใหม่จากที่ประชุมรัฐสภา ต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว.ด้วย ต้องมีมติเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ต้องมี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย”

ส่วนกรณี “ยุบสภา” บอกว่า “ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเหมือนกัน สมาชิกภาพของ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน จึงไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ต้องการอะไรตรงนี้”

เช่นเดียวกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็ไม่ปฏิเสธที่จะพบกันครึ่งทาง บนเส้นทางสายปรองดอง โดยระบุว่า หากย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม มีการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและรัฐมนตรีอีกหลายคนเพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ส่วนการยุบสภา ต้องถามว่าสภามีความผิดอะไรจึงต้องยุบ แต่ถ้าเป็นความประสงค์หรือเจตนาของนายกฯ คงจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะที่การลาออกนั้น แล้วจะหาคนใหม่มาจากไหน ด้วยขั้นตอนใด”

สรุปในสถานการณ์ทางการเมือง ณ ตอนนี้ มิต่างอะไรกับม้าพยศ สารถีควบคุมบังคับแทบไม่อยู่แล้ว มี 2 ชอยส์ให้เลือกจำกัด คือ “ยุบสภา” กับ “ลาออก”

ตามไปดูช่องทางที่ 1 กรณี “ยุบสภา” เงื่อนไขทางการเมือง ลงเอยตามกลไกรัฐธรรมนูญมาตรา 167 รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง-ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง-สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือยุบสภาผู้แทนราษฎร

เอวังกันอย่างพร้อมเพรียงทั้ง “ฝ่ายบริหาร” และ “นิติบัญญัติ” ขณะที่ “วุฒิสมาชิก” ร่างทรง คสช.จำนวน 250 คนยังคงดำรงอยู่

 

ข้ามไปดูช่องทางที่ 2 กรณี “ลาออก” ต้องลงเอยตาม “บทเฉพาะกาล” ที่ลั่นดาลไว้ตามมาตรา 272 เรื่อง “การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี” มัดตราสังห้ามกระดุกกระดิกเอาไว้ว่า

2.1 ในระยะ 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การให้ความเห็นชอบซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำร่วมกันของรัฐสภา และบุคคลใดที่เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2.2 หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด สมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

“ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ โดยจะเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ยกมาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาลมาขยายผล ต่อจิ๊กซอว์ถึงบุคคล “ช่องทางที่ 1” ผู้มีอยู่ในข่าย จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ ประกอบด้วย

1. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทย 2. “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พรรคประชาธิปัตย์ 3. “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” 4. “นายชัยเกษม นิติสิริ” และ 5. “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จากพรรคเพื่อไทย

“พรรคพลังประชารัฐ” แกนนำรัฐบาล “ตู่ 2” ไม่มีสิทธิ์ เพราะเสนอชื่อมาเพียงคนเดียวคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ 5 ตัวเลือกที่เหลืออยู่จาก “บัญชีชื่อ” ไม่ว่าจะพลิกแพลงสลับฟันปลาไป-กลับ ใช้ออปชั่นไหน หาจุดลงตัวยากมาก

“ช่องทางที่ 2” ตามไฟต์บังคับ ไม่จำเป็นต้องใช้บริการ “คนใน” จากบัญชีชื่อ หมายถึง “นายกฯ คนนอก” ก็อนุมานได้ ปัญหามันอยู่ที่ “มติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ยกยอดจาก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จำนวน 500 คน “วุฒิสมาชิก” 250 คน รวมเป็น 750 คน สัดส่วนมากกว่าสองในสาม ต้องพึ่งฝักถั่วของสภาทั้งสอง จำนวน 500 ที่นั่งขึ้น

โฟกัส “คนนอก” บัญชีชื่อ ออกมาเป็นตัวบุคคล ก็ต้องร้องไอ้หยา กรรมของไอ้ทิดมันอีกก็ว่าได้

เพราะไม่ว่าจะประติมากรรมอีท่าไหน ใช้แม่มด หมอผีสำนักอะไร หวยจะออกที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ หัวหน้า พปชร.

เนื่องจาก 1. “บิ๊กป้อม” เป็นพี่ใหญ่ของ 3 ป. เท่ากับศูนย์อำนาจยังอยู่ในกำมือของบูรพาพยัคฆ์ สืบทอดได้ต่อไป

2. “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้าพรรคแกนนำ รัฐบาล “ตู่ 2” ออกแรงนิดหน่อยแค่รวมขั้วการเมืองเดิมรักษาต้นทุนเก่า “พปชร.-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” เอาไว้ให้ได้ หรือกรณีที่เบื่อขี้หน้าเกลอเก่า สำหรับคนชื่อ “ป้อม” ชั่วโมงนี้น่าจะพอสามารถญาติดีข้ามห้วยกับ “เพื่อไทย” ดึงมาทำงานร่วมกันได้

3. วุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน “ลากตั้ง” มาแท้ๆ แต่บทบาทเท่าเทียมกับผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเกือบจะทุกประการ เชื่อว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยกมือตามใบสั่ง

ผู้ที่กดปุ่มเลือกเข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ – “พล.อ.ประวิตร” มีบารมีเหนือกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ยกยอด ส.ว. 250 เสียงไปผนึกกับ “พรรคร่วม” เสียงสนับสนุนก็ปริ่มๆ 500 ที่นั่ง

ลงเอยตามช่องทางที่ 2 บทเฉพาะกาลแห่งมาตรา 272 “นายกฯ คนนอก” ตอนนี้ “พล.อ.ประวิตร” น่าจะมีภาษีมากกว่าใครเพื่อน

ส่วนในทางปฏิบัติ จะอยู่ได้กี่น้ำ ก็อีกเรื่อง