Birdshot : เมื่อ “คดีนกประจำชาติตาย” สำคัญกว่า “คดีคนถูกอุ้มหาย” [คนมองหนัง]

คนมองหนัง

“Birdshot” เป็นภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ผลงานการกำกับฯ ของ “มิคาอิล เรด” คนทำหนังรุ่นใหม่วัยยี่สิบกลางๆ

หนังเพิ่งคว้ารางวัล Special Mention (รางวัลชมเชย) จากเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด ย้อนไปเมื่อปลายปีก่อน Birdshot ได้รับรางวัล Best Asian Future Award จากเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว 2016 (รางวัลเดียวกับที่ “มหาสมุทรและสุสาน” ของ “พิมพกา โตวิระ” เคยได้รับเมื่อปี 2015)

ถึงจะเป็นหนังรางวัล/หนังเทศกาล แต่ Birdshot ไม่ใช่หนังอาร์ตดูยาก

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะเรดคือเด็กหนุ่มที่ชอบเสพหนังฮอลลีวู้ด ดังนั้น ผลงานของเขาจึงเข้มข้น เร้าใจ ดูสนุก แต่ก็มาพร้อมกับอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าตัว นั่นคือ ความต้องการจะผลิตหนังที่พูดถึงประเด็นจริงจังทางสังคมไปในคราวเดียวกัน

หนังมี “เส้นเรื่องหลัก” สองเส้นที่ถูกเล่าอย่างคู่ขนานกันไป

เส้นเรื่องแรกว่าด้วยพ่อวัยไม้ใกล้ฝั่งที่พยายามฝึกฝนให้ลูกสาววัยไม่ถึงยี่สิบปี มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ชีวิตให้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

เมื่อพ่อ-ลูกคู่นี้อาศัยอยู่บริเวณชายป่าสงวน รูปธรรมของการฝึกฝนดังกล่าว จึงได้แก่ การฝึก “ยิงนก”

หนังแสดงให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์กดดันและการเฝ้าดูจากพ่อ ลูกสาวยังมีจิตใจไม่กล้าแกร่งพอ ที่จะลงมือปลิดชีพนกตัวใดๆ

แต่เมื่อไปเที่ยวเล่นในป่าพร้อมกับสุนัขคู่ใจ นอกจากเด็กสาวจะฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อที่สั่งห้ามไม่ให้เธอข้ามรั้วเข้าไปในเขตป่าสงวนแล้ว เด็กสาวยังมีสภาพจิตใจที่นิ่งพอจะเด็ดหัว “นกอินทรีฟิลิปปิน” ในเขตป่าหวงห้ามได้อีกด้วย

เรื่องราวพลันลุกลามใหญ่โต เพราะนกดังกล่าวมีสถานะเป็น “นกประจำชาติ” ของประเทศฟิลิปปินส์

อีกหนึ่งเส้นเรื่องกล่าวถึงตำรวจหนุ่มไฟแรง ชีวิตของเขากำลังเริ่มต้นใหม่ในสองด้าน ด้านแรก คือ การก่อร่างสร้างครอบครัว เมื่อลูกน้อยเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมา อีกด้าน คือ ชีวิตการทำงาน ซึ่งเจ้าตัวต้องฝึกปรือวิทยายุทธกับนายตำรวจหัวหน้า/คู่หู ที่มีประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่มาอย่างโชกโชน

ณ จุดตั้งต้นของหนัง ดูเหมือนตำรวจหนุ่มและนายของเขาจะต้องไปตามติด “คดีปริศนา” ว่าด้วยเรื่องรถบัสและคนหาย

แต่จู่ๆ ภารกิจก็ถูกยุติลงกลางคันโดย “ผู้บังคับบัญชา” ระดับสูง เพราะคดี “รถ-คนสูญหาย” ไม่ได้เป็นแค่คดีอาชญากรรมธรรมดาระดับท้องถิ่น แต่เป็นกรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เรื่องที่ดินทำกินระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “เจ้าที่ดิน”

 

เมื่อชาวบ้านเตรียมบุกเข้าไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงในเมืองหลวง พวกเขาและรถโดยสารที่ใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทาง ก็ถูก “อุ้มหาย” ไปซะเฉยๆ

หลังถูกห้ามไม่ให้แตะต้องคดีความที่ข้องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ผู้คนจำนวนมากและความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในระดับชาติ

ตำรวจหนุ่มและนายของเขาก็ได้รับมอบหมายให้ไปตามคดีใหม่ นั่นคือ “คดียิงนกอินทรีในป่าสงวน”

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝีมือของเด็กสาวในเส้นเรื่องแรก มันเป็นผลลัพธ์ของการเที่ยวเล่น การทดลองใช้ชีวิต การเติบโตเปลี่ยนผ่านของเด็กสาวบ้านป่าตัวเล็กๆ หนึ่งคน

แต่สำหรับรัฐ นี่คือคดีความว่าด้วยการสูญเสีย “นก/สัญลักษณ์ประจำชาติ”

ในแง่หนึ่ง สถานะของ “นกแห่งชาติ” อาจยิ่งใหญ่พอที่จะกลบทับคดีการหายตัวของชาวไร่ชาวนาไร้ที่ทำกินในพื้นที่ชนบท

แต่อีกแง่ สถานะของ “นกแห่งชาติ” ก็อาจเป็นเพียงเครื่องมือปกปิดอำพรางความขัดแย้ง/ปัญหาที่มีความสำคัญมากกว่าภายในประเทศอันวิปริตพิกลพิการ

แล้วเส้นเรื่องที่แยกกันเดินสองสายก็มาบรรจบตรง “จุดร่วม” หนึ่งเดียว

แม้ตำรวจหนุ่มพยายามยืนกรานอย่างหนักแน่นที่จะตามคดีคน/รถบัสหายต่อไป แต่เจ้านายหลายระดับ ตลอดจนระบบราชการอันฟอนเฟะ ก็ค่อยๆ กล่อมเกลา บีบคั้น กดดัน ขู่กรรโชก ให้เขาจำต้องเปลี่ยนใจ

จากข้าราชการหนุ่มที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม เขากลายเป็น “ตำรวจเลวๆ” บ้าดีเดือด ซึ่งลงมือซ้อมผู้ต้องหาด้วยวิธีการนอกกฎหมายไม่ต่างจากพวกลูกพี่/รุ่นพี่ของตน

ที่น่าเจ็บปวด คือ การตามจับคนร้ายคดียิงนกอินทรีกลายเป็น “สนามทดลองแห่งแรก” ซึ่งตำรวจหนุ่มได้ฝึกฝนการใช้อำนาจอิทธิพลนอกรีต

ณ จุดบรรจบของเส้นเรื่องสองเส้น หนังเต็มไปด้วยฉากความรุนแรง สูญเสีย ที่น่าเศร้าสลด

จากที่รัฐควรจะออกตามหาชาวบ้านจำนวนมากซึ่งหายตัวไป สิ่งที่ได้มาทดแทน คือ การลงมือทำร้ายชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งด้วย “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” โดยเจ้าหน้าที่ (ซึ่งต่อมาก็ถูกชาวบ้านเอาคืนเหมือนกัน)

จากการไล่ล่าคนลงมือฆ่า “สัตว์สำคัญของชาติ” ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ การมีคนและสัตว์อื่นๆ (ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญ “ระดับชาติ”) ถูกสังหารลงอย่างน่าหดหู่

อย่างไรก็ดี แม้หนังจะปิดฉากจบลงอย่างรวดร้าว แต่ยังพอมี “ประกายความหวัง” ฉายแสงอยู่

เพราะถึงจะมีตัวละครที่ต้องตายอย่างไม่ควรตาย มีตัวละครที่สิ้นหวังแพ้พ่ายในชีวิต ทว่า ยังมีตัวละครอีกรายที่ได้โอกาส “เลือก” จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง

ในสภาพสังคมที่บีบคั้น ขาดแคลนโอกาส ในสภาพสังคม ที่เรื่อง “นกตาย” สำคัญกว่า “คนหาย”

คนเล็กคนน้อยในสังคมประเภทนั้นย่อมไม่มีโอกาสจะ “เลือก” อะไรในชีวิตมากมายนัก

ด้วยเหตุนี้ การได้เลือกจึงนับเป็น “ประกายความหวัง” อันยิ่งใหญ่

ไม่นับว่า “การเลือก” ในช่วงท้ายของหนัง ยังข้องเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ ว่าเราควรปฏิบัติอย่างไรต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ในฐานะที่พวกเราต่างเป็น “คนเหมือนกัน” และ “เท่ากัน”

หรืออีกทาง คือ พวกเราต่างตกเป็น “เหยื่อ” ของระบบอันอยุติธรรมพอๆ กัน

บทสรุปของ Birdshot ยังชี้ให้เห็นว่า ไปๆ มาๆ เรื่องที่เหมือนจะไม่น่าเกี่ยวข้องกันอย่าง “คดีนก (ประจำชาติ) ถูกยิงตาย” กับ “คดีชาวบ้านไร้ที่ทำกินหายสาบสูญ” ก็มิใช่สองคดีอาชญากรรมที่แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง

คำสอนที่พ่อเคยบอกห้ามเด็กสาวตัวละครเอกของภาพยนตร์ไม่ให้เดินเข้าไปในเขตป่าสงวนนั้นมีนัยยะสำคัญ มิใช่เพียงเพราะพ่อกลัวว่าลูกสาวจะไปยิงนกอินทรีตาย แต่พ่อหวาดกลัวว่าลูกจะได้รับรู้เรื่องราวอย่างอื่น ที่ชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยไม่ควรรู้ หรือถึงรู้ก็ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แถมจะมีปัญหายุ่งยากตามมา

น่าสนใจที่ว่า “ความจริง” ในภาพใหญ่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทั้งสองคดีเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” นั้น ถูกตระหนักรับรู้โดยสามัญชนคนเล็กคนน้อย

ขณะที่ทางฝั่งตำรวจซึ่งเป็นตัวแทนของภาครัฐนั้น อาจมีเจ้าหน้าที่เบื้องบนบางส่วนที่รับรู้ถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว แต่พยายามปิดบังเอาไว้

และก็มีเจ้าหน้าที่บางคนซึ่งไม่มีโอกาสได้รู้เรื่องพวกนี้ไปตลอดชีวิต หรือมีบางคนที่ไม่สามารถรับรู้ถึงมันอย่างครอบคลุม เพราะความบ้าคลั่งเกินบรรยายใน “คดีนกตาย” ได้ฉุดกระชากลากดึงสติสัมปชัญญะและมโนสำนึกออกไปจากตัวเขาอย่างน่าเสียดาย

ปัญหาก็คือ ชาวบ้านที่รู้ “ความจริง” มากกว่า/ชัดกว่า/กว้างกว่า จะสามารถทำอะไรต่อได้บ้าง ในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาหรือเธอทำได้แม้แต่เพียงการเรียกร้องหาความยุติธรรม โดยยังไม่ต้องพูดถึงการลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม

ณ จุดสุดท้าย คนรุ่นใหม่ที่เคยคาดหวังจะเข้าไปพัฒนา/ปฏิรูประบบ จึงกลายเป็นเพียงมนุษย์ผู้มีจิตวิญญาณผุพังภายในระบอบอำนาจอันฉ้อฉล

ส่วนอีกหนึ่งเยาวชนที่กล้าฝ่าฝืนคำสั่งสอนของพ่อ กล้าปลดแอกตนเองออกจาก “ความ (อ) ยุติธรรม” ในระบบตาต่อตาฟันต่อฟันอันดิบเถื่อน

ก็ปลดปล่อยตัวเอง เพียงเพื่อจะไปพบกับ “ความจริง” ที่ชั่วร้าย ท่ามกลางบรรยากาศอ้างว้างของป่าลึก โดยมีแค่ซากศพและวิญญาณเร่ร่อนเป็นมิตรสหายร่วมทาง