เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | อันเสรีแห่งสายลมแสงแดด

เราเข้าสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปี พ.ศ.2502 ถึง พ.ศ.นี้ 2563 หกสิบเอ็ดปีพอดี

ปี พ.ศ.2502 นั้นเป็นปีสุดท้าย และคณะนิติศาสตร์เป็นคณะสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์ให้สมัครเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบเข้า

สมัครเป็นนักศึกษาได้เลย เพียงมีเอกสารรับรองว่าจบ ม.8 แล้ว กับชำระค่าเรียนเพียงปีละ 40 บาทเท่านั้น ดูเหมือนจะขึ้นเป็น 400 บาทในปีนั้นด้วย

เหตุที่มุ่งหน้ามาเรียนนิติศาสตร์มิใช่เพราะอยากเป็นนักกฎหมายหรือชอบกฎหมาย หากเพราะไม่สามารถหาที่เรียนไหนได้ง่ายกว่านี้อีกแล้ว

ด้วยผิดหวังกับการสอบไม่ผ่านเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่หมายมั่นมาแต่ต้น เราจึงมักอ้างเสมอว่า

“อนิจจาจุฬาฯ ลงกลอน”

หวังลมๆ แล้งๆ ว่า เรียนธรรมศาสตร์สักปีแล้วปีหน้าจะพยายามไป “สะเดาะกลอนจุฬาฯ” ให้ได้

ตรงนี้ขอแทรกนิดว่า เราเองเป็นเด็กบ้านนอก เกิดอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สำเนียงเหน่อสุดๆ มีความใฝ่ฝันจะเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะชอบอ่านหนังสือมากๆ

ขั้นตอนของความใฝ่ฝันอย่างเราคือจบ ม.6 (สมัยนั้นจัดลำดับการศึกษา ประถมหนึ่งถึงสี่ต่อมัธยมหนึ่งถึงหก) จะเข้ามหาวิทยาลัยต้องต่ออีกสองปีคือ ม.เจ็ด ม.แปด

และจะเข้าจุฬาฯ ต้องต่อเจ็ดแปดที่โรงเรียนเตรียมอุดม พญาไท ที่เสมือนเตรียมจุฬาฯ

จบหกแล้วจึงไปสมัครเรียน ม.เจ็ด ที่เตรียมอุดมทันทีไม่สนใจอื่นเลย

เป็นดังคำปรามาสว่า เด็กบ้านนอกยากเข้าเตรียมได้ถ้าหัวไม่ดีจริงๆ

มีผู้ผิดหวังจากการเข้าเตรียมไม่ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเราเองรวมอยู่ด้วย พากันไปชุมนุมเรียกร้องขอที่เรียน

นี่ดูจะเป็นการชุมนุมเรียกร้อง หรือที่เรียก “ม็อบ” นักเรียนเป็นครั้งแรก ซึ่งสำเร็จ ทางกระทรวงขอให้โรงเรียนเตรียมอุดม พญาไท รับนักเรียนกลุ่มนี้เข้าเรียน โดยให้ปักเสื้อว่า “ต.พ.3” ด้วยมี “ต.พ.2” อยู่ก่อนแล้ว เรียนอยู่ในบริเวณริมคลองอรชร ในโรงเรียนเตรียมดังเรียกเป็นฉายาว่า “เตรียมอรชร”

ต.พ.3 พวกเราจึงไม่มีที่เรียนอีกแม้จะมีชื่อเป็นนักเรียนเตรียมอุดม หรือเตรียมจุฬาฯ ก็ตาม

ที่สุดชาว ต.พ.3 ก็ได้ที่เรียนที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ ฝั่งธนฯ เรียนได้ปีเดียวก็ส่งต่อไปที่โรงเรียนทวีธาภิเษก

จึงเป็นอันจบแแปดที่ทวีธาภิเษก

แล้วเรื่องก็ดำเนินไปดังข้างต้น คือสะเดาะกลอนจุฬาฯ คณะอักษรฯ ไม่ได้ ต้องมาซื้อหัวเข็มขัดธรรมจักรขาวคณะนิติศาสตร์ ประกาศตัวเป็นชาวมหาวิทยาลัยเต็มภาคภูมิ

อายุความธรรมศาสตร์ต้องจบในแปดปี

ปีแรกก็ท้อแล้ว ด้วยคณะนิติไม่มีอาคารเรียน ต้องฝากเรียนห้อง 26 คณะบัญชี ซึ่งพวกเราที่มาสายก็ต้องไปนั่งบนสนามหญ้าฟังคำบรรยายจากลำโพงขยายเสียงที่ต่อมาจากห้องบรรยาย

สภาพห้องบรรยายนั้นเหมือนรถไฟอินเดีย คือมีนักศึกษาชายนั่งห้อยตามกรอบหน้าต่างเต็มทุกหน้าต่าง ภายในนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาหญิงกับผู้ที่ตื่นแต่ไก่โห่มาจองที่นั่งได้ และแน่นอนจองให้เพื่อนหญิงเป็นสำคัญก่อนอื่นใด

ความหวังจะไปสะเดาะกลอนจุฬาฯ ชักเลือนรางด้วยไม่นึกเลยว่าการเรียนต่อตามความใฝ่ฝันของเด็กบ้านนอกนั้นต้องใช้วิริยะอุตสาหะสาหัสสากรรจ์อะไรจะปานนี้

ไม่รู้ว่าใช้เวลาไปเท่าไรกับวิธีจัดการกับตัวเองในสถาบันแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งมรสุมชีวิตจากภายนอกและภายใน

จนวันหนึ่งเดินเลาะมาหลังตึกนิติที่เพิ่งสร้างเสร็จ มีอาคารกีฬาที่เรียกโรงยิมหรืออาคารยิมเนเซียม

ได้ยินเสียงดนตรีไทย วงเครื่องสายบรรเลงโดยคณะเจ้าหน้าที่สำนักเลขาฯ

เลียบเคียงเข้าไปขอนั่งฟัง ซึ่งมีนักศึกษาอีกสองสามคน เลาะเลียบเข้ามาร่วมนั่งฟังด้วย

หัวหน้าวงคือ หัวหน้ากองเลขาฯ นั่นเอง ท่านชื่อสมิทธิ นวกุล ท่านตีขิม เอ่ยกับพวกเราว่ามีใครเล่นอะไรเป็นบ้างล่ะ เพื่อนคนหนึ่งบอกเล่นซอได้ หัวหน้าสมิทธิก็ยื่นซอให้

เราเองอยากเล่นขลุ่ยใจจะขาดแต่ไม่กล้าเอ่ยปาก ด้วยเห็นมีคนเล่นอยู่แล้วจึงได้แต่นั่งฟัง

เป็นอย่างนี้ประจำทุกย่ำเย็น กระทั่งหัวหน้าสมิทธิใจดียกวงเครื่องสายให้พวกเราเจ้าประจำตัวจริงตั้งแต่ร่วมวงเล่นจนตั้งเป็นวงของพวกเรานักศึกษาล้วนๆ

นี่คือจุดกำเนิดของวงดนตรีไทยธรรมศาสตร์ ตั้งเป็นชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ของสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานชุมนุมดนตรีไทยคนแรกคือ คุณชวลิต ชัยโตษะ ผู้ล่วงลับแล้ว

นอกจากดนตรีไทยธรรมศาสตร์แล้วยังมีชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ที่เราเองมีส่วนร่วมก่อตั้งด้วยเช่นกัน ประธานวรรณศิลป์ มธ.คนแรกคือ คุณดุสิต พนาพันธุ์ ซึ่งล่วงลับแล้วอีกเช่นกัน

ยุคนี้แหละที่ต่อมาจะถูกให้นิยามว่า เป็นยุค “สายลมแสงแดด”

กระไออวลแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้วในพื้นที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ที่เราได้เริ่มและได้ร่วมสัมผัส