จับตา “ณัฏฐพล” จัดทัพ “ศธ.” ส่ง “4 บิ๊ก” เคลื่อนการศึกษายกกำลัง 2

ช่วงนี้ประเด็นต่างๆ ในแวดวงการศึกษาช่างร้อนแรงเสียเหลือเกิน

บรรดานักเรียนกลุ่มต่างๆ บุกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครั้งแล้วครั้งเล่า เรียกร้องให้ ศธ.ป้องกันนักเรียน หยุดการคุกคาม และละเมิดสิทธิของนักเรียน และขอให้ ศธ.แก้ไขกฎระเบียบที่ล้าหลัง

ซึ่งกระแสดังกล่าวได้กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้เราเห็นนักเรียน นักศึกษา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองมากขึ้น

ที่ผ่านมา จะเห็นนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พร้อมผู้บริหาร ศธ.ออกหน้ามารับ “ม็อบนักเรียน” อย่างสม่ำเสมอ แทบจะเรียกได้ว่างานต้อนรับม็อบนักเรียน ถือเป็นงานหลักของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปเสียแล้ว

ซึ่งนายณัฏฐพลและทีมผู้บริหาร ศธ.สามารถรับมือม็อบนักเรียนได้ดีในระดับหนึ่ง

แต่หากพูดถึงในการทำงานขององค์กรหลักต่างๆ ใน ศธ.แล้วนั้น ยังทำงานไม่ประสานกันเท่าที่ควร ทำให้การศึกษายังไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง (ซี) 11 ตามที่ ศธ.เสนอ เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ จำนวน 4 ราย ได้แก่ นายสุภัทร จำปาทอง จากเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นปลัด ศธ.

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นเลขาธิการ สกศ.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเลขาธิการ กพฐ.

และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการ กอศ.

“ผมเน้นการทำงานเชื่อมโยงกันของทุกหน่วยงาน ศธ.ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมีกี่หน่วยงาน ศธ.แต่การทำงานต้องเชื่อมโยงกัน และต้องมีเอกภาพ ผมมองถึงความเหมาะสม ว่าบุคคลเหล่านี้สามารถทำงานและขับเคลื่อนงานได้” นายณัฏฐพลกล่าว

นับเป็นการจัดทัพใหม่ที่น่าจับตามอง โดยนายณัฏฐพลให้เหตุผลในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ว่า ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงใน ศธ.และเพิ่มความเข้มข้นในการทำงาน ทั้งนี้ ก็ต้องรอดูผลงานของบุคคลเหล่านี้ต่อไป

ขณะนี้ผู้บริหารทั้ง 4 คน เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งใหม่เรียบร้อยโรงเรียน ศธ.แล้ว โดยตั้งเป้าทำงานตามนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมาย พร้อมๆ กับโชว์วิสัยทัศน์ในการทำงาน เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการ ครู พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนมั่นใจ

ปลัด ศธ.ป้ายแดงอย่างนายสุภัทร จำปาทอง เปิดใจภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า แนวทางการทำงานจากนี้ จะเน้นผลักดันการทำงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่จะต้องเร่งดำเนินการ และการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษายกกำลังสองของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

“ผมได้รับปากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะเร่งดำเนินการใน 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.การคัดคนเก่งเข้ามาเป็นครู 2.การจัดทำคลังข้อสอบในการคัดเลือกต่างๆ ทั้งการสอบครูผู้ช่วย การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 3.การจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4.การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา หรือ Excellent center ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)”

นายสุภัทรกล่าว

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ผู้ดูแลภาพรวมการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนส่วนใหญ่ในประเทศ ระบุว่า มีโจทย์ หรือความท้าทายในการทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการศึกษาพื้นฐานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาชาติ ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือ ความต้องการคนที่มีสมรรถนะ มีทักษะในการดำรงชีวิต เป็นคนดี เป็นคนเก่ง รวมถึงมีทักษะในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างคนเพื่อเชื่อมต่อไปยังอาชีวศึกษา และการมีงานทำ

“เมื่อผมเข้ามาดูแล สพฐ.มีความคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันทั้งประเทศ แต่ตอนนี้เรามีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ที่มีข้อจำกัดเรื่องครู เทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอน แต่ในข้อจำกัดนั้น ถ้าเราสามารถเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน จะทำให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้”

นายอัมพรกล่าว

ขณะที่นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ.คนใหม่ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนางานอาชีวศึกษาที่จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อน คือการแปลงนโยบายการศึกษายกกำลังสองของ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาสู่การปฏิบัติ เพิ่มผู้เรียนอาชีวะ พร้อมกับเน้นพัฒนาสถานศึกษาใน 4 กรอบ คือ

1. ใช้สถานศึกษาในการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน

2. การจัดการศึกษาเพื่อรองรับผู้ที่มีความประสงค์จะเรียนสายอาชีพทั่วประเทศ

3. พัฒนาสถานศึกษาอาชีวะให้มีศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา ตามกลุ่มอาชีพใหม่ที่ตลาดแรงงานต้องการ

และ 4. สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งทั่วประเทศ

“การดำเนินการพัฒนาสถานศึกษา 4 กรอบ จะสามารถประสบความสำเร็จได้ จะต้องเร่งดำเนินการตามนโยบาย 3 ป.ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เข้ามาปรับใช้ด้วย เช่น ปลดล็อกหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ปรับเปลี่ยนพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเปิดกว้างเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม” นายสุเทพกล่าว

ขณะที่นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ.ระบุว่า ได้ย้ำกับข้าราชการให้เร่งผลักดันการจัดการศึกษายุคใหม่ ที่จะต้องเน้นการนำแผนการศึกษาที่มีอยู่ นโยบายของรัฐบาล และของ ศธ.มาผลักดันโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การจัดการศึกษาประสบความสำเร็จ

เมื่อ ศธ.จัดทัพผู้บริหารใหม่ ภายใต้การนำของนายณัฏฐพล จะผลักดันพัฒนาการศึกษาอย่างไร ที่สำคัญ จะประสานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คาดหวังไว้หรือไม่

ซึ่งนอกเหนือจากงานราชการ งานรูทีนต่างๆ รวมทั้งงานที่ต้องผลักดันตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ผู้บริหารชุดนี้ยังต้องพบกับความท้าทายชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือการรับมือกับม็อบนักเรียนที่บุก ศธ.รายวัน

อย่างนายสุภัทรที่เพิ่งรับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็ต้องรับมือม็อบนักเรียน และม็อบครู ที่บุกร้องเรียนที่ ศธ.ถึง 3 ม็อบแล้ว!!

ต้องจับตาว่า การทำงานของผู้บริหารชุดนี้ ภายใต้ภาวะการเมืองที่ไม่นิ่ง ต้องรับมือกับม็อบนักเรียน ม็อบนักศึกษา และม็อบครู แทบจะตลอดเวลา จะสามารถพัฒนา และขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร??