ศัลยา ประชาชาติ : ม็อบดาวกระจายทั่วประเทศ ธุรกิจหวั่นซึมยาว “กำลังซื้อ-เชื่อมั่นทรุด”

เหมือนเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 26-27 ตุลาคม ตามข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจ นักวิชาการ และหลายภาคส่วนในสังคม ที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาในแบบ “สันติวิธี”

เพราะห่วงว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 กับแนวร่วม ปรับรูปแบบการเคลื่อนไหวเรียกร้องในลักษณะม็อบดาวกระจายทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ต่างจังหวัด พร้อมตอกย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และการปฏิรูปสถาบัน

ในมุมของภาคธุรกิจ การชุมนุมเรียกร้องของคณะราษฎรไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยเคยผ่านประสบการณ์สารพัดม็อบ อุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง นปช. กปปส.

แต่จุดแตกต่างของการชุมนุมครั้งนี้กับทุกครั้งคือ ปรากฏการณ์เสมือนหนึ่งเป็นสงครามระหว่างเจเนอเรชั่น “ลุง-หลาน” ที่ต่างกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา มุมมองต่อข้อเรียกร้อง แนวทางแก้ปัญหาจึงค่อนข้างตีบตันไร้ทางออก ไม่แปลกที่หลากหลายประเด็นถูกโหมกระพืออย่างรวดเร็ว ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล เครื่องมือสื่อสารที่คนรุ่นใหม่ นิสิต-นักศึกษานำมาใช้ได้อย่างทรงอานุภาพ

แม้ภาพการเคลื่อนไหวชุมนุมจะ “ไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ธรรมดา” อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหัวปั่น

 

ตัวแทนนักธุรกิจต่างชาติอย่าง “นายสแตนลีย์ คัง” ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ยอมรับว่า กระแสม็อบทำให้นักธุรกิจต่างชาติโทรศัพท์สอบถามถึงสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทยว่าปลอดภัยดีหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันว่าแม้ยังมีม็อบอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แต่ประเทศไทยมีความปลอดภัย ยังสามารถเดินทางภายในประเทศ และประกอบธุรกิจได้

ในฐานะนักธุรกิจต่างชาติที่ผ่านวิกฤตการเมืองไทยมานานนับ 10 ปี “สแตนลีย์ คัง” มองว่า ครั้งนี้ไม่ได้รุนแรงเทียบเท่ากับที่ผ่านมา แต่เหตุที่ “ไทยรวนหนัก” เพราะต้นปีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เมื่อเกิดวิกฤตม็อบคณะราษฎร จึงเป็นสถานการณ์พิเศษ คือโดนหนักเป็นพิเศษ มีวิกฤตซ้อนกัน 3 ชั้น ที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้

“สแตนลีย์ คัง” เปรียบเทียบให้เห็นว่า นักธุรกิจต่างชาติมองเรื่องการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน และกำลังจับตามองว่าไทยจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใด ใช้ระยะเวลานานเท่าไร จุดสำคัญคนไทยต้องหันมาคุยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก

การเปิดสภา ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยสภาจะต้องหาสูตรแก้ไขปัญหา หาโซลูชั่นที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปีนี้มีโอกาสที่การเติบโตของจีดีพีจะติดลบกว่า 10% จากที่หลายสำนักเคยประมาณการว่าจะติดลบ 7-8% เพราะตัวเลขจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักหายไป ขณะที่รายได้จากการส่งออกไม่สามารถทำได้เหมือนทุกปี จากภาวะเศรษฐกิจที่โลกชะลอตัว นำมาสู่ปัญหาคนว่างงาน บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ ลามสู่ปัญหาปากท้อง

สอดคล้องกับมุมมองของนักธุรกิจไทยแถวหน้าหลายคนที่มองว่าต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง ก่อนจะลุกลามขยายวงเอาไม่อยู่ ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนหลังโควิด

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แม่ทัพค่ายมิตรผล กล่าวว่า เรื่องการเมืองทั้งสองฝ่ายต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน การเปิดสภาเพื่อใช้กลไกระบอบประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ทั้งสองฝ่ายต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีเป็นหลัก หากไม่สามารถคลี่คลาย ไม่ใช่จะกระทบแค่เศรษฐกิจไตรมาส 4 เท่านั้น แต่ให้มองภาพระยะยาวจะกระทบทำให้การลงทุนลดลง เพราะประเทศไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่น

ขณะที่เจ้าสัวบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล ย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งยุติเร็วยิ่งดี ความเชื่อมั่นจะกลับมา และทุกอย่างจะดีขึ้นได้ หาก “ทุกคนมีทางออกร่วมกัน”

 

ส่วน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่าการบริหารจัดการความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องเข้าใจว่าทุกที่มีปัญหา แต่ต้องรู้จักประนีประนอม ความเห็นที่แตกต่างคนละเจเนอเรชั่น ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจและให้อภัยเด็ก นี่คือลูกหลานที่จะเป็นอนาคตของประเทศ

ขอให้นึกถึงตอนที่เราเป็นวัยรุ่นก็อยากแก้ไขปัญหาให้เร็วเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่า ถ้าคุณ Action อะไรก็จะได้รับ Re-Action อย่างนั้นกลับมา “แรงมา-แรงกลับ” ฉะนั้น ต้องปรับมายด์เซ็ตใหม่ จากที่ต้องให้มีฝ่ายผิด-ฝ่ายถูก อาจไม่ได้อีกแล้ว

แนวทางการเปิดสภา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหานี้ อาจนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่อาจยังไม่พอ จำเป็นต้องมีแนวทางที่ 2 คู่ขนานกับสภา โดยเปิดให้มีการเจรจา ซึ่งอาจจะมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สองฝ่ายให้การยอมรับมาทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” เพื่อเจรจาทางออกร่วมกันว่า ประเด็นข้อเรียกร้องอะไรแก้ได้ หรือแก้ไม่ได้ หากแก้ไขได้มากหรือน้อยอย่างไร ปฏิรูปอย่างจริงจัง ถอยกันคนละก้าวจะนำไปสู่ทางออก รอมชอม ใช้สันติวิธี และขอให้ไว้ใจกัน “อย่าตั้งข้อสงสัยกันว่ามีใครอยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนอีกฝ่าย”

ดร.นิพนธ์เน้นย้ำว่า “ถ้าการเมืองไม่หยุด เศรษฐกิจก็เดินต่อไม่ได้” ตอนนี้เศรษฐกิจไทยบาดเจ็บ ปากท้องบาดเจ็บ ต่างประเทศขยาด เอือมระอา เพราะทะเลาะกันประจำ แน่นอนว่าในด้านเศรษฐกิจที่ติดลบอยู่แล้ว อาจจะมากกว่า 8% ที่คาดการณ์ไว้

แต่ที่น่าห่วงคือ วิกฤตครั้งนี้ประเทศไทยพังจากฐานราก ต่างจากปี 2540 ที่เป็นวิกฤตของคนมีเงิน แต่ตอนนี้คนไม่มีงานทำจำนวนมาก นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ ต้องแก้ปัญหานี้ก่อน ไม่เช่นนั้น อีก 3 ปี ไทยจะเงยหัวขึ้นมาไม่ได้