จับตาบทบาทสองหน้า รัฐบาลประยุทธ์-250 ส.ว. ไทม์ไลน์แก้ รธน.ยาว 2 ปี เงื่อนไขการเมืองร้อนฉ่า!

ท่าทีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 250 ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประเด็นสังคมสนใจเกาะติด

เหตุผลเนื่องด้วย 1 ใน 6 ญัตติที่เสนอต่อรัฐสภา มีของพรรคร่วมรัฐบาลรวมอยู่ด้วย ตามผลสรุปคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ตามมาด้วยเกมซื้อเวลาด้วยการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งใช้เวลา 30 วัน

บวกกับอีกหลายขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งการทำประชามติ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการลงมติในสภา

ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้รับการประเมินว่าอาจใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปี

ล่วงเลยไปถึงเดือนมีนาคม 2566

ความเคลื่อนไหวน่าสนใจจากฝั่งรัฐบาลเริ่มขึ้นก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญรัฐมนตรีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือนอกรอบถึงปัญหาต่างๆ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้สนับสนุน 2 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ญัตติพรรคร่วมรัฐบาล กับญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้หลักการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 อย่างเด็ดขาด

จากท่าทีดังกล่าว หากมองผิวเผินดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์แสดงจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่อีกแง่หนึ่ง ถูกมองว่าเป็นการแสดงท่าทีที่ไม่จำเป็น เนื่องจากญัตติดังกล่าวเสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สั่งการกำชับ สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องโหวตสนับสนุน

หัวใจสำคัญเรื่องนี้อยู่ที่ 250 ส.ว.มากกว่า ว่าพร้อมเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

ตรงนี้ต่างหากที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องสั่งการกำชับ หากต้องการให้รัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะรากเหง้าที่มาของ 250 ส.ว. ล้วนมาจากการลากตั้งของ คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการ มีหรือ ส.ว.จะกล้าขัดใจ

ประเด็นนี้ฝ่ายค้านเคยพูดดักคอไว้แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะส่งสัญญาณอย่างไรไปยัง 250 ส.ว. ถ้าส่งสัญญาณให้ผ่านก็ผ่าน ไม่ให้ผ่านก็ไม่ผ่าน

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกส่งสัญญาณถึงพรรคร่วมรัฐบาล แทนที่จะเป็น ส.ว. จึงไม่แปลกหากฝ่ายค้านจะตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังเล่นบทตีสองหน้าหรือไม่

หน้าหนึ่ง ผ่านพรรคร่วมรัฐบาล อีกหน้าหนึ่ง ผ่าน ส.ว.ซึ่งส่วนใหญ่แสดงจุดยืนตั้งแต่แรกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.พิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ ว่า ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.

อย่านำ พล.อ.ประยุทธ์มาโยง การแก้รัฐธรรมนูญต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล นำความเห็นต่างมาพูดคุยเพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัวให้เห็นพ้องต้องกัน

การที่ ส.ว.จะตัดสินใจอะไร ไม่ใช่ยึดนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ต้องฟังทุกฝ่ายทั้ง ส.ส. รัฐบาล ฝ่ายค้านและไอลอว์ โดย ส.ว. 15 คนที่ร่วมเป็น กมธ.ชุดนี้ ถือเป็นตัวแทน ส.ว.ในการตัดสินใจ

ทั้งหมดสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หันมาดูการทำงานของ กมธ.พิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกรอบเวลา 30 วัน

ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรม ทำให้คณะ กมธ. มีแต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและตัวแทน ส.ว. มีมติให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล ทำหน้าที่ประธาน กมธ.

ต่อมาได้เชิญผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติมาชี้แจง รวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีมติตั้งอนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายขึ้น 1 ชุด

กำหนดประเด็นพิจารณาข้อกฎหมาย รวม 5 ประเด็น

1. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 256 ขัดรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 หรือไม่

2. การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่, ต้องออกเสียงประชามติกี่ครั้ง, ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ และใช้กฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่

3. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของฝ่ายค้าน ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่

4. ส.ส.สามารถลงชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมากกว่า 1 ญัตติได้หรือไม่

5. หากตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่

ทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดความยากง่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนถึงขั้นว่าจะเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ หรือถูกตีตกตั้งแต่ยกแรก

หนทางแสนยาวไกลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถูกนำมาเป็นประเด็นอภิปรายหัวข้อ “การยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การซื้อเวลาที่ดีที่สุดของรัฐบาล” โดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

ในวงเสวนาคาดการณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจใช้เวลานานถึง 2 ปี

บนเงื่อนไขที่ว่าหากไม่เกิดอุบัติเหตทางการเมืองเสียก่อน รัฐสภาน่าจะยอมรับญัตติแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือกระทั่งของไอลอว์

ส่วนไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลัง กมธ.ศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติรับหลักการ พิจารณาแล้วเสร็จในกรอบ 30 วัน

ญัตติเพื่อพิจารณาวาระแรกจะถูกเสนอเมื่อเปิดสมัยประชุมเดือนพฤศจิกายน 2563

ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติและหาข้อสรุปร่วมกัน

ต่อด้วยการลงมติวาระ 2 รายมาตรา ลงมติวาระ 3 โดยรวมใช้เวลาอีก 3 เดือน แต่หาก ส.ส. หรือ ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ จะต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก 1 เดือน

มาถึงขั้นตอนทำประชามติ ในขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่มี พ.ร.บ.ประชามติ ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนในการประชาสัมพันธ์ พิมพ์บัตรลงคะแนน เตรียมการอื่นๆ

หากการทำประชามติในมาตรา 256 ผ่าน คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ถึงเริ่มกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ไม่ว่าจะโดยเลือกตั้งทั้งหมด หรือผสมสรรหา ตามที่มาตรา 256 ใหม่กำหนด น่าจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือนจนถึงสิงหาคม 2564

จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าใช้เวลา 6-8 เดือน หรือเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนเมษายน 2565

ก่อนนำมาสู่รัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก โดยขั้นตอนนี้นำมาสู่คำถามว่า ถ้าแก้ไขจนไม่เหลือเค้าโครงแก่นแกนรัฐธรรมนูญเดิม จะถือเป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ถ้าสภาเห็นชอบจะต้องทำประชามติอีกหรือไม่ และถ้าสภาไม่เห็นชอบ ต้องขึ้นอยู่กับมาตรา 256 ใหม่ว่าจะกำหนดอย่างไร

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง องค์กรอิสระ ต้องมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน หรือเดือนกันยายน ถึงตุลาคม 2565

รวมเบ็ดเสร็จขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กินเวลาล่วงเลยไปถึง 2 ปี

ใกล้เวลาเลือกตั้งใหม่ตามกำหนด 4 ปีในเดือนมีนาคม 2566 พอดี

ทั้งหมดเป็นเกมการเมืองน่าจับตา โดยเฉพาะการเล่นเกมสองหน้า แบ่งบทกันเล่นระหว่างรัฐบาลกับ ส.ว.

หากยังไร้ซึ่งความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็เป็นเรื่องยากที่จะนำพาประเทศก้าวพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้

รวมถึงการชุมนุมครั้งใหญ่ของคณะราษฎร 2563 ที่จะมีขึ้นวันที่ 14 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลยังเมินเฉย ไม่ฟังเสียงประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้อง โดยหนึ่งในนั้นมีเงื่อนไขที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว

อาจส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้