เปิดผลสอบอมเบี้ยเลี้ยงโควิด “บิ๊กปั๊ด” ลั่นดำเนินคดีทุกราย สังคายนาทุจริตองค์กรสีกากี

เกิดพิธีกรรมเชือดไก่ให้ลิงดู ก่อนมีการสรุปผลตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นร้อน “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด-19” เช่น ที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

พล.ต.ต.ธรรมนูญ ประยืนยง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช สั่งเด้ง พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล ผกก.สภ.ทุ่งสง และ พ.ต.ต.สุนิตย์ ยกชม สารวัตรธุรการ สภ.ทุ่งสง มาปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ บก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช หลังถูกร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงตำรวจช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่จ่ายให้ข้าราชการตำรวจที่ลงนามรับเงินเต็มจำนวน แต่ได้รับคำสั่งให้มีการนำเงินที่ได้รับ 15,000 บาทส่งคืน โดยอ้างว่าเป็นนโยบายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

อีกแห่ง พล.ต.ต.ชาญชัย พงษ์พิชิตกุล ผบก.ภ.จว.สุรินทร์ สั่งเด้ง พ.ต.อ.วิทวัส แสงสว่างสถิตย์ ผกก.สภ.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ปฏิบัติราชการที่ ศปก.ภ.จว.สุรินทร์ โดยขาดจากตำแหน่งและหน้าที่ทางต้นสังกัดเดิม

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

นำสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังของปากท้องตำรวจชั้นผู้น้อย ด้วยการสังคายนาทุจริตในองค์กรสีกากีครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

ปฐมบทจากตำรวจชั้นผู้น้อยโพสต์ร้องทุกข์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่าถูกอมเบี้ยเลี้ยงที่ต้องได้รับจากการไปปฏิบัติงานตั้งด่านสกัดโควิด-19

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) มีคำสั่งไปถึงผู้บัญชาการทุกหน่วย ตรวจสอบข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 กรณีข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่เบิก หรือไม่ได้รับเงินตามที่มีการเบิกจ่ายจริง หรือมีการโอนเงินเข้าบัญชี แล้วให้ข้าราชการตำรวจเบิกเงินแล้วนำเงินมาคืน

โดยสั่งตรวจสอบให้ครบถ้วนทุกประเด็น ว่ามีการเบิกจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติจริงหรือไม่

หากพบว่าไม่มีการเบิกจ่ายจริง หรือพบว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดบกพร่องหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตดังกล่าวให้ดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาตามอำนาจหน้าที่ และให้รายงานผลให้ทราบภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่ง

9 ตุลาคม 2563 จตช.แต่งตั้ง พล.ต.ท.อดิศร์ งามจิตสุขศรี รองจเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 9) เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมคณะทำงานอีก 15 ราย และตั้งชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 10 ชุด ชุดละ 5 นาย ลงไปตรวจสอบหาพยานหลักฐานต่างๆ

เช่น หลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานนอก ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เป็นต้น

ใช้เวลาตรวจสอบกว่า 20 วัน ได้บทสรุปว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง โดยดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบในหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9

เมื่อแยกความผิดตามท้องที่ พบดังนี้

ตำรวจภูธรภาค 1 พบที่ จ.สระบุรี จ.นนทบุรี ตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว

ตำรวจภูธรภาค 3 พบที่ จ.สุรินทร์

ตำรวจภูธรภาค 4 พบที่ จ.เลย สภ.ท่าลี่ และอื่นๆ, สภ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และหลายท้องที่ จ.มหาสารคาม

ตำรวจภูธรภาค 5 พบที่ จ.เชียงราย

ตำรวจภูธรภาค 8 พบที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดนสั่งภาคทัณฑ์ไปแล้ว

และตำรวจภูธรภาค 9 พบที่ จ.พัทลุง

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวว่า ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกชั้นยศชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ตามหลักต้องโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่โดยตรง หากโอนไปบัญชีอื่นใดก็ผิดหมด เพราะมีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน จะมอบอำนาจให้คนอื่นโอนไม่ได้

ตอนนี้พบผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็น “เจ้าหน้าที่การเงิน” ที่โอนเงินไปไม่ตรงบัญชีผู้รับ หรือโอนไปแล้วบังคับให้ทอน ถอนเงินมาเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่การเงิน ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่การเงินในหน่วยที่พบการกระทำความผิดทุกราย

ส่วนจะมีการซัดทอดไปถึงใครก็ว่าไปตามขั้นตอน ต้องดูว่าเป็นการจงใจหรือผิดพลาด แต่หากผิดพลาดเป็น 100 ราย ฟังได้หรือไม่

“ยืนยันว่าเป็นความผิดรายบุคคล ยังไม่ใช่เครือข่าย บางแห่งอาจจะทุจริตทั้งจังหวัด บางแห่งอาจเฉพาะโรงพัก” จเรตำรวจแห่งชาติกล่าว

และว่า สำหรับในกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ต้องดูว่ามีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจในม็อบหรือไม่ ทั้งนี้ มีโรงพักที่ร้องเรียนมาไม่ถึงสิบแห่ง ยังมีหน่วยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ร้องเรียนเข้ามา แต่ก็ต้องตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมดเช่นกัน

พล.ต.อ.วิสนุกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเวลาทำงานใน 60 วันหรือเร็วกว่านั้น หากไม่ทันก็ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหา หาเหตุผลมาหักล้าง และตั้งกรรมการตรวจสอบว่าผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ โทษสูงสุดคือสั่งปลดออกจากราชการ และคดีอาญาก็ต้องยื่นเรื่องไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

สำหรับเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งให้ผู้บัญชาการทุกหน่วยที่รับงบประมาณไป ดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกราย พร้อมตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าตำรวจที่ทำงานตั้งด่านต้องได้เบี้ยเลี้ยงเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ถึงตอนนี้ผลการสอบทุจริต แม้จะยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ได้เห็นผู้บังคับบัญชาออกมาชำระล้างขบวนการเพื่อเอาเบี้ยเลี้ยงคืนให้ตำรวจชั้นผู้น้อย

เป็นจุดปรับเปลี่ยนองค์กรให้เกิดความโปร่งใส ตามนโยบาย ผบ.ตร.คนใหม่ให้ไว้เมื่อ 2 ตุลาคม 2563 ว่า

“เราต้องดูแลซึ่งกันและกันให้ดี ถ้าเราไม่ดูแลกันเอง ก็ไม่มีใครมาดูแลเรา”