หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

 

‘รู้’

 

ป่าที่ขึ้นอยู่บนน้ำ ที่มีชื่อเรียกว่าป่าพรุ ทำให้ผมรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าลงในนั้นว่า ที่เคยคิดว่า “โชกโชน” แล้วกับการเดินป่า คือการคิดแบบไม่รู้อย่างแท้จริง

ป่าดิบบนน้ำที่เต็มไปด้วยพืชอันมีหนามแหลมคม, งู ไม่มีแม้แต่ทางให้เดิน แค่น้าพุด คนนำทาง หายลับตา ผมก็หลง ไม่รู้จะไปทางไหน ก้าวเท้าพลาดรากไม้ คือหน้าคว่ำลงน้ำ

ป่าพรุเป็นบทเรียนล้ำค่า ผมรู้สึกเช่นเดียวกับครั้งปีนป่ายไปตามหน้าผา ตามบังอิด ชายนักเก็บรังนก ที่คล่องแคล่ว และผมตามไปอย่างงุ่มง่าม

สุดท้ายก็ร่วงจากหน้าผา

เป็นอีกบทเรียนอันทำให้รู้ว่า สิ่งเคยคิดว่ารู้นั้น อาจไม่จริง…

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ที่นี่ทำให้ผมรู้อีกเช่นกันว่า ที่เคยคิดว่า “เชี่ยวชาญ” แล้วกับการขับรถในหนทางป่า นั่นห่างไกลจากความเป็นจริง เมื่อต้องสัญจรไปบนเส้นทาง

ผมมักใช้เวลาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในฤดูฝนบนเส้นทาง รถติดหล่ม รถเสีย สภาพฝนตกต่อเนื่องยาวนานหลายวัน หลายครั้งที่มีความตั้งใจจะไปยังจุดหมายที่มีระยะทางเพียง 18 กิโลเมตร แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนความตั้งใจ เพราะเส้นทางอยู่ในสภาพหนักหนาเกินกว่ารถจะแล่นไปได้

บางครั้งผมออกจากสำนักงานเขต ใช้เวลาทั้งวันมาได้แค่ 12 กิโลเมตร และต้องยกเลิกการเดินทางต่อ แม้แต่จะกลับที่คล้ายจะยากเกิน

“รอตอนพิทักษ์ออกมาประชุมดีกว่าครับ ออกไปกับเขา” ศุภกิจ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า แนะนำพิทักษ์ ผู้ชายที่ทุกคนเรียกเขาว่า “ทักษ์ตีนระเบิด” รับหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก แทนเจริญ หน่วยนี้ห่างจากสำนักงานเขตราว 80 กิโลเมตร เป็นหน่วยที่บางครั้งพวกเขาเดินทางใช้เวลากว่าสิบวัน

พิทักษ์คลุกคลีกับทางเส้นนี้มานาน เชี่ยวชาญการซ่อมบำรุง รวมทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ครั้งหนึ่งเขาออกมาซื้ออะไหล่เพื่อเอาเข้าไปเปลี่ยนเฟืองท้ายให้เจ้านิค พาหนะของผม

ทุกครั้งที่รถหน่วยจะแกโผล่มาถึงเขต ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะเห็นรถบรรทุกคนและสัมภาระเต็มกระบะ และสภาพรถที่มีไม้เป็นแหนบ รวมทั้งเป็นผ้าเบรก แชสซีส์ ผูกไว้ด้วยสะลิง คันส่ง ลูกหมากมัดด้วยยางในรถมอเตอร์ไซค์ คนที่เกาะบนกระบะ หลายคนขับรถไม่เป็น แต่ชำนาญการนำรถขึ้นจากหล่ม

ผมฟังและเชื่อที่ศุภกิจแนะนำ รอออกไปพร้อมทักษ์ตีนระเบิด

ทำงานกับสัตว์ป่า “รอ” คือส่วนหนึ่งของการทำงาน…

 

ระหว่างรอ ผมใช้วิธีเดินไปบนเส้นทางเดิมทุกวัน ไปทำซุ้มบังไพรบริเวณที่มีร่องรอยสัตว์ป่าข้ามลำห้วยสายเล็กๆ

ทุกวันผมเดินไป-กลับ เดินช้าๆ ไปบนทางเดิม

ดูเหมือนผมจะเห็นอะไรๆ มากขึ้น

 

จากหน่วยพิทักษ์ป่ามาทางทิศตะวันออกราว 300 เมตร มีแหล่งอาหารของสัตว์ป่าแห่งหนึ่ง เริ่มจากมีคนเอาเกลือมาใส่ไว้ในแอ่งน้ำแห้งที่มีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน หลายปีผ่านไป มัน กลายเป็นแหล่งอาหาร กลายเป็นโป่งที่สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประจำ

“โป่งเป็นที่สัตว์มากินฟรี แต่ก็ตายได้เช่นกัน” พี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ทุกวันนี้คือนักสื่อความหมาย ผู้เชี่ยวชาญ เคยบอกแบบขำๆ

“ต้นไม้ขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีแร่ธาตุอาหารเข้มข้นมากน้อยต่างกัน พวกสัตว์กินพืชที่กินจึงได้แร่ธาตุน้อย ไม่พอกับความต้องการ ถ้าจะเพิ่มก็ต้องกินมากๆ หรือไปหาในพื้นที่อื่น อาจล่วงล้ำเข้าไปในถิ่นที่มีผู้ครอบครอง ทำให้ต้องต่อสู้ บาดเจ็บ หรือถึงตาย อีกทั้งในชีวิตปกติมีอาการเจ็บป่วย ท้องเสีย ตั้งท้อง หรือคลอดลูก ร่างกายจำเป็นต้องหาแร่ธาตุทดแทนโดยด่วน หนทางดีที่สุดคือ เข้ามาหาในโป่ง” ผมนึกถึงที่พี่นพเคยอธิบาย

เก้งในโป่งเงยหน้า กระโดดหลบเข้าป่าเมื่อเห็นผม

“โป่งทั่วไปจะค่อนข้างโล่ง พวกสัตว์ผู้ล่ามักแอบซุ่มคอยจังหวะ การออกมาในโป่งจึงต้องระวังอย่างมาก” พี่นพบอก

ผมพบซากสัตว์ซึ่งถูกล่าโดยสัตว์ผู้ล่า บริเวณโป่งบ่อยๆ

ในแหล่งอาหาร ความมีชีวิตกับความตาย คล้ายจะอยู่ไม่ห่างกันนัก…

 

ระหว่างทางไปซุ้มบังไพร มีต้นปรงขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ปรงเป็นต้นไม้รุ่นโบราณเกิดมา 360 ล้านปีแล้ว มันพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดด้วยการโตแบบช้ามาก สร้างสารลิกนินให้ลำต้นแข็งแรง เปลือกหนา เป็นฉนวนกันไฟ แตกรากชุดหนึ่งให้ลงลึก สามารถสะสมอาหาร รากอีกชุดแผ่ออกด้านข้าง หาอาหารโดยเอื้อที่อยู่ให้กับแบคทีเรีย เพื่อช่วยย่อยแร่ธาตุอาหาร เพิ่มขีดความสามารถให้อยู่ในที่แล้งๆ ได้

ใบปรง อยู่รวมกันเฉพาะที่ปลายลำต้น เรียงตัวเป็นรัศมีวงกลม จึงรับแดดได้ทั่วถึง ใบย่อยแต่ละใบแข็งแรง เหนียว ปลายใบแหลมคม ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์กินง่ายๆ

คำอธิบายของนักสื่อความหมาย ทำให้เห็นภาพการออกแบบสิ่งมีชีวิตในโลกนี้อย่างละเอียด และสอดคล้องในการอยู่ร่วมกัน

มองให้ลึกลงไปอีก

ส่วนของใบอีกชุด พัฒนาเป็นเกล็ดเล็กๆ จำนวนมาก จัดรูปร่างให้เป็นแท่ง เรียกว่าโคนตัวผู้ ภายในมีสปอร์ ใบอีกชุดอยู่อีกต้น เป็นโคนตัวเมีย การผสมเกิดขึ้นได้โดยด้วงตัวเล็กๆ ไปกินสปอร์ตัวผู้ และกลับมากินที่โคนตัวเมีย

เมล็ดที่เกิดขึ้น จัดเป็นกลุ่มโบราณ ไม่มีเนื้อห่อหุ้ม แต่ข้างในมีแป้งเป็นอาหารของต้นอ่อน แป้งนี้มีสารพิษ อันตรายต่อระบบการย่อยอาหาร แต่พอแก่ พวกหนู กระรอกกินได้ พวกนี้ทำให้การกระจายพันธุ์ให้ห่างต้นแม่เกิดขึ้น

ยืนดูต้นปรงอย่างละเอียด ความเป็นจริงก็ปรากฏให้เห็น

ผมมองต้นปรงด้วยความนับถือ

สิ่งที่ต้นปรงสอนคือ ถ้าอยากเติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง

จำเป็นต้องค่อยๆ โตอย่างช้าๆ

 

“พรุ่งนี้พิทักษ์จะล้อหมุนจากจะแกครับ” ตอนค่ำ ศุภกิจแจ้งข่าวที่ได้ยินจากวิทยุ

เขาคงใช้เวลาราวสองวันในกรณีที่ไม่มีอุปสรรคหนักหนาเกินแก้ไข

ผมจะใช้เวลาที่รอ เดินไปบนเส้นทางเดิมช้าๆ ทำความรู้จักกับสิ่งที่พบให้มากขึ้น

มีรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้

ในสิ่งที่คิดว่าตัวเอง “โชกโชน” และ “เชี่ยวชาญ”

วันหนึ่งเมื่อพบกับความเป็นจริง จะเป็นวันที่ได้ “รู้”

 

บรรยายภาพ

กวาง – แม่และลูกกวางซึ่งกำลังกินแร่ธาตุในโป่ง เงยหน้าสูดกลิ่นให้แน่ใจเมื่อได้กลิ่นผู้ล่า