มุกดา สุวรรณชาติ : 14 ตุลาคม 2516-14 ตุลาคม 2563 ยังวนอยู่ในวงจรอุบาทว์

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐประหาร > ปกครอง หาประโยชน์ พร้อมร่างรัฐธรรมนูญ > พอได้เปรียบก็เลือกตั้ง > ถ้าตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ก็สืบทอดอำนาจต่อ > แพ้เมื่อไร ก็ใช้ตุลาการภิวัฒน์ หรือรัฐประหาร วนเวียนอยู่อย่างนี้

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นจากพลังนักศึกษา-นักเรียนที่ไม่ยอมอดทนต่ออำนาจเผด็จการของทรราชซึ่งมีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

และผู้ปกครองช่วงนั้นก็เหมือนเผด็จการทั่วไปที่จะต้องทำการคุกคามจับกุมคุมขังผู้ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เหตุการณ์จึงขยายใหญ่ขึ้น

แล้วก็จบลงด้วยการฉวยโอกาสของกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งสามารถผลักดันให้ 3 ทรราชต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ

เรื่องรัฐธรรมนูญเราเห็นต่างจากประธานสภา…ทีมงานยืนยันว่าระบบการเมืองกับรัฐธรรมนูญ คือต้นเหตุ ส่วนคนคือตัวแปรที่เปลี่ยนได้ อย่าอ้างว่าคนดีแล้วทุกอย่างดี เพราะโลกของอำนาจทุกยุคสมัยมันไม่มีคนดีสมบูรณ์แบบนั้น ทั้งโลกจึงพยายามร่างกฎเกณฑ์ที่จะคัดเลือก ควบคุมและตรวจสอบผู้มีอำนาจ

การคดโกงในระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญก็คือการโกงอำนาจ… อํานาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน จะถูกอ้างเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งเอาไปใช้ จะด้วยการใช้อำนาจปืนบังคับ

หรือบางครั้งก็หลอกลวงว่าเป็นประชาธิปไตยแต่เป็นแบบปลอมๆ แม้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ยุติธรรม ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ

การเลือกตั้งแบบนี้ มีการโกงถึง 3 ระดับ

ระดับแรก เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล เช่น การซื้อเสียง

ระดับที่ 2 ให้กรรมการช่วย ที่เรียกว่าซื้อหน่วย หรือให้ข้าราชการที่มีอิทธิพลช่วย ถ้าใหญ่มากก็ให้ กกต.ช่วย ซึ่งจะทำให้คู่แข่งทำงานลำบาก หรือแม้กระทั่งโดนใบเหลืองใบแดง ชนะเลือกตั้งแต่ก็สามารถถูกไล่ออกได้ ถูกถอดจาก ส.ส.ได้ หรือใช้วิธี…คนเลือกมากนักยุบพรรคซะเลย

ระดับที่ 3 ถือเป็นการโกงที่ร้ายกาจที่สุด โกงโดยเขียนกฎเกณฑ์เพื่อเอาเปรียบ เช่น การออกกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความได้เปรียบตั้งแต่การหาคนสมัคร หาเงินสนับสนุน การนับคะแนน คิดคะแนน วิธีพิจารณาความขัดแย้ง การออกกฎให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ แม้แต่จะย้ายข้ามมายังพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามที่ประชาชนเลือก และการให้อำนาจในการตั้งรัฐบาล เช่น ให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แบบนี้จะเลือกตั้งไปทำไม

เมื่อทำการโกงจนครบกระบวนการ สุดท้าย เสียงของประชาชนจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยของประชาชนได้ ออกเสียงอย่างไรก็ยังแพ้ จะเลือกพรรคที่ตัวเองชอบ นายกฯ ที่ตัวเองชอบยังไงก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

แบบนี้จึงเรียกว่าการเลือกตั้งปลอมๆ

และนี่คือที่มาของความขัดแย้งในปี 2563

วงจรอุบาทว์นี้ไม่สามารถยุติได้ เพราะสมมุติว่าประชาชนพร้อมใจกันเลือกคนที่เขาอยากได้มาบริหารประเทศ พวกเผด็จการก็จะหาทางโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยการสร้างสถานการณ์และทำการรัฐประหาร

เช่น การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519, 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557

 

ชัยชนะ 14 ตุลา 2516
เปิดการต่อสู้ทางชนชั้น
จบที่รัฐประหาร 6 ตุลา 2519

สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มิได้เกิดจากความขัดแย้งของตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะมองทางด้านใด

แต่เป็นความขัดแย้งที่เรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น ทั้งในด้านอำนาจการปกครอง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้ จึงมีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ปกครอง กลุ่มนายทุน กลุ่มศักดินา ทหาร และมหาอำนาจจากต่างประเทศ

ถ้ามองลงไปถึงด้านล่าง ก็จะมีทั้งกลุ่มกรรมกร ชาวนา ในทางการเมือง ยังมีพรรคการเมืองต่างๆ ที่พยายามต่อสู้ตามแนวทางรัฐสภา รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ

รากฐานของความขัดแย้งทางการเมือง ก็คือ การที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริง แต่เป็นการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการ ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานถึง 20 กว่าปี

ผู้ปกครองของไทยยังมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตย พวกเขาไม่รู้จักคำว่าเท่าเทียมกัน เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ชั้นบนจนลงมาถึงข้าราชการระดับล่าง การขึ้นมามีอำนาจของคนธรรมดาสามัญ จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

จากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อด้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส

การตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธของปัญญาชนในยุคสฤษดิ์ จึงเป็นเรื่องเกิดขึ้นอย่างง่ายดายมาก

เพราะแรงบีบคั้นที่ไม่มีทางออกอื่นใด

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สภาพการเมืองในประเทศไทยดูเหมือนจะอยู่ในสภาพฟ้าสีทองผ่องอำไพ หลายคนคิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองสากลคงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้แล้ว

แต่กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้ชี้ชัดว่า กลุ่มผู้ปกครองที่เรียกว่ากลุ่มอำนาจเก่า ไม่ยอมเปิดให้เป็นฟ้าประชาธิปไตย

และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่มีการสังหารหมู่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ก็เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อทำการรัฐประหารในวันนั้นนั่นเอง

 

ศึกษาจากอดีต
จะพบว่าถ้าจะมีเหตุการณ์รุนแรง
จะมีปรากฏการณ์บ่งชี้ก่อน

ความรุนแรงได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ประมาณ 1 ปี มีการลอบสังหารผู้นำชาวนาจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคเหนือ

และเมื่อถึงต้นปี พ.ศ.2519 เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ความรุนแรงก็ขยายตัวออกไปสู่วงการเมือง มีการลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยการลอบยิงบนถนนกลางเมืองในกรุงเทพฯ

การขว้างระเบิดใส่ที่ทำการพรรค และเวทีหาเสียงของพรรคพลังใหม่ มีการลอบสังหารนักศึกษามหิดลที่ไปออกค่ายชนบท คือนายอมเรศ ไชยสะอาด

จนกระทั่งมีการขว้างระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนเพื่อขับไล่ฐานทัพอเมริกา วันที่ 21 มีนาคม 2519 กลางถนนหน้าสยามสแควร์

หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 กลุ่มอำนาจเก่าได้เตรียมการทำรัฐประหาร ซึ่งปรากฏชัดเจน โดยการนำจอมพลประภาสกลับเข้าไทย ในเดือนสิงหาคม 2519 แต่มีการประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต จอมพลประภาสยอมกลับออกไปต่างประเทศ เหตุการณ์จึงสงบลง

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ก็มีการนำจอมพลถนอมกลับเข้ามาอีก เกิดการประท้วง กลุ่มอำนาจเก่าจึงได้โอกาสสร้างสถานการณ์ที่ร้ายแรง เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำการรัฐประหาร

 

ผลกระทบ
ของการรัฐประหาร
6 ตุลาคม 2519

จากเหตุการณ์ร้ายแรง โหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้สะเทือนไปทั่วทั้งประเทศและต่างประเทศ และเมื่อนักศึกษา ชาวนาชาวบ้าน หนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้กับรัฐบาล สงครามจรยุทธ์ก็ขยายไปทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน รบกันนานถึง 6 ปี มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกลายเป็นผู้อยู่อาศัยในเขตชนบท ที่ต้องอยู่ในพื้นที่สงครามจรยุทธ์

ส่วนนักศึกษาหลายคนได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากคนที่จะเป็นหมอ ก็กลายเป็นคนทำงานการเมือง

บางคนก็ต้องเลิกเรียนหนังสือไป

ที่โชคร้ายหน่อยก็ไปเสียชีวิตอยู่ในป่า

ผู้ได้รับผลกระทบ ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า คือผู้ที่เสียชีวิตในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ต้องพูดถึงความเสียใจของญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย คนบาดเจ็บไม่รู้ว่ามากแค่ไหน เพราะทุกคนต้องแอบหลบซ่อนไปรักษาตัว เนื่องจากการตั้งข้อหาในช่วงนั้นร้ายแรงมาก ตั้งเป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์

คนที่ถูกจับในวันนั้น มีประมาณ 3,100 คน ทั้งคนตาย บาดเจ็บ คนที่ถูกจับกุม ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเยาวชน ที่เป็นนักต่อสู้ ถ้านับอายุ ก็รุ่นราวคราวเดียวกับเยาวชนยุคนี้ ที่กำลังต่อสู้อยู่ อายุประมาณ 17-23 ปี

ผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย คือการหยุดพัฒนาการ และต้องใช้ประชาธิปไตยครึ่งใบนานเป็น 10 ปี จนมีรัฐธรรมนูญ 2549 จึงจะได้ใช้จริงคือปี 2554 แต่พวกอำมาตยาธิปไตย ก็อดทนได้ถึงปี 2549

มีการสร้างสถานการณ์เพื่อการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 เพียงแต่วิธีการซับซ้อนมากกว่า ที่เห็นวันนี้คือการใช้กฎหมายเล่นงานและข่มขู่เยาวชน และนักต่อสู้ที่อยู่ในประเทศ ยังไม่ได้ใช้การล่าสังหาร จึงประเมินว่าการใช้แนวทางยึดอำนาจด้วยกำลังยังไม่มีในช่วงนี้

 

ทำไมต้องเคลื่อนไหว 14 ตุลา 2563

ที่จริงผลกระทบทางการเมือง ควรจะให้บทเรียนที่จะทำให้มีการปฏิรูปการเมือง ในช่วง 44 ปี จากปี 2519 จนถึงปีนี้ 2563 แต่ในความเป็นจริง เราจะพบว่า เรายังย้อนกลับไปสู่จุดเดิม มีการสร้างสถานการณ์ รัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งแต่ปี 2549 และหลังจากนั้น ยังมีลูกเล่น เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย โดยใช้ตุลาการภิวัฒน์เป็นเครื่องมือ ใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือ เพื่อพยายามสืบทอดอำนาจ คนที่ขัดขวาง ไม่ติดคุกก็ต้องตาย แบบเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553

วันนี้ชี้ขาดที่รัฐธรรมนูญ

สุดยอดของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ก็คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ หลัง 14 ตุลาคม 2516 และขณะนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังนำไปสู่วิกฤตของประเทศครั้งใหญ่ จึงมีนักศึกษา-ประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อเริ่มต้นแก้โครงสร้าง

ทางเลือกของผู้ปกครองวันนี้ คือ

1. ยอมแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐบาลและ ส.ว.จะเป็นผู้กำหนดเกม นี่คือเลือกการปฏิรูป ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่หนทางที่ยากลำบาก เพียงแต่ต้องยอมลงจากอำนาจ ยอมละอำนาจลงบ้าง

2. ไม่ยอม เพราะจะต้องสืบทอดอำนาจตามแผนเดิม จะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นแบบในอดีต

3. ใช้การรัฐประหาร ด้วยการใช้กำลังอาวุธปราบประชาชนที่ชุมนุมต่อต้าน

แต่ครั้งนี้ ทำรัฐประหารแล้วจะต้องมีคนต่อต้านแน่นอน

ทำแล้วจะปกครองต่ออย่างไร ทั้งโลกกำลังจับตามองอยู่ ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ขึ้น มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จะต้องมีคนรับผิดชอบ และจะเป็นคดีที่ถูกดำเนินคดีระดับสากล คนที่รับผิดชอบ จะถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรตามกฎหมายสากล

ทำแล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร แค่หาคนมาเป็น รมว.คลังยังยาก ทำแล้วประเทศต้องถอยหลังเป็นครั้งที่ 3

 

จากวันที่ 14 ตุลา 2563
จะวัดความตื่นตัวของประชาชน
และสำนึกของผู้มีอำนาจ

โลกวันนี้ ทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเก่าแล้ว และเยาวชนวันนี้ ก็มีความคิดที่ทันสมัย มองไปถึงอนาคต เป็นเยาวชนรุ่นที่จะต้องรับผิดชอบภาระอันหนักอึ้ง เพียงแค่หนี้สินที่รัฐบาลไปกู้ยืมมา ก็คงจะต้องทำงานใช้หนี้กันไปไม่น้อยกว่า 30 ปี เรียกว่าต้องทำไปชั่วอายุของพวกเขาเลย

ดังนั้น พวกเขาจึงต่อสู้เรียกร้อง และอ้างสิทธิอย่างเต็มที่

อยากจะมีสิทธิในการเลือกผู้นำ ผู้บริหาร อยากปรับโครงสร้างประเทศ เพื่อให้สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้า และทำให้ประชาชนพ้นจากความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นอีกหลายปีติดต่อกันนับจากนี้

สังคมเราวันนี้ ย่อมคาดหวังว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแบบ 6 ตุลาคม 2519

แต่หวังว่า จะได้เห็นการปฏิรูป หวังว่าเราจะได้พัฒนาระบบยุติธรรมที่มีมาตรฐาน ไม่เอียง จะลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนในสังคม เป็นความคาดหวังที่ไม่ได้เลอเลิศอะไรมากมาย เพราะผ่านมา 44 ปีแล้ว แต่ทำไมยังคล้ายย่ำอยู่ที่เดิม ยังเป็นกึ่งเผด็จการ ยังไล่จับคนคิดเห็นต่างไปขังคุก ยังต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง

เยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้ข้อมูลจากโลกภายนอกทุกวัน จึงรับไม่ได้ ต้องการการเปลี่ยนแปลง

พวกเขาเห็นวงจรอุบาทว์มาสองครั้งแล้ว และอยากจะออกจากวงจรนี้

การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2563 ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่

แต่น่าจะมีผลดีไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ก็จะมีผลต่อการปฏิรูป หรือการปฏิวัติ แล้วแต่รัฐบาลเลือกตาเดิน

หวังว่าจากวันนี้ไปอีก 1 เดือน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะถ้ายังไม่มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในทางบวก ก็ไม่มีใครคาดคิดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะลุกลามไปถึงไหน จะมีตอนจบอย่างไร