ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : “ZONES AND VERBS” แผนที่ศิลปะ การเดินทางเพื่อสำรวจพรมแดน ระหว่างศิลปะและวิถีชีวิต

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอนที่แล้วพูดถึงศิลปินสาวสุดเปรี้ยวที่ทำงานศิลปะหวือหวาท้าทายสังคมไปแล้ว คราวนี้เลยขอพูดถึงงานของศิลปินสาวอีกคน ถึงผลงานของเธอคนนี้จะออกแนวนิ่งเงียบเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาท้าทายโลกอย่างศิลปินสาวคนก่อนหน้า

แต่มันก็มีแง่มุมที่น่าสนใจและน่าค้นหาไม่น้อยเลยทีเดียว

แถมศิลปินสาวคนนี้ก็ไม่ได้เป็นคนชาติอื่นไกลที่ไหน หากแต่เป็นศิลปินไทยเรานี่เอง

เธอคนนี้มีชื่อว่า อรวรรณ อรุณรักษ์ หรือในชื่อเล่นว่า “นอย” ศิลปินสาวชาวกรุงเทพฯ

ผลงานศิลปะของเธอโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการสร้างบทสนทนากับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพยายามที่จะหลอมรวมพรมแดนระหว่างความเป็นศิลปะและความไม่เป็นศิลปะในชีวิตประจำวัน

เธอใช้เวลาหลายต่อหลายปีในการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเธอเข้าไปมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการย่างเท้าผ่านพรมแดนระหว่างประเทศเหล่านั้น

ผลงานของเธอมีความเกี่ยวข้องกับความเหมือนและความแตกต่างภายในและระหว่างวัฒนธรรม ที่ดึงดูดให้เธอเข้าไปค้นหาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมและการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในหลายประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ผลงานของเธอถูกแสดงทั้งในบ้านเราและหลายประเทศ อาทิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2014), Saigon Domaine โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม (2015), Sa/Sa Bassac พนมเปญ กัมพูชา (2015), Kanagawa Arts Theatre โยโกฮามา ญี่ปุ่น (2013), Fraclie-de-France la Plateau France (2012) เป็นต้น

ความจริงเราติดตามผลงานของเธอผ่านทางโซเชียลมีเดียมาหลายปีแล้ว คราวนี้ได้ข่าวว่าเธอจัดนิทรรศการศิลปะขึ้น ก็เลยถือโอกาสไปชมผลงานเธอเสียเลย

p noy 2

นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า ZONES AND VERBS โดยอรวรรณได้นำเสนอภาพรวมของการเดินทางส่วนตัวที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นสี่ส่วนคือ

1. “Meditating, Painting”, 2. “Cleaning, Praying”, 3. “Keeping, Waiting, Hiding” และ 4. “Growing Changing” ในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอนั้น “Zones” หรือพื้นที่ คือส่วนที่ผู้ชมต้องเดินทางโดยกายภาพข้ามผ่านพื้นที่แต่ละพื้นที่ โดยตัวศิลปินชี้ชวนให้มองความหลากหลายของพื้นที่เหล่านั้น

แต่ในขณะเดียวกันความใกล้กันของมันก็ยังช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบหลายรูปแบบ

วิดีโออันเชื่องช้าราวกับห้วงเวลาอันนิ่งงันของเธอรั้งให้คนดูหยุดดู หากต้องการจะติดตามเรื่องราวของมัน

ภาพวาดสีเทาของวงล้อขรุขระแปดวงของเธอกำหนดให้เราหยุดพิจารณาเส้นสายอันนิ่งงันราวกับผู้วาดกำลังเข้าญาณ

ภาพถ่ายของสถานที่ที่เต็มไปด้วยภูเขาของเศษหินและก้อนอิฐที่เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งในการก่อสร้างสถานที่หนึ่ง ที่ปัจจุบันมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงหรือดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

งานแต่ละชิ้นของเธอมาพร้อมกับสถานที่และเวลาเหมือนกับชื่อ “Verbs” หรือกริยา ที่ถูกสร้างขึ้นในบทสนทนากับสถานที่หลายแห่งที่เธอได้เคยใช้เวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายเดือนที่นี่ หลายสัปดาห์ที่นั่น สถานที่เหล่านี้ล้วนเคยอยู่ในช่วงกระบวนการของการเปลี่ยนรูป เมื่อศิลปินได้กลับไปเยือนที่เหล่านั้นหลังจากผ่านไปสักระยะ เธอได้พบว่าหลายสิ่งหลายอย่างถูกโยกย้าย ลบออก ปลูกสร้าง และปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่

ผลงานครั้งนี้ของเธอเสมือนเป็นการหยิบภาพจากพื้นที่จริงเข้ามาประกอบสร้างเป็นกลุ่มพื้นที่แต่ละพื้นที่ ที่ประกอบขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ชุมชน และสังคมที่กำลังพัฒนา ผสมผสานกันเป็นภาพรวมของนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ชมเกิดการตรึกตรองและติดตาม

p noy 7

“Zones กับ Verbs มันเป็นไอเดียแรกตั้งแต่คิดงานชุดนี้ขึ้นมา จริงๆ มันก็สะสมมาตั้งแต่ 2014 ถึงตอนนี้ มันต้องไปย้อนดูงานเก่าๆ ด้วย ซึ่งงานเก่าๆ มันจะเป็นลักษณะของ สถานที่ กับ ที่อยู่ และ ผู้ชมที่อยู่ในหอศิลป์ กับ คนข้างนอก

เป็นความสัมพันธ์ที่ออกไปและเข้ามา ที่มันเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

ทั้งหมดนี้มันสะสมมาทีละเล็กทีละน้อย โดยแบ่งเป็นโซนๆ อย่างโซน Cleaning Playing ซึ่งเป็นโซนของทีวี โดยจอบนสุดเป็นแม่น้ำที่มหาสารคามที่เราไปนั่งเล่นแล้วได้ยินเสียงสวด แต่เราไม่รู้มันมาจากไหน ก็ถามคนแถวนั้นเขาบอกว่ามันเป็นวัด มันเป็นเกาะ มีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด

เราก็ถามว่าจะไปยังไง เขาก็บอกว่าทุกๆ วันจะมีพระนั่งเรือมารับคนเพื่อจะไปทำบุญ

หรืองานวิดีโอเทวสถานท้าวมหาพรหมเนี่ย เราไปนั่งดูมาตั้งแต่ปี 2014-2016 เราสังเกตได้ว่า ช่วงสี่ทุ่มจะมีผู้ชายที่คอยมาทำความสะอาด เราเห็นคนเอาดอกไม้มาไหว้ ไม่ทันถึงวินาที ก็มีคนเอาไปโยนลงถังไปแล้ว

เราก็มีความรู้สึกว่า คุณไม่ตระหนักเลยเหรอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่?

มันเหมือนคนนึงก็ขอพรไป ส่วนอีกคนก็เก็บทิ้งไปน่ะ เราอยากบอกใบ้เงื่อนงำเล็กๆ น้อยๆ ของสังคมเหล่านี้ให้คนเห็น โอเค วันนี้คุณดูงานในหอศิลป์ วันอื่นคุณอาจไปค้นหาสิ่งที่อยู่ข้างนอก มันทับซ้อนกันอยู่

ทุกชิ้นคือเหมือนเราเป็นคนเอาแผนที่มาวางไว้ให้ ถ้าคุณจำที่อยู่ได้ แล้วคุณไปดูก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างภาพถ่ายที่เห็น Diamond Island ที่พนมเปญ กัมพูชา ในรูปมันยังก่อสร้างอยู่ แต่ถ้าไปดูตอนนี้มันเป็นเหมือนเอเชียทีกไปแล้ว แล้วถ้าไปค้นลึกๆ จริงๆ คือ Diamond Island เนี่ย ผู้รับเหมาเป็นเวียดนาม เงินสิงคโปร์ คนไทยเป็นสถาปนิก

ด้วยความที่เราเป็นแค่ศิลปิน ไม่ได้เป็นแค่ประวัติศาสตร์ที่จะต้องเอาข้อมูลมาให้ดูหมด แต่เหมือนเราเอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มาวางให้เขาดูเป็นนัย

Zones and Verbs Installation view (1)

ส่วนอีกโซนนึงเรียกว่า Hiding Keeping Waiting เราเลือกตอนที่เคยไปเป็นศิลปินพำนักที่โอกินาวะกับศรีลังกา เพราะเราคิดว่าสองสถานที่นี้มีความเหมือนกันตรงที่มันเป็นเมืองที่รออะไรสักอย่างอยู่

โอกินาวะมีความเจ็บปวดจากสงคราม แต่เขาก็ยังมีทหารอเมริกันตั้งฐานทัพอยู่ที่นั่น รูปที่เราเอามาให้ดูคือเขาจะมีความเจ็บปวดเยอะเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน ถนนอีกฟากของเขามันก็เป็นสถานบันเทิงสำหรับทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นภาพของโอกินาวะอีกด้านนึงซึ่งน่าเข้าไปค้นหา

ดรอว์อิ้งสองภาพนั้นเลยไม่ได้ทำเป็นลายเส้น แต่ใช้เทคนิคในลักษณะการถูระบาย เหมือนการขุดประวัติศาสตร์ขึ้นมา

ส่วนศรีลังกาเป็นตอนเหนือของจาฟนา ซึ่งใกล้กับตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีฮินดูเยอะมาก

เราก็ต้องให้คนท้องถิ่นพาไปถึงวัดพุทธที่มีเจดีย์หกสิบกว่าองค์

พอเราไปเจอวัดพุทธ เราก็ตกใจว่ามีทหารมาคุ้มกันเยอะมาก แล้วมันก็ไม่มีข้อมูลอะไรบอกเลย เรายังต้องออกมากูเกิลเลยว่าเราไปที่ไหนมาวะ

ภาพวาดตรงกลางเป็นชิ้นสุดท้ายในชุดนี้ ที่สร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เรามองฟังก์ชั่นของที่ตรงนั้นว่ามันเป็นเหมือนวัดของคนกรุงเทพฯ มันไม่ใช่วัดท้องถิ่นอย่างที่เราคุ้นเคย

คือก่อนหน้านี้เราอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธเราก็ไปบวชชีจริงๆ แต่ไม่ได้โกนหัวนะ

แต่อยู่กุฏิคนเดียว ไม่ได้บวชเอาบุญนะ แต่อยากไปเห็นระบบข้างใน เราก็เลยทำเรื่องขออนุญาตไปว่า เราอยากเข้าไปทำสมาธิในสวนโมกข์ กรุงเทพฯ

โดยการทำสมาธิของเราคือการสร้างเป็นภาพวาด เป็นการทำสมาธิในแบบของเราก็แล้วกัน เรารู้สึกว่าเราต้องการสนทนาธรรมและปรัชญาที่เราสะสมมาในสมองเราทั้งหมด

เราก็เล่าให้เขาฟังว่าเราไปโน่นไปนี่มานะ แต่ตอนนี้อยากอยู่นิ่งๆ นั่ง แล้วก็พยายามสร้างงานศิลปะที่เป็นรูปของสมาธิของเราขึ้นมาสักชิ้นนึง พอเรื่องผ่านก็ได้เข้าไปทำ ใช้เวลาหนึ่งเดือน

เราจะบอกเขาว่าเช้ากับเย็นเราจะทำวัตรกับเขา ส่วนกลางวันก็วาดรูป วนไปอย่างงี้ทุกวัน รูปนี้ตอนที่อยู่ที่โน่นคนที่โน่นก็ตีความว่าเป็นภาพของ มรรคมีองค์แปด เราก็จะได้สนทนาธรรมทุกวัน จนเราทำเสร็จเรารู้สึกว่า เออ มันแปลกนะ มันเหมือนเป็นสตูดิโออีกแบบนึง

งานทุกชิ้นเราพยายามเอาตัวเองเข้าไปใช้แล้วหยิบเอาข้อสังเกตที่คนไม่ค่อยได้สังเกตขึ้นมาพูด

จุดมุ่งหมายในการทำงานศิลปะของเราคือ เราอยากให้ประโยชน์กับคน แต่ประโยชน์ที่เราจะให้ ด้วยความเป็นศิลปิน ไม่ใช่นักวิชาการที่ค้นข้อมูลมาโยนให้โครมๆ

แต่เราสร้างพื้นที่ขึ้นมาบอกใบ้ให้คนเข้าไปค้นคว้าหาประวัติศาสตร์ เข้าไปหาพื้นที่ที่เราไปเห็นมาและคิดว่ามันสำคัญ ความควบเกี่ยวและการอยู่ร่วมซึ่งกันและกันของคน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พลาดไป ไม่ได้มอง แล้วก็แบ่งปันพื้นที่สองฝั่ง ทั้งในและนอกสถานที่แสดงงานศิลปะ อย่างตอนที่เราไปทำสวนโมกข์เราก็บอกว่าสุดท้ายงานมันจะมาอยู่ที่นี่ วันนึงคนที่สวนโมกข์อาจตามมาดูที่หอศิลป์ หรือคนที่หอศิลป์ตามไปดูที่สวนโมกข์บ้าง

เราเองก็เรียนรู้และทำการบ้านอยู่ ไม่มีบทสรุปอะไรให้คนดู อย่างชื่อของมันว่า Verbs

มันก็เป็นเหมือนกริยาที่ยังคงดำเนินอยู่ เหมือนเราเป็นนกพิราบบินไปมาแล้วเขียนเป็นรูปทรง

เป็นเหมือนกับแผนที่ในรูปแบบของงานศิลปะนั่นเอง”

อรวรรณกล่าวถึงแนวความคิดของผลงานในนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ของเธอ

 


เข้าไปชมผลงานอื่นๆ ของเธอได้ที่ www.orawanarunrak.com
ใครสนใจชมนิทรรศการศิลปะ ZONES AND VERBS ของเธอก็ไปกันได้ที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22, กรุงเทพฯ
งานจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม – 25 สิงหาคม 2016
เปิดให้ชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 14.00-18.00 น.