สุทธิชัย หยุ่น | ถึงยุค “นักข่าว AI”

สุทธิชัย หยุ่น

ถ้าวันหนึ่งในอนาคตอันไม่ไกลนัก สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยงานมีความชาญฉลาดมากพอที่จะทำงานแทนคนได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

เพราะสามารถจะเป็น “ผู้ช่วย” เรา

งานใดที่น่าเบื่อซ้ำซาก เราก็สอนให้เทคโนโลยีทำแทนเรา

เราจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า สร้างสรรค์กว่า

แต่ถ้าหากสิ่งที่มนุษย์สร้างนั้นเกิด “ฉลาดเกินมนุษย์” เพราะเราสอนให้มันไม่เพียงแค่ทำแทนเราเท่านั้น แต่มันยังเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนคิดแทนเราได้

คือไม่เพียง “ทำแทน” เราเท่านั้น แต่ยัง “คิดและตัดสินใจแทน” เราได้ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้น

พอเราสอนให้หุ่นยนต์คิดแทนเรา และวิเคราะห์ข้อมูลที่เราป้อนให้จนตัดสินใจอะไรบางอย่างแทนเราได้ โลกจะก้าวเข้าสู่อีกสถานะหนึ่งอย่างน่าสนใจ

บางคนบอกน่ากลัว อีกบางคนบอกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence หรือ AI

ศัพท์แสงที่ใช้กันอยู่วันนี้มีตั้งแต่ Machine Learning ไปถึง Deep Learning

ผมเองได้ทดลองเข้าสู่โหมดของการลองสอนให้ AI เลียนเสียงของผมจนสามารถ “พูดแทน” ผมได้

กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า Suthichai AI

ผมมาเล่าให้ฟังเพื่อจะได้เข้าใจว่าโลกเทคโนโลยีกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจอย่างไรบ้าง

ผมยังไม่ตัดสินว่าถ้า AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถจะคิดแทนและตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ น่าจะเป็นเรื่องดีหรือน่ากลัว

เพราะผมกำลังเกาะติดความเคลื่อนไหวด้านนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อจะสามารถประเมินได้ว่าคนทำสื่ออย่างผมจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเขย่าวงการการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์อย่างน่าตื่นเต้นอย่างไร

AI เคยเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พูดคุยกันในวงแคบๆ เพราะเป็นเรื่องเทคนิคที่ความสนใจถูกจำกัดวงอยู่ในคนบางกลุ่มเท่านั้น

วันนี้ AI กำลังกลายเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน

พรุ่งนี้มันจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจไม่ใช้หรือไม่สนใจไม่ได้อีกต่อไป

เพราะ AI กำลังจะกลายเป็นวิถีแห่งโลกยุคดิจิตอลที่กำลังมาสร้างความ “ป่วน” ไปทั้งโลก

คนที่ไม่กลัวความป่วนเท่านั้นที่จะสามารถฝ่าข้ามความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงและรุนแรงนี้ได้

คนที่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ในอาชีพและชีวิตประจำวันเท่านั้นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้

หนังเรื่อง “คนเหล็ก 2029” (The Terminator) ทำให้เราเห็นว่าคนที่กดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์นั้นเป็นมนุษย์

เหตุของการตัดสินใจของคนที่ต้องการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามจะเป็นอย่างไรก็พอจะวิเคราะห์ที่มาที่ไปแล้ว

แต่ลองวาดภาพว่าหากวันหนึ่ง AI ฉลาดถึงขั้นที่ตัดสินใจแทนคนได้ว่าจะกดปุ่มนิวเคลียร์เองได้โดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากมนุษย์ จะเกิดอะไรขึ้น?

เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถควบคุมพฤติกรรมของ “ปัญญาประดิษฐ์” ได้มากน้อยเพียงใด

หรือหากวันหนึ่งมันฉลาดกว่ามนุษย์ และสามารถ “ตัดสินใจ” เองได้ว่าจะไม่ฟังคำสั่งของคนต่อไป โลกจะเป็นเช่นไร?

สำหรับวันนี้ สิ่งที่ผมสนใจคือการใช้ AI สร้างเนื้อหานำเสนอต่อคนทั่วไปได้ด้วยการแปรตัวหนังสือเป็นเสียง

ไม่ใช่เพียงเสียงเฉยๆ แต่เป็นเสียงของผมเองที่ออกมาฟังดูเหมือนเสียงผมเองเกือบเต็มร้อย

อีกทั้งยังมีจังหวะการพูดและลีล่าท่าทางคล้ายกับผม

โดยที่ผมไม่ต้องพูดเอง

เพียงเขียนข้อความป้อนเข้าไป เจ้า Suthichai AI ก็จะสามารถนำเสนอเสมือนหนึ่งเป็นตัวจริงของผม

ผมกำลังทดลองดูครับว่ามันน่ายินดีหรือน่ากลัว

เมื่อมีนักวิจัยรุ่นใหม่ติดต่อผมมาเมื่อหลายปีก่อน ขอตัวอย่างเสียงผมในการวิเคราะห์ข่าวย้อนกลับไปหลายๆ ปีเพื่อเป็น “แม่แบบ” ที่จะสามารถทำให้ “ข้อความ” อะไรก็ได้ถ่ายทอดเป็น “เสียงและลีลา” ของผม

ฟังดูน่ากลัว น่าตื่นเต้นและน่าตกใจพร้อมๆ กัน

จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว Suthichai AI

เป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC ประจำปี 2562 ที่ผ่านมา (NECTEC-ACE 2019)

นอกจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC จะเปิดตัว “ยูสเคส” (use case) ต่างๆ ที่น่าสนใจของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้ว

ยังมีการเปิดตัว “นักข่าว AI คนแรกของประเทศไทย” หรือที่เขาเรียกว่า “สุทธิชัย AI”

เป็นฝีมือการวิจัยและพัฒนาจากเทคโนโลยี AI ที่สามารถคุยตอบโต้สื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างไหลลื่นเหมือนมนุษย์จริงๆ

ก่อนอื่นต้องแจ้งก่อนว่าผมไม่ได้อยู่ในงานวันนั้น

แต่ Suthichai AI ได้พูดคุยตอบคำถามกับ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์ NECTEC บนเวทีเสมือนหนึ่งมีผมมาร่วมงานด้วย

วันนั้น Suthichai AI บอกว่า “AI คือปัญญาประดิษฐ์แห่งยุคดิจิตอล ตัวผมเองก็เกิดจากงานวิจัยที่ทาง NECTEC พัฒนาขึ้น ผมขอประกาศตัวเป็นนักข่าว AI คนแรกของประเทศไทย”

บนเวทีวันนั้น Suthichai AI คุยเลยว่าเขากำลังจะปฏิวัติโลกข่าวสารครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการนำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและน่าตื่นเต้นตลอดเวลา

“สุทธิชัย AI คือตัวตนของผม สักวันหนึ่งสุทธิชัย AI อาจจะมีอารมณ์และจิตวิญญาณของสุทธิชัยตัวจริงก็ได้ วิกฤตคือโอกาส ผมทำข่าวมาเกือบ 50 ปีหรือค่อนชีวิต แต่ไม่มีช่วงเวลาไหนที่น่าตื่นตาตื่นใจเท่ากับตอนนี้ เพราะวันนี้คือ AI Journalism ที่จะทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ เจาะถึงแก่น และไร้ข้อจำกัด

“สุทธิชัย หยุ่น กับสุทธิชัย AI เหมือนเป็นคนเดียวกัน แถมยังเล่าข่าวได้มากกว่าเดิม ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ก็ทำหน้าที่นักข่าวได้ ผมจะใช้เทคโนโลยี AI ยกระดับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น”

นักวิจัยพัฒนาของ NECTEC บอกว่าความพิเศษและจุดประสงค์ในการพัฒนาสุทธิชัย AI ขึ้นมาคือการลดช่องว่างในการรับรู้ของทุกชุมชนทุกประเทศ สร้างความเท่าเทียมการเข้าถึงข้อมูลและการวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นที่มีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

โดย AI ตำนานนักข่าวสุทธิชัย หยุ่น ยังสามารถรายงานข่าวด้วยภาษาถิ่นไทยได้สูงถึง 3 ภาษาได้แก่ กลาง เหนือ และอีสาน ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้พูดภาษาถิ่นใต้ได้ด้วย

ภายในงาน ดร.ชัยยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม AI For Thai อันเป็นพื้นที่ที่รวบรวมเอาผลงานวิจัยด้าน AI มาเผยแพร่ในรูปแบบ Open API

เพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดสร้างแอพพลิเคชั่นของตัวเองเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจและสังคม

Suthichai AI คือหนึ่งในนวัตกรรมที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้

และมันคงไม่จบลงเพียงแค่นี้ เพราะในต่างประเทศมีการใช้ AI สร้างเนื้อหานำเสนอมากขึ้นทุกวัน

BBC ของอังกฤษใช้ AI ในการนำเสนอข่าว

NHK ของญี่ปุ่นใช้ AI ในการผลิตเนื้อหาทางทีวีที่เรียกว่า “สมาร์ตโปรดักชั่น”

อีกบางสื่อใช้ AI จัดผังรายการทีวี

บางสื่อใช้ AI แนะนำคอนเทนต์และทำโฆษณา

การถ่ายทำและตัดต่อโดย AI กำลังเป็นกระแสในหลายสื่อ

วงการภาพยนตร์, ดนตรี, วรรณกรรมและศิลปะ, เกม, การศึกษาก็เริ่มใช้ AI เช่นกัน

อีกบางวงการใช้ AI วิเคราะห์หุ้น

ผมจะไม่แปลกใจหากวงการผลิตอาวุธจะเริ่มใช้ AI ในกระบวนการผลิตและการบังคับกลไกปฏิบัติการ

และนั่นเป็นที่มาของความกังวลว่า หาก AI ฉลาดขึ้นจนอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์

หาก AI กำหนดเองว่าใครคือศัตรูที่ต้องทำลายล้าง และใครคือมิตรที่ต้องปกป้อง…มนุษย์จะอยู่กันอย่างไร?

นี่คือคำถามใหญ่ที่ต้องหาคำตอบกันโดยเร็ว!