เครื่องเคียงข้างจอ /วัชระ แวววุฒินันท์ /หนังสือเจาะใจ

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

หนังสือเจาะใจ

 

ฉบับที่แล้วผมเสนอหนังสือของผมเองคือ “เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น” ซึ่งเปิดให้พรีออเดอร์กันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ก็มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อยสั่งจองเข้ามา ต้องขอขอบคุณอย่างมาก

และหากใครที่ยังไม่ได้สั่งซื้อ เชิญสั่งได้ทาง line id : @pinda

ใครสั่งภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ จะได้รับลายเซ็นผู้เขียนคือ “ปินดา โพสยะ” ให้ด้วยครับ

น่าสนใจมากทีเดียว…แฮ่ม

 

สําหรับเครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ ยังวนเวียนกับเรื่องหนังสือ เพื่อรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25 ที่จัดอยู่ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานียามนี้ แต่เป็นหนังสือจากรายการ “เจาะใจ” ครับ

ชื่อหนังสือว่า “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ I Am The Best

เป็นการนำเนื้อหาในช่วงคอลัมนิสต์ในรายการ “เจาะใจ” มารวบรวมให้ได้อ่านกัน

ช่วงคอลัมนิสต์นี้เป็นช่วงท้ายของรายการที่คนดูชอบมาก บอกว่าได้ฟังแง่มุม ความคิด เรื่องราวหลากหลายจากเหล่าคอลัมนิสต์ที่วนเวียนกันมาดี บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน บางเรื่องก็เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่พลิกมุมคิด ก็ทำให้เกิดมุมมองใหม่และตามมาด้วยสติปัญญาได้

คอลัมนิสต์ที่ว่านี้มี 7 คนด้วยกันคือ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม คนนี้เห็นโลกมาเยอะ มักมีเรื่องในแวดวงที่ทำงานมาเล่าให้เราฟังเสมอ

สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คนนี้มีอาชีพท่องโลก แม้ในช่วงโควิดไม่ได้ท่องไกลนัก แต่ก็มีเรื่องราวของชีวิตในพื้นที่ต่างๆ มานำเสนออยู่เสมอ

โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ แห่ง The Standard ซึ่งจริงๆ โหน่งมาเป็นคอลัมนิสต์กับเจาะใจตั้งแต่ยังมีนามสกุลว่า aday อยู่เลย เขาอ่านมาก เห็นเยอะ เรื่องที่นำมาเล่าส่วนใหญ่ก็มาจากการอ่านของเขานี่แหละ

อีกคนที่เป็นสายหนังสือเหมือนกันคือ เอ๋ นิ้วกลม หรือ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ แต่คนนี้เป็นนักคิดนักเขียน ความช่างคิดของเอ๋ทำให้บางทีเรื่องเล็กๆ ที่เรามองผ่านแต่เขาเห็น และหยิบจับมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจได้

อีกคนสายหนังสือ ที่มาเป็นสายทีวี และตอนนี้เป็นสายออนไลน์ คือรุ่นใหญ่อย่าง ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” ตุ้มชอบคุยกับคน และเขาก็เก็บเกี่ยวเอาวิธีคิดของคนที่เขาคุยด้วยมาเขียนหนังสือ และมาเล่าในรายการให้เราฟัง

ในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ ตุ้มก็ไม่พลาดที่จะออกหนังสือเล่มใหม่ในชุด “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ของเขา ที่ชื่อ “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” มาพบปะแฟนๆ ด้วย

อีก 2 คนเป็นน้องใหม่ของช่วงคอลัมนิสต์แต่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้รุ่นก่อตั้งคือ อุ๋ย-นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้าเบลส กับ ปอนด์-ภริษา ยาคอปเซ่น

คนแรก คนที่คุ้นเคยดีจะรู้ว่าอุ๋ยเป็นคน 2 บุคลิก ภาพภายนอกจะเป็นแร็พเปอร์จ๋า ทั้งจากการแต่งตัวและงานเพลงที่เขาทำ แต่ข้างในนั้นเรียบง่ายด้วยธรรมะที่ชัดเจน เรื่องเล่าของอุ๋ยจะแฝงวิธีคิดของพุทธศาสนาอยู่เสมอ แฟนรายการสายธรรมะจะชอบอุ๋ยเป็นพิเศษ

ส่วนอีกคนเป็นสาวคนเดียวของคอลัมนิสต์ ปอนด์สร้างสีสันด้วยความเป็นผู้หญิง และด้วยมุมมองที่จัดจ้านแหวกแนวตามสไตล์หญิงยุคใหม่

หลายเรื่องเป็นมุมมองของผู้หญิงที่ทำให้พิธีกรชายอย่างดู๋ สัญญา เพิ่งได้รับรู้อยู่เหมือนกัน

 

นี่คือเสน่ห์ของช่วงคอลัมนิสต์นี้ ที่คุณศุภชัย สิริสุขขจร เจ้าของสำนักพิมพ์บอกกับผมตอนที่เดินทางมาขออนุญาตนำไปพิมพ์เป็นหนังสือ

“ทุกตอนดูแล้วได้อะไรมากๆ เลยครับ” ศุภชัยบอก “ผมเชื่อว่าเมื่อออกมาเป็นหนังสือ คนอ่านจะต้องชอบ”

ตอนนี้หนังสือ “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว” วางจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติอยู่ หลังจากนี้ก็จะวางตามร้านหนังสือทั่วไปให้ได้จับจองกันในราคา 259 บาทกับหนังสือความหนา 208 หน้า

กำลังดีไม่หนาไม่บางเกินไป

 

ตุ้ม สรกล เคยเขียนถึงช่วงคอลัมนิสต์ที่เขาทำในคอลัมน์ “หนุ่มเมืองจันท์” ไว้ครั้งหนึ่ง โดยเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นตอนที่ผมไปชวนเขามาทำรายการในช่วงนี้ด้วยกัน ตอนแรกเขารับนัดเพื่อจะบอกปฏิเสธ เพราะคิดว่าไม่ถนัดพูดเหมือนที่เขียน ออกจะเขินหน้าจอที่ไม่ชินเหมือนหน้ากระดาษ

แต่พอผมเสนอว่า แค่มาคุยกับดู๋ อยากเอาเรื่องอะไรก็ได้มาคุย แทนที่จะเขียนก็เท่านั้น ตุ้มก็สบายใจและตอบตกลง

หลังจากนั้นมาก็ร่วม 5-6 ปีแล้วที่ตุ้มทำหน้าที่คอลัมนิสต์ให้กับเจาะใจมาโดยตลอด และเขาได้เขียนในคำนำของหนังสือ “เรื่องนี้ดี รู้งี้อ่านนานแล้ว” ว่า

“เรื่องเล่า” ในรายการเจาะใจของผมเหมือนกับการจุด “ไม้ขีดไฟ” ก้านเล็กๆ

ไม่คิดว่าจะมีผลอะไร แต่ปรากฏว่ามีหลายคนมาขอบคุณ

ทำให้ผมได้รู้ว่า “ประกายไฟ” นั้นมีความหมาย

ขอบคุณรายการเจาะใจที่ให้ผมได้ทำบุญแบบไม่ตั้งใจ

เป็นคำนำที่สั้น กระชับ ตามแบบฉบับของ “หนุ่มเมืองจันท์” แต่ได้ความและสาระครบถ้วน ซึ่งก็ตรงกับคอลัมนิสต์คนอื่นๆ เพราะเสียงสะท้อนจากผู้ชมหลายรายก็ออกมาในทำนองนี้ที่เหมือนได้ส่งต่อ “สติ” และ “ปัญญา” ให้กับคนดู

การให้ความรู้ เป็นการทำบุญอันยิ่งใหญ่

 

สําหรับดู๋ สัญญาเองแล้ว ทีมงานบอกว่า “พี่ดู๋ดูมีความสุขมากทุกครั้งเวลาที่อัดเทปช่วงคอลัมนิสต์” ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะเหมือนดู๋ได้เจอเพื่อน เจอพี่ เจอน้องที่คุ้นเคยสนิทสนม การพูดคุยในห้องแต่งตัวก่อนขึ้นเวทีไปอัดรายการเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และมิตรภาพ

และดู๋ก็ได้เขียนส่วนหนึ่งของคำนำหนังสือเล่มนี้ว่า

“แต่ละตอนเป็นช่วงเวลาที่ผมชอบและมีความสุขมากๆ เพราะว่ามันสนุก ตรงไปตรงมา และเป็นกันเอง เสมือนว่าคอลัมนิสต์ทุกคนเป็นพ่อครัวที่ตั้งใจทำอาหารเมนูนี้มา มีทั้งคุณค่าทางอาหาร ความอร่อย เป็นประโยชน์ตามที่เขาคิดมานำเสนอต่อท่านผู้ชมผ่านรายการเจาะใจ

ผมดีใจมากที่มีความตั้งใจคัดสรรหลายๆ ตอนรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ และผมเชื่อว่าท่านจะวางไม่ลง และคงเป็นคนหนึ่งที่ชอบช่วงคอลัมนิสต์”

 

สําหรับหนังสือเล่มนี้มีด้วยกัน 18 เรื่อง จาก 7 คอลัมนิสต์ และนี่เป็นส่วนหนึ่งมาเรียกน้ำย่อยให้คนอ่านครับ

ตอนที่ยกมานี้เป็นตอนของโหน่ง วงศ์ทนง ครับ ชื่อตอนว่า “ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน”

โหน่งเล่าถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ How Starbuck save My Life จากการเขียนของ Michael Gates Gill ที่โดนไล่ออกจากตำแหน่งสูงสุดขององค์กรตอนอายุ 64 ปี แล้วต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานต๊อกต๋อยในร้าน Starbuck แห่งหนึ่ง

แต่เขากลับพบ “ความสุข” อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน โหน่งเขียนว่า

“ฐานะที่ตกต่ำลงอย่างฉับพลัน ทำให้เขาได้ค้นพบความสุขแบบใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การมีชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ แม้กระทั่งคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ในที่สุดชายคนนี้ได้รับรางวัลเป็นพนักงานดีเด่น ส่วน Starbucks สาขา Boardway ได้กลายเป็นร้านดีเด่นในอเมริกาเช่นเดียวกัน

ผมอ่านเล่มนี้ครั้งแรกประมาณปี 2550 ตอนนั้นอ่านดูก็สนุกดี แต่แล้วหนังสือก็ถูกหยิบมาอ่านใหม่อีกรอบในช่วงที่ผมเพิ่งลาออกจากบริษัทที่ก่อตั้งมากับมือเป็นเวลา 16 ปี ออกมาแบบตัวเปล่า ไม่มีอะไรเหลือติดมือ ตอนนี้ผมไม่ใช่โหน่ง A Day แล้วครับ ตอนนี้ตกงานอยู่”

“จากสิ่งที่สร้างมากับมือ ยอมรับว่าเจ็บปวดมาก ขณะเดียวกันก็รู้สึกสบายใจว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง สามารถตื่นขึ้นมาสบตาตัวเองในกระจกได้แบบไม่อาย ยังเคารพนับถือตัวเองได้ หนังสือเล่มนี้สอนผมอย่างตรงไปตรงมาในวันที่ตกงานตอนอายุมากแล้ว”

 

นี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาในตอนแรกของหนังสือเล่มนี้ ยังมีอีก 17 เรื่องรอคุณหยิบไปอ่านและดื่มด่ำกับมัน

ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำนำของ เอ๋ นิ้วกลม ที่เขียนไว้ว่า

“สำหรับผมนั้น ช่วงคอลัมนิสต์ในรายการเจาะใจคล้ายๆ ช่วงเวลาที่เพื่อนพ้องน้องพี่นำผลไม้รสชาติดีมาแบ่งปันกัน เมื่อตัวเองชิมแล้วดี จึงอยากให้คนอื่นชิมบ้าง ยิ่งแบ่งกันกินยิ่งอร่อย และบ่อยๆ ที่มันงอกเงยต่อยอดไปเป็นความคิดใหม่ๆ ระหว่างผลัดกันชิมผลไม้”

คุณล่ะ อยากหยิบผลไม้รสโอชานี้ขึ้นมากัดกินและย่อยมันหรือยัง