วิเคราะห์ : 22 ปี ปมมลพิษคลิตี้ สังคมเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ถ้าเริ่มนับหนึ่งเมื่อปี 2541 จนถึงวันนี้ ปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ตำบลชะแก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ทอดยาวมานาน 22 ปีแล้ว กระนั้นปัญหาสารพิษตกค้างและผลกระทบกับระบบนิเวศกลับไม่ได้บรรเทาเบาบางลงเลย มิหนำซ้ำรัฐยังละเลงเงินกว่า 500 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูสภาพอีกต่างหาก

“คลิตี้” จึงเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ารัฐล้มเหลวในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

การอนุมัติให้เอกชนเข้าไปทำเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ในพื้นที่ใกล้ลำห้วยคลิตี้ เพราะมองแค่ประเด็น “เศรษฐกิจ” ว่า แหล่งแร่ตะกั่วในบริเวณแห่งนั้นจะช่วยสร้างรายได้เข้ารัฐ

แต่ในมิติอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านสุขภาพและวิถีชุมชนที่อยู่อาศัยบริเวณลำห้วยคลิตี้ รัฐกลับมองข้าม

ความจริงแล้ว ถ้ารัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเป็นเบื้องแรก โอกาสที่ “คลิตี้” จะเกิดเรื่องเลวร้ายเช่นนี้แทบเป็นไปได้ยาก

น้ำปนเปื้อนสารตะกั่วในบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่จากโรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะรั่วไหลไปสู่ลำห้วยคลิตี้เป็นไปได้น้อยมาก

ชาวบ้านอยู่รายรอบลำห้วยคลิตี้ซึ่งมีระยะทางยาว 19 กิโลเมตร ได้ใช้น้ำใสสะอาด ได้จับปู-ปลา สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่แหวกว่ายอยู่ในลำห้วยคลิตี้ เก็บกินพืช-ผักอย่างสบายใจ

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลก เมื่อพายุฝนถล่มบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงแต่งแร่ ตั้งอยู่ริมลำห้วยคลิตี้ในปี 2541 จนบ่อพังทลาย

กากแร่จำนวนมากไหลลงสู่ลำห้วย เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ

 

เวลานั้นมีการตรวจสอบปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วทั้งหมดในน้ำบริเวณด้านใต้ของโรงแต่งแร่ พบว่าอยู่ระหว่าง 402-65,771 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ปลามีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อน 6-82 เท่า

ปูมีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานฯ 223-452 เท่า

หอยมีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานฯ 125 เท่า

กุ้งมีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานฯ 130 เท่า

ส่วนชาวคลิตี้ที่อาศัยในหมู่บ้านคลิตี้ล่างหลังบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงในทุกช่วงอายุระหว่าง 23.56-26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทั้งที่กรมอาชีวอนามัยสำรวจระดับสารตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปในปี 2538-2539 อยู่ที่ 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ชาวคลิตี้เจ็บป่วยเนื่องจากมีสารตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกาย เพราะต้องใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้เพียงแห่งเดียว ไม่มีทางเลี่ยงอื่น

ทุกคนต้องตักน้ำจากลำห้วยไปใช้อาบ-กิน จับสัตว์น้ำและเก็บพืช-ผักไปปรุงเป็นอาหารประทังชีวิต

 

เมื่อชาวคลิตี้ 150 คนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมจากความเสียหายที่เกิดขึ้น กว่ากระบวนการยุติธรรมจะจบสิ้นต้องใช้เวลานับสิบปี และได้รับค่าชดเชยความเสียหาย รวมกันแล้วเพียง 36 ล้านบาท แถมยังจ่ายเป็นเช็ค ชาวบ้านต้องใช้เวลาเดินทางเข้าตัวเมืองเป็นวันเพื่อเบิกเช็ค

ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้กลับสู่สภาพปกติตามคำสั่งของศาลนั้นก็เป็นไปอย่างล่าช้า สารตะกั่วยังตกค้างอยู่ในลำห้วยราวๆ 40,000 ตัน

ล่าสุด คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวคลิตี้บอกกับสื่อว่า ตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนถึงเวลานี้ กรมควบคุมมลพิษนำตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

การนำสารพิษไปกำจัดไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน แค่ย้ายที่ฝังกลบไปอยู่ในป่าเหนือลำห้วยคลิตี้ เมื่อฝนตก น้ำก็ชะสารพิษลงสู่ผืนดินและลำน้ำ

เหตุการณ์ “คลิตี้” ผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษยังไม่สิ้นสุด เป็นบทเรียนให้รู้ว่า ในอดีตนั้นการอนุมัติโครงการของภาครัฐโดยหวังแค่รายได้ แต่ไม่ได้มองในมิติอื่นๆ จึงเกิดผลกระทบตามมาอย่างมากมาย

สิ่งแวดล้อมเสียหาย ชาวบ้านเจ็บป่วย-เสียชีวิต รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการฟื้นฟู

วันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดปี 2560 เขียนไว้ชัดเจนในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น มาตรา 72 กำหนดว่า รัฐพึงจัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และอื่นๆ

หรือในมาตรา 65 ว่า รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล

อีกทั้งยังต้องมีแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดว่าบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม

กฎหมายเขียนไว้ครอบคลุมเช่นนี้ การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด เพราะหากไม่ยึดหลักการให้มั่น เหตุเลวร้ายเหมือนเช่น “คลิตี้” จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก