จัตวา กลิ่นสุนทร : เขียนถึง วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ เราเป็นเพื่อนกัน (อีกที)

ความขัดแย้งของคนในชาติในทาง “การเมือง” ของบ้านเราดำเนินมากว่าทศวรรษ และยังไม่เห็นหนทางว่าจะกลับมาปรองดองเพื่อร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปได้

หากยังไม่หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมแก้ไขเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” ทางการเมืองหาทางยุติความขัดแย้ง เพื่อเริ่มต้นสร้างความเสมอภาคเป็นธรรมภายใต้กติกาเดียวกัน

มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่หาทางผลักดันให้เกิดการปรองดอง โดยต้องการให้ผู้กระทำผิดที่ผ่านมาต้องมีสำนึกรับผิดออกมาขอโทษต่อสังคมทั้งผู้นำรัฐบาลในอดีตและปัจจุบัน

ผู้เกี่ยวข้องที่ผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมรายงานว่าคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายพร้อมขอโทษต่อสังคม ถ้าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อสร้างความสามัคคีจะทำให้บ้านเมืองก้าวพ้นวิกฤต โดยเฉพาะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจัง จริงใจ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการปรองดอง

เป็นที่รับรู้รับทราบกันอย่างดีว่าการเมืองบ้านเราแบ่งข้างเป็นสองขั้ว ต่างพยายามสาดความผิดพลาดบกพร่องใส่กันด้วยเรื่องของความรักชาติ โดยพยายามผลักไสไล่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชังชาติ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าวาทกรรมนี้ใครเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น

ถ้าหากบ้านเมืองยังดำเนินไปลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดี ซึ่งเราได้แต่พูดเหมือนกันว่า ถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างควรอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีโอกาสเป็นไปได้อย่างที่กล่าว

ประชาชนคนในชาติประเทศ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ศึกษาสิ่งต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์การเมือง เรื่องของประชาธิปไตยได้เข้าใจแบบลึกซึ้ง ในขณะที่ชนชั้นปกครองยังมีความสุขอยู่กับการคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง การเอาเปรียบ แบ่งชนชั้นในสังคม เพราะฉะนั้น การต่อสู้เรียกร้องจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดจาค่อนข้างประชดประชัน ประเด็นเราชังชาติ หรือชาติน่าชัง บนเวทีงานวันระลึกถึงวีรชน “วันที่ 6 ตุลาคม 2519”–แต่มันก็เป็นความจริงทั้งสิ้น

เขาบอกว่า–

“คนชังชาติเป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตโดยคนที่คิดว่าตัวเองรักชาติ ผูกขาดความรักชาติ ผลักคนคิดต่างตกขอบ คนเราจะเกลียดสิ่งใดต้องมีเหตุ หากคนจะชังชาติต้องมีอะไรที่น่าเกลียด น่าชัง–

ชาติในที่นี้ไม่ใช่รัฐชาติ เชื้อชาติ แต่หมายถึงสังคมที่เราจะใช้ชีวิต ก้าวเดิน เติบโต ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กถูกล้างสมองด้วยระบบการศึกษา ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กโดนหลอก ขอตอบว่าใช่ เพราะที่ผ่านมาเคยโดนหลอกว่าประเทศไทยดีที่สุด ประเสริฐสุด ฝรั่งอยากมาอยู่ โตมาจึงรู้ว่าเป็นคำโกหก–

เคยโดนหลอกว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่ 2 ที่แท้ไม่จริงเพราะมีครูทำร้ายนักเรียน พอโตเข้ามหาวิทยาลัยยังถูกหลอกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับใช้ประชาชน มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ที่แท้สยบอำนาจรัฐ เราโดนหลอกว่าเป็นทหารคือการรับใช้ชาติ ที่แท้ให้ไปรบกับหญ้า ฆ่ากับมด หากสังคมแบบนี้คือชาติ ใครจะไม่ชัง–

เราถูกหลอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่คนมีอำนาจไม่เห็นหัวประชาชน พอประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญก็บอกว่าอย่าไปให้ค่าคนแค่แสนกว่าชื่อ ให้คนคิดนอกกรอบ พอคิดบอกว่าเด็กพวกนี้ขบถ ดื้อด้าน คนบางกลุ่มเห็นปัญหาแต่ทำเป็นไม่สนใจเอาแต่อวยตัวเอง–

สรรหาคำสรรเสริญว่าประเทศนี้ดีต้องอยู่ร่วมกันในสังคมความต่างทางอุดมการณ์ คือเสน่ห์เย้ายวน เราไม่ต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ก็ไม่จำเป็นล้อมฆ่ากัน–“

 

ทุกวันนี้ใครจะเชื่อว่าเด็กชั้นมัธยมปีที่ 5 จะสามารถพูดถึงการเมืองไทยได้อย่างเข้าใจแบบลึกซึ้ง สามารถโต้ตอบกับผู้ใหญ่ได้อย่างมีหลักการ เหตุผล และให้สัมภาษณ์เป็นภาษาสากลกับสื่อต่างชาติได้อย่างไม่ติดขัด

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่ได้ตำแหน่งมาโดยเขาประทานมาให้ คงจะเล่นเกมหลอกต้มเด็กนักเรียน-เยาวชนไม่ได้อีกต่อไป

การยืดอายุรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาอีก 1 เดือน เพื่อเป็นการซื้อเวลาแบบสมรู้ร่วมคิดกันทั้งหมดตั้งแต่ตัวผู้นำ สมาชิกวุฒิสภา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถปิดบังคนทั้งประเทศได้อย่างไร?

เพราะฉะนั้น การต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นใหม่ของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม+เยาวชนปลดแอก+ประชาชนปลดแอก และจะต้องมีกลุ่มคนเสื้อแดง” เข้าร่วม

การชุมนุมกำหนดปรากฏขึ้นตรงวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เพื่อทวงประชาธิปไตย ซึ่งตรงกับ “วันประวัติศาสตร์” ของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อ 47 ปีที่ผ่านมา คือ “วันที่ 14 ตุลาคม 2516”

 

ผมเขียนถึงวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไปหลายครั้งหลายตอน ขณะที่เขาต้องเดินทางเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 6 ในชีวิตบนถนนการเมืองอันเต็มไปด้วยสีสัน

ครั้งล่าสุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน พร้อมณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำคนเสื้อแดง ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ (บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ-ปัจจุบันกองทัพบกได้ทำการรื้อถอนไปแล้ว)

วีระกานต์พร้อมกลุ่มเพื่อนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเดินเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เขามีอายุ 73 ปีเต็ม ผมได้บวกจำนวนเดือน ปีที่เขาจะต้องถูกจำกัดอิสรภาพจนถึงวันพ้นโทษว่าจะกลับออกมาด้วยวัย 75 ปีเศษทีเดียว ซึ่งในวัยดังกล่าวผสมกับโรคภัยไข้เจ็บ เขาคงวางมือจากการเดินหน้าทางการเมือง อาจเปลี่ยนมาเป็นคนเบื้องหลังระดับที่ปรึกษามากกว่า

เขาเคยกล่าวไว้ในงานวันเกิด (24 พฤษภาคม 2562) ครบรอบปีที่ 72 ว่า “ผมจะไม่เลิกการเมืองจนกว่าประชาชนจะได้ “ประชาธิปไตย” มา” พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านประชาธิปไตยมากที่สุด”

ที่จำได้แม่นยำไม่ลืมเลือนเพราะมีความรู้สึกเห็นด้วย จึงต้องการให้สิ่งที่เขาตั้งใจจะดำเนินการเกิดขึ้นจริงๆ คือเรื่องที่เขาบอกว่า “ผมจะจัดทนายความมาฟ้องร้อง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ จะเอาเข้าคุกให้ได้ เพราะมันผิดหลักการ–“

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสืบไป

นักโทษการเมืองผู้สูงวัยทั้งหลาย รวมทั้งวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายพายัพ ปั้นเกตุ และ ฯลฯ จัดอยู่ในกลุ่มนี้ จึงได้รับการลดวันต้องโทษตามสัดส่วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักโทษ จึงได้รับการปล่อยตัว โดยในกลุ่มคนเสื้อแดงยังขาดนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งมีอายุเพียง 45 ปี ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ถูกคุมขังในเรือนจำประมาณ 2 เดือนก่อนได้รับอิสรภาพ โดยในชีวิตทางการเมืองเขาโลดโผนขนาดผ่านจุดสูงสุดถึงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นเลขาธิการพรรค “ประชาธิปัตย์” ตั้งแต่วัยหนุ่ม และเข้าสังกัดพรรคการเมืองในประเทศไทยเกือบครบทุกพรรค ตกต่ำสุดคือหมดสิ้นอิสรภาพเดินเข้าเรือนจำถึง 6 ครั้งดังกล่าว แต่ได้รับการอภัยโทษออกมาทุกครั้ง

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ ต้องต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ต่อไปอีกนาน