วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จดหมายเหตุสามรัฐ กับเอกสารอื่น (ต่อ)

กล่าวเฉพาะเรื่องราวของสามรัฐแล้วจะเห็นได้ว่า หากไม่นับจดหมายเหตุสามรัฐ ที่ว่าด้วยเรื่องของสามรัฐโดยตรงแล้ว การศึกษาเรื่องราวของสามรัฐย่อมขาดความสมบูรณ์ไปหากไม่ใช้ข้อมูลจากพงศาวดารฮั่นสมัยหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่พงศาวดารสมัยแรกมาประกอบ

ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า พงศาวดารฉบับนี้เป็นเรื่องราวของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ที่ต่อเนื่องจากฮั่นตะวันตก (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.25) (1) โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายฮั่นตะวันออกที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นนั้นถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ไม่น้อย

และหลังจากนั้นจีนก็ถูกแบ่งออกเป็นสามรัฐ ที่ต่างก็ขัดแย้งและทำศึกระหว่างกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ซึ่งก็คือยุคสามรัฐนั้นเอง

 

ถึงแม้จดหมายเหตุสามรัฐจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้แก่ฉบับวรรณกรรมก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจดหมายเหตุฉบับนี้จะไร้ซึ่งปัญหาเสียเลยทีเดียว

ปัญหาหนึ่งคือ ในจดหมายเหตุไม่ได้บันทึกเรื่องราวของขุนนางตระกูลหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นขุนนางตระกูลมีชื่อเสียงของรัฐเว่ยอย่างมาก

และเหตุที่ไม่ได้มีการบันทึกนั้นก็เพราะว่าขุนนางตระกูลนี้ไม่ยอมให้ธัญพืชหรือข้าว ในยุ้งฉางของรัฐตามที่เฉินโซ่วขอ

และที่ไม่ให้ก็เพราะเฉินโซ่วไปขู่ว่าหากไม่ให้ก็จะไม่บันทึกเรื่องราวของตระกูลนี้ลงในจดหมายเหตุ

ปัญหานี้หากเป็นจริงก็แสดงว่าจดหมายเหตุฉบับนี้ไม่ได้บันทึกด้วยความโปร่งใสบริสุทธิ์ ฉะนั้น เรื่องราวในจดหมายเหตุย่อมเป็นไปตามแต่ใจของเฉินโซ่วเอง

 

ปัญหาต่อมาดูน่าสนใจกว่าปัญหาแรก โดยเฉพาะสำหรับใครก็ตามที่ดื่มด่ำกับสามก๊ก ฉบับวรรณกรรม เพราะปัญหานี้นักวิชาการชี้ว่า จดหมายเหตุฉบับนี้ในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องราวของจูเก๋อเลี่ยงหรือข่งหมิง (จูกัดเหลียงหรือขงเบ้ง) นั้นเป็นไปอย่างมีอคติจนทำให้เรื่องราวของข่งหมิงปรากฏไปในทางลบ และสาเหตุของอคตินี้ที่มีมาจากที่ข่งหมิงเคยสั่งลงโทษบิดาของเฉินโซ่ว

เรื่องราวอันเป็นที่มาของการลงโทษดังกล่าวมีว่า ครั้งหนึ่งข่งหมิงผู้เป็นอัครเสนาบดีของรัฐสู่ได้สั่งการให้ขุนศึกหม่าซู่ (ม้าเจ๊ก) นำทัพไปบัญชาการรบใน “ศึกเจียทิง” (ค.ศ.228) แล้วก็ให้ปรากฏว่าหม่าซู่รบแพ้กลับมา

ในสมัยนั้นหากผลเป็นเช่นที่ว่าผู้บัญชาการและขุนนางที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษ และโทษที่หนักสุดก็คือประหารชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้หม่าซู่จึงถูกข่งหมิงสั่งให้ประหารชีวิต และขุนนางคนหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็คือ บิดาของเฉินโซ่ว ซึ่งเป็นขุนนางที่มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของหม่าซู่

บทลงโทษที่บิดาของเฉินโซ่วได้รับเรียกว่า คุน บทลงโทษนี้คือการโกนผมของผู้กระทำผิดจนเกลี้ยงศีรษะ ซึ่งในสมัยโบราณนั้นถือเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงมาก เพราะชาวจีนถือกันว่าเส้นผมเป็นสิ่งที่บรรพชนให้มาแต่กำเนิดที่จะต้องดูแลรักษาไว้ให้ดี ผู้ใดที่รักษาไม่ดีแล้วมีอันเป็นไปที่ไม่ดี ผู้นั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นคนอกตัญญู

ดังนั้น การถูกลงโทษด้วยวิธีคุน จึงย่อมไม่ส่งผลดีต่อจิตใจของผู้ถูกลงโทษ เพราะแม้ไม่ถึงแก่ชีวิต ไม่เจ็บปวดกาย และไม่พิการก็จริง แต่ก็ทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง

 

ที่สำคัญ แม้ไม่มีหลักฐานที่ระบุอย่างชัดเจนว่าคุนเป็นการลงโทษที่มีระยะเวลาชั่วคราวหรือตลอดชีวิตก็ตาม แต่ข้อมูลเท่าที่มีก็บอกเป็นนัยว่าเป็นการลงโทษไปตลอดชีวิต ซึ่งก็น่าจะมีเหตุผลอยู่พอสมควร

เพราะหากคุนเป็นการลงโทษที่มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้นเดือนเท่านั้นปีแล้ว ผู้ถูกลงโทษคงไม่เจ็บปวดรวดร้าวจิตใจมากนัก ด้วยถึงอย่างไรเสียหากเจ้าตัวมีความอับอายก็ยังสามารถหลบหน้าผู้คนเก็บตัวอยู่คนเดียวก็ได้ รอจนครบกำหนดการลงโทษแล้วจึงค่อยออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณะก็ย่อมกระทำได้ ไม่ทำลายความรู้สึกมากนัก

แต่ก็ด้วยเหตุแห่งโทษตามที่กล่าวมาก็ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดชายจีนทุกคนในอดีตจึงไว้ผมยาวมาโดยตลอด

และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า เมื่อพวกแมนจูเข้าปกครองจีนในนามของราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) แล้วบังคับให้ชายจีนโกนผมจนเกลี้ยงเกลามาครึ่งศีรษะโดยปล่อยผมในส่วนครึ่งหลังของศีรษะให้ยาวแล้วถักเป็นหางเปียนั้น จึงได้สร้างความขัดแย้งอย่างมากในความรู้สึกของชายจีนในสมัยนั้น เพราะนั่นเท่ากับว่าพวกแมนจูได้ทำลายสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับชีวิตของชายจีนไปแล้วนั้นเอง

หรือหากกล่าวตามคติที่ไทยเรายึดถือเชื่อกันมาก็คือเป็นการทำลาย “มิ่งและขวัญ” ก็คงไม่ผิดนัก

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างเฉินโซ่วกับข่งหมิงจนเป็นที่มาของปัญหาในจดหมายเหตุสามรัฐดังกล่าวก็ยังมีข้อมูลอีกด้วยว่า ทั้งก่อนหรือหลังการลงโทษบิดาของเฉินโซ่วไม่แน่ชัดนัก ยังพบด้วยว่าตัวข่งหมิงเองก็ดูแคลนความรู้ความสามารถของเฉินโซ่วอยู่ด้วย เช่นนี้แล้วก็คงเห็นได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างข่งหมิงกับเฉินโซ่วคงมีความลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย

คือลึกซึ้งจนถึงขั้นที่ขุนนางผู้มีความรู้สูงที่มีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ ยอมฝืนจรรยาบรรณด้วยการบันทึกบางเรื่องราวโดยขาดความเที่ยงตรง

จากเหตุดังกล่าว เฉินโซ่วจึงบันทึกเรื่องราวของข่งหมิงในจดหมายเหตุฉบับนี้ว่า ฐานะผู้นำทางการทหารของข่งหมิงยังมิใช่จุดแข็งที่โดดเด่นของข่งหมิง ทั้งยังขาดความรอบรู้ทางการทหารที่หลักแหลมอยู่อีกมาก มีความสามารถก็แต่ในทางศิลปวรรณคดีเท่านั้น ชื่อเสียงของข่งหมิงที่กล่าวขานเลื่องลือไปทั่วล้วนเป็นเรื่องที่เกินจริง

จากประเด็นที่เฉินโซ่วเขียนถึงข่งหมิงนั้นทำให้เห็นว่า ล้วนเป็นประเด็นที่ทำให้เห็นว่าข่งหมิงเป็นคนที่ไร้ความสามารถ ตรงกันข้ามที่เรารับรู้เรื่องราวของข่งหมิงผ่านงานวรรณกรรมโดยสิ้นเชิง

จะอย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุสามรัฐดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ และแม้จะไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน แต่ก็ทำให้จดหมายเหตุฉบับนี้มีข้อชวนให้สงสัย ซึ่งหากจะนำมาใช้อ้างอิงแล้วก็ต้องพิจารณาเป็นประเด็นๆ ไป แล้วนำมาเปรียบเทียบกับที่ปรากฏในเอกสารอื่นอย่างเช่นพงศาวดารฮั่นสมัยหลัง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ไม่ได้หมายความว่าเชื่อถือไม่ได้ไปเสียทั้งหมด ซึ่งจะว่าไปแล้วเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของจดหมายเหตุฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าไม่น่าเชื่อถืออยู่นั่นเอง

 

เหตุแห่งสามรัฐ เหตุจากราชสำนัก

การที่บ้านเมืองใดจะเกิดความแตกแยกจนถึงขั้นที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายรัฐ และแต่ละรัฐต่างก็ทำศึกห้ำหั่นกันเพื่อให้ตนเป็นใหญ่แต่เพียงรัฐเดียวย่อมมิใช่บ้านเมืองที่สงบสุข เรื่องเช่นนี้ใครๆ ก็ย่อมรู้ได้โดยสามัญสำนึกและคงไม่มีใครปรารถนาจะให้เกิด

เหตุดังนั้น หากแม้เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมรู้โดยสามัญสำนึกเช่นเดียวกันว่า ที่เกิดนั้นคงต้องมีเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

การที่บ้านเมืองจีนเกิดความแตกแยกจนถูกแบ่งออกเป็นสามรัฐ แล้วแต่ละรัฐต่างแย่งชิงความเป็นหนึ่งก็ย่อมต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดเช่นกัน

ที่สำคัญ บ้านเมืองจีนที่แตกแยกกันเช่นนี้หาใช่จะมีแต่ในยุคสามรัฐเท่านั้น แม้ก่อนหน้ายุคนี้นับร้อยนับพันปีก็เคยเกิดมาก่อน ซ้ำร้ายยังอาจกล่าวได้ว่าหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่ายุคสามรัฐนี้เสียอีก ดังจะเห็นได้จากยุควสันตสารท (ก.ค.ศ.770-476) กับยุครัฐศึก (ก.ค.ศ.475-221) เป็นต้น

ส่วนที่ว่าหนักหน่วงรุนแรงกว่ายุคสามรัฐนั้นอาจดูได้จากยุควสันตสารท โดยข้อมูลจากที่ปรากฏอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ที่ชื่อวสันตสารท ซึ่งรวบรวมและชำระโดยขงจื่อปราชญ์ผู้เรืองนามของจีนนั้น พบว่า การศึกที่เกิดขึ้นในระหว่าง ก.ค.ศ.722-481 หรือ 241 ปีของยุคนี้รวมแล้วมีทั้งสิ้น 367 ครั้ง เฉลี่ยแล้วห้วงที่ว่านี้จีนมีศึกเกิดขึ้นปีละ 1.52 ครั้ง

ลองนึกดูว่า บ้านเมืองที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้จะมีภาพทางสังคมอย่างไร

ดังนั้น ความแตกแยกในยุคสามรัฐที่แม้จะมีระยะเวลาที่สั้นกว่าและมีศึกน้อยครั้งกว่ายุควสันตสารท แต่ก็มิใช่เหตุผลที่จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นบ้านเมืองที่มีความสงบสุขมากกว่าไปด้วย

แต่ก็ดังได้เกริ่นไปแล้วว่า การที่บ้านเมืองจีนเกิดความแตกแยกจนต้องแบ่งออกเป็นสามรัฐย่อมมีสาเหตุนั้น สาเหตุที่ว่านี้ใช่ว่าเมื่อก่อตัวขึ้นแล้วก็นำไปสู่ความแตกแยกในทันทีทันใด อันที่จริงแล้วเมื่อก่อตัวขึ้นมาก็ยังใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะปะทุเป็นความแตกแยก

ในหัวข้อนี้จะได้กล่าวถึงสาเหตุอันเป็นที่มาของความแตกแยกที่ว่า โดยจะเริ่มจากสถานการณ์ที่เป็นภาพรวมก่อนแล้วจึงแคบลงมาที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุให้เกิดยุคสามรัฐขึ้น

—————————————————————
(1) ก.ค.ศ. เป็นคำย่อของคำว่า ก่อนคริสต์ศักราช ถ้าเขียนแบบเดิมก็จะเป็น 206 ปีก่อน ค.ศ.