E-DUANG : นวัตกรรม การชุมนุม ยุคใหม่ จากออนไลน์ สู่พื้นที่ เป็นจริง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้นในพื้นที่ของกรุงเทพฯไม่ เพียงแต่นำไปสู่การจับกุมตัวแกนนำระดับ นายอานนท์ นำพา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายภาณุพงศ์ จาดนอก ทันทีเท่านั้น

หากแต่ยังทำให้บทบาทของสื่อ”ออนไลน์”ได้ทะยานไปอยู่ในจุดอันเป็นกระแส”หลัก”ของสังคมสื่อโดยอัตโนมัติ

ใครที่เป็นแฟนานุแฟนของสื่อประเภทหนังสือพิมพ์อาจได้รับรู้แต่บรรยากาศของการชุมนุมตลอดวันที่ 14 ตุลาคม จากอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล

อย่างเก่งก็ก่อนเวลา 21.00 น. แต่หลังจากนั้นก็อยู่ในความยึดครองของ”สื่อใหม่”โดยบริบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไลฟ์สดของแต่ละสำนักระลอกแล้วระลอกเล่า

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสลายการชุมนุมของ นายอานนท์ นำพา ในตอน 02.00 น. ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุก เฉินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตอน 04.00 น.

ทั้งหมดนี้ล้วนไม่มีในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า แต่มีความคึกคักในลักษณะเรียลไทม์ครบถ้วนในสื่อออนไลน์

 

จากสถานการณ์อันเกิดขึ้นตลอดทั้งวันของการเคลื่อนไหวเดินเท้าโดย”คณะราษฎร 2563” ไม่เพียงแต่ได้สร้างมิติใหม่ในทางการเมือง ขึ้นมาให้ได้เห็นอย่างสดๆต่อหน้าต่อตาเท่านั้น

หากที่สำคัญยังเป็นรูปธรรมอันจำหลักหนักแน่นอย่างที่สุดของภาวะถอยร่นของ”สื่อเก่า”ในสนามการข่าว

ไม่มีอีกแล้วคอลัมน์”ก่อนขึ้นแท่น”อันบ่งบอกสะท้อน”เวลา”

บนสายพานข่าวที่ไม่มีการหยุดยั้งจึงตัดบทบาทของ”สื่อเก่า”อย่างหนังสือพิมพ์ออกไปจากวงจรโดยปริยาย ด้านที่เข้ามาแทนที่ ย่อมเป็นบทบาทของ”สื่อใหม่”

ไม่ว่าจะเป็น”ทวิตเตอร์” ไม่ว่าจะเป็น”ยูทูบ” ไม่ว่าจะเป็น”ไลน์” ไม่ว่าจะเป็น”อินสตาแกรม” สามารถสนองความเรียกร้องต้องการใน ด้าน”ข่าว”ได้ตลอดเวลา

คำว่า”ตลอดเวลา”จึงสัมพันธ์กับ”ทันข่าว ทันเหตุการณ์”ที่สุด

 

ความน่าสนใจยังมิได้อยู่ที่ความรวดเร็วฉับไวของข่าวที่ปรากฏด้าน “ออนไลน์”เท่านั้น หากที่สำคัญได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในด้านของการชุมนุมมวลชน

โดยพื้นฐาน คือ การสร้าง”ประชาคม”ในพื้นที่”ออนไลน์”

ขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนพื้นที่จาก”ออนไลน์”ไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นจริงขึ้นมาในลักษณะคู่ขนานกัน

ทุกสายตาจึงเฝ้ามองสถานการณ์วันที่ 15 ตุลาคมเขม็ง