จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 23-29 ตุลาคม 2563

จดหมาย

 

0 กรณีฉีดน้ำ-จับผู้ชุมนุม

สืบเนื่องจากการใช้กำลังตำรวจของไทย

เพื่อสลายการชุมนุม รวมทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารระคายเคืองและสีย้อม

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

“การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

และไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงกับหลักการตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ ในหลักการความจำเป็น

และหลักการที่ได้สัดส่วนอย่างที่ทางการไทยอ้าง

การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารระคายเคืองและสีย้อม

ไม่เพียงอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ

การใช้สีผสมในน้ำยังเป็นการกระทำที่ไม่เลือกเป้าหมาย

และอาจนำไปสู่การพุ่งเป้าเพื่อจับกุมโดยพลการต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ผู้สื่อข่าว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

ในการควบคุมการชุมนุม

ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม

รวมทั้งยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย

เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน

และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน

โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”

 

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ยังเรียกร้องทางการไทยให้หาทางเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

การจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม

เพราะการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ

การดำเนินงานของรัฐเช่นนี้มีเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง

ทำให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม

ขอเรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

และผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกควบคุมตัวจะต้องสามารถติดต่อทนายความได้

การจับกุมครั้งนี้และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างฉับพลันในยามวิกาล

เป็นการเพิ่มมาตรการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของไทย

แทนที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก

ทางการไทยควรเปลี่ยนแนวทาง

โดยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ที่จะเคารพสิทธิของบุคคลทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสงบ

ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดียและการชุมนุมบนท้องถนน

แอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

คงได้อ่านท่าทีและข้อเรียกร้อง

ทำนองเดียวกันนี้

หลายองค์กร

สะท้อนให้เห็นว่า มุมมอง

โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน

ที่มีต่อฝ่ายรัฐบาลเป็นเช่นไร

แน่นอนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

คำถาม–แล้วผู้มีอำนาจและฝ่ายรัฐบาล

ได้ฟังและได้ยินหรือไม่

หรือ ปิดหู ปิดตา ไม่เห็น ไม่ฟัง ตามกระแสที่กล่าวหาว่าองค์กรต่างประเทศเหล่านี้

เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายใน

และถือหางม็อบ เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามโมเดลของตนเอง

–เป็นเช่นนั้น จริง-จริงหรือ