สลายม็อบ : ตร.เป็นจำเลย ? เสียงสะท้อนหน้าที่ “ผ้าขี้ริ้ว” ไม่ใช่ “ขี้ข้าเผด็จการ” แต่ “ขี้ข้า กม.”

ภาพตำรวจควบคุมฝูงชนถือโล่ กระบอง และใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าบังคับใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณแยกปทุมวันจากม็อบนักศึกษา คณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุมที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่มีเพียงมือเปล่าหรือไม่

หลังจบปฏิบัติการดังกล่าว ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ กอร.ฉ. ได้ออกมาแถลงว่า เนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตำรวจได้ปฏิบัติการควบคุมฝูงชนตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด มีการแจ้งเตือนทางวาจาหลายครั้งให้ยุติการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำและคำสั่งเจ้าหน้าที่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก มีหลักการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามความจำเป็นเหมาะสมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามหลักสากล

ส่วนเรื่องการใช้สารเคมีผสมน้ำก็เพื่อระงับยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยุติและล่าถอยออกไป ซึ่งสารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตราย แต่จะส่งผลกระทบต่อผิวหนังให้เกิดอาการแสบร้อน

ซึ่งสามารถใช้น้ำล้างเพื่อบรรเทาอาการได้

จากถ้อยแถลงดังกล่าว เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟเข้าไปในกองเพลิงให้คุกรุ่นมากขึ้น ตำรวจกลายเป็นจำเลยสังคม เป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน หนำซ้ำยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาล จนถูกก่นด่าว่าเป็น “ขี้ข้าเผด็จการ”

ด้านสังคมตำรวจ ต่างแชร์คลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย เล่าเรื่องราวการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 15 ปี มีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง และทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ตำรวจมักกลายเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชนอยู่เสมอ

พร้อมติดแฮชแท็ก #saveตำรวจ

รวมทั้งแชร์ข้อความเรื่อง “ตำรวจกับผ้าขี้ริ้ว” มีใจความตอนหนึ่งว่า บางเรื่องตำรวจก็ถูกสังคมมองว่าทำตัวสกปรก สังคมรังเกียจ แต่จุดยืนของตำรวจก็คือ จรรยาบรรณ อุดมการณ์ ที่จะทำให้สังคมสะอาด ถ้าบ้านไม่ต้องมีผ้าขี้ริ้ว สังคมก็ไม่ต้องมีตำรวจ

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การชุมนุมไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้มีคำสั่งให้ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนถึง 31 ตุลาคม 2563

ทว่าการมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ตำรวจต้องทำงานภายใต้ความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นจากสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือแม้แต่เรื่องที่ต้องห่างครอบครัวมาไกล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม จึงสมควรได้รับการดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก อย่างเหมาะสม

ขณะที่ตำรวจ คฝ.ที่มาปฏิบัติหน้าที่ต่างแชร์ภาพที่พัก ภาพอาหารแลกเปลี่ยนกัน มีหลายหน่วยต้องกางเต็นท์นอนในวัด บางหน่วยได้กินข้าวกล่องที่ไม่สมกับราคางบประมาณมา กล่องละ 50-60 บาท

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ เหมือนกับคำเปรียบเปรยที่ว่า “ผักหนึ่งไร่ ไก่หนึ่งตัว”

จากเสียงสะท้อนของตำรวจชั้นผู้น้อย ดังไปถึงผู้นำสีกากีอย่าง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เปิดเผยว่า พยายามหาที่พักและอาหารให้ดีกว่านี้ และได้รับคำชี้แจงจากทางนครบาลว่า สำหรับอาหาร ได้มีการประกวดร้านค้าเข้ามา แต่ร้านไหนที่ถูกร้องเรียน ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ตัดออกและเปลี่ยนร้านใหม่ ซึ่งกำชับให้ไปหาร้านที่ดีกว่านี้มา

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวอีกว่า ฝากไปถึงผู้บังคับบัญชาทุกคนว่าต้องดูแลลูกน้องเราเอง ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่มีใครดูแลเรานอกจากเราดูแลกันเอง และฝากไปถึงเพื่อนๆ ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยว่า ผู้บังคับบัญชาจะพยายามทำให้ดีกว่านี้

ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยงของตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ ขอให้เรื่องเบี้ยเลี้ยงโควิดเป็นบทเรียน หวังว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว หากเกิดขึ้นซ้ำอีกก็ต้องลงโทษตามพยานหลักฐาน

“ผมเห็นใจเขา เป็นห่วงเรื่องที่พัก ที่อยู่ ที่กิน บางคนได้รับรายงานมาว่าเป็นเกาต์ เพราะกินไก่ 3 มื้อ ผมก็ให้หมอโรงพยาบาลตำรวจไปตรวจเยี่ยมดูแล เราต้องดูแลกัน ผมเชื่อว่าตำรวจส่วนใหญ่ที่มา เพราะเขาเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือมาทำหน้าที่ เขาไม่รู้หรอกว่าใครเห็นด้วยกับใคร เขามาทำหน้าที่รักษากฎหมาย ไม่ได้มาสู้รบกับใคร ก็ขอให้เข้าใจ บางทีเราไปพูดกับลูกน้องก็อยากให้เขาผ่อนคลาย ให้เขาสบายใจ เพราะมันมาจากประสบการณ์ในชีวิตผมเองที่ทำมา เราไม่ได้ตั้งเป้าให้ลูกน้องไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่เราอยากให้เขาเข้าใจผู้บังคับบัญชาว่า เมื่อมีหน้าที่ต้องทำ เราก็ต้องทำไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ อยากให้เขาคิดแบบนั้น และผมเชื่อว่าลูกน้องส่วนใหญ่คิดแบบนั้น”

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว

ถามว่ากดดันหรือไม่ที่สังคมตำหนิตำรวจว่าเป็น “ขี้ข้าเผด็จการ”

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า เราเป็น “ขี้ข้าของกฎหมาย” ที่บังคับให้เราทำอยู่ วันนี้ถือกฎกติกาบ้านเมือง ถามว่ามีกฎกติกาอื่นให้เราเลือกหรือไม่ วิธีการบริหารราชการปัจจุบันเป็นแบบนี้ ก็ต้องยึดถือ ไม่ยึดถือตรงนี้แล้วใครจะยึดถือ เราเป็นคนรักษากติกาของคนทั้งประเทศ ของคนทุกฝั่ง หากเราไม่ทำก็ไม่มีคนอื่นทำ

อย่างไรก็ตาม แม้ตำรวจจะยืนหยัดในอุดมคติที่ว่า “อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก”

แต่การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้ ตำรวจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสากล ไม่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ