ในประเทศ : ก้าวต่อไปของ “เพื่อไทย” ในวันเปลี่ยนเจเนอเรชั่น ปิดตายรัฐบาลแห่งชาติ

หลังจากมีการขยับปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ “พรรคเพื่อไทย” มาได้อาทิตย์กว่า

บรรยากาศภายในพรรคเพื่อไทยยังคงเงียบเหงา

เพราะเป็นช่วงเดียวกับการปิดสมัยประชุมสภาทำให้ ส.ส.ของพรรคซึ่งเป็น ส.ส.เขตทั้งหมดกลับลงพื้นที่ดูแลฐานเสียงของตัวเอง

มีเพียงคณะกรรมการบางชุดที่ “ต้อง” เข้ามาวางโครงสร้างการทำงานเพื่อ “ขับเคลื่อน” พรรคในยุคนิวเจนเท่านั้นที่เดินเข้าเดินออกพรรค

ดังนั้น กิจการงานหลายอย่างภายในพรรคเพื่อไทยขณะนี้จึงอยู่ในขั้นรีโนเวต

ก่อนจะเปิดตัวพร้อมกับการเปิดสมัยประชุมสภาที่จะมาถึง

 

การปรับโครงสร้างแบบถอดคนเก่า เสริมคนใหม่ เปลี่ยนขั้วการทำงานในพรรคครั้งนี้ของ “เพื่อไทย” ทำให้หลายคนจับตาดูมูฟเมนต์ต่อไปของพรรคพี่ใหญ่ฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก

เพราะศึกใหญ่ 2 ศึกกำลังจะมาถึงอีกครั้งในไม่ช้านี้

นั่นคือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่านายก อบจ.

และศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ซึ่งไม่ว่าศึกไหน “กระแส” และ “คะแนนนนิยม” ของพรรคถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนทั้งสิ้น

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารและคณะทำงานชุดใหม่ของพรรคมีโจทย์ใหญ่ซึ่งก็คือ “การสร้างผลงาน” ให้ทัชหัวใจประชาชนรออยู่

เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา “เพื่อไทย” เสียแต้ม จนกลายเป็นรองให้กับ “พรรคน้องใหม่” อยู่ในหลายช่วงจังหวะที่สำคัญ

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ “คนรุ่นใหม่” ทั้งที่ประเด็นในการขับเคลื่อนทางการเมืองก็ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก แต่กลับมี “ปัญหา” ที่ “วิธีการนำเสนอ” และ “วิธีการสื่อสาร” ที่ไม่ชัดเจน จน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” รู้สึกว่า “คลุมเครือ”

หรือบางครั้งสื่อสารแบบผู้มากประสบการณ์จนคนต่างเจนรู้สึก “เข้าไม่ถึง” และ “เข้าใจยาก” เกินไป

 

ดังนั้น ภาพการดึง “คนรุ่นใหม่” เข้ามาทำหน้าที่ “สื่อสาร” ให้พรรค จึงไปฉายชัดที่ “ทีมโฆษก” โดยปรากฏชื่อ “ดร.อรุณี กาสยานนท์” อดีตโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ และพิธีกรฝีปากกล้าจากวอยซ์ทีวี เข้ามารับหน้าที่เป็นโฆษกให้กับพรรค

ขณะที่รองโฆษก อาทิ “น้ำ-จิราพร สินธุไพร” ก็เป็นภาพของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีดีกรีเป็น ส.ส.ในสภา เข้ามาทำหน้าที่

ภาพทีมโฆษกเพื่อไทยวันนี้จึงเป็นภาพที่ไม่ใช่คนที่ใหม่ประสบการณ์ แต่ก็ไม่ใช่คนที่มากประสบการณ์

“ภารกิจการสื่อสาร” นี้ถือว่าสำคัญมาก ถึงขนาดถูกเขียนไว้เป็น 1 ในภารกิจหลักของพรรค นั่นคือ “งานสื่อสารการเมือง” ที่มีหน้าที่ต้องสร้างความเข้าใจและสื่อสารไปยังประชาชนให้เข้าใจบทบาทของพรรคมากขึ้น

รวมถึงต้องวิเคราะห์ตอบโต้ประเด็นทางการเมืองให้ทันท่วงที ทันสถานการณ์ และต้องพัฒนาระบบโซเชียลมีเดียให้ตอบโจทย์มากขึ้นด้วย

ขณะที่ “ทีมเลขาธิการพรรค” ซึ่งเป็นผู้ทำงานประสานสิบทิศ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ และต้องจัดการเรื่องในบ้านและนอกบ้าน ก็มีการผสมผสานการทำงาน

ให้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.จากฟากฝั่งอีสาน อดีตรัฐมนตรีผู้มีประสบการณ์ เป็นเลขาธิการพรรค ทำงานร่วมกับหนุ่มๆ “รองเลขาธิการพรรค” 5 คน

ประกอบด้วย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม, จิรวัฒน์ ศิริพานิชย์, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, คุณากร ปรีชาชนะชัย และนพ ชีวานันท์

ซึ่งแต่ละคนก็มีของกันคนละแบบ

แต่ที่มีแน่ๆ คือมีความเข้าใจมวลชนที่จะเป็นฐานเสียงให้กับพรรคทั้ง 2 รุ่น

คือ รุ่นที่อยู่กันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย

กับรุ่นที่เพิ่งเคยเห็นเพื่อไทยเป็นครั้งแรก

ดูชื่อชั้นและนามสกุลแต่ละคนแล้ว เห็นภาพชัดมากว่าโตมากับการเมืองแน่นอน

และเมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมรู้ว่า ต้องจัดการอย่างไรเพื่อให้ความต้องการของทุกฝ่ายลงตัว ดังนั้น การสื่อสารที่ไม่ค่อยลงตัวของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีมาก่อนหน้านี้น่าจะทำได้ดีขึ้น

เพราะทีมเลขาฯ ตั้งแต่ตัวเลขาฯ มาจนถึงรองเลขาฯ ล้วนเป็นคนที่มีบทบาทหน้าที่ทำงานในสภา

ซึ่งมีความเข้าใจงานในสภาระดับหนึ่ง การทำงานกับพรรคร่วมที่มีความหลากหลาย และการพูดคุยสื่อสารกันระหว่างพรรคร่วมที่มีความแตกต่างเรื่องเจเนอเรชั่นกันสุดๆ มาก่อนหน้านี้ก็น่าจะปรับให้สมูทขึ้นได้ด้วย

 

ที่น่าจับตามากไปกว่าการดึงเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน คือการดึงคนนอกที่ปึ๊กทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เข้ามาช่วยงาน และขับเคลื่อนทิศทางการก้าวเดินของพรรค

ซึ่งชื่อชั้นของคนที่เข้ามาล้วนเป็นชื่อที่คุ้นหู

หลายคนสร้างความสำเร็จไว้ในยุคทักษิณอย่างเป็นที่ประจักษ์

นี่คือเราพูดถึงคนทำงานเบื้องหลัง

แต่มีอีกคณะหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตาดูอย่างไม่ละสายตาด้วยเช่นกัน นั่นคือ “คณะผู้บริหารพรรค” ซึ่งช่วงหลังจากการปรับโครงสร้างมานี้มีคนพูดถึงมาก โดยระเบียบข้อบังคับพรรคเพื่อไทยปี 2561 เขียนเปิดช่องถึงการมีคณะผู้บริหารพรรคไว้ในข้อ 58 ว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานพรรค คณะกรรมการบริหารอาจแต่งตั้งสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 11 คนเป็นคณะผู้บริหาร โดยให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานคณะผู้บริหาร และเลขาธิการพรรคเป็นเลขานุการคณะผู้บริหาร

“เลขาธิการพรรคป้ายแดง” บอกว่า สำหรับการประชุมกรรมการบริหารนัดแรกเพื่อแบ่งงานกัน จะมีขึ้นช้าที่สุดคือวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคมนี้ ซึ่งใจอยากประชุมให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว

เนื่องจากมีภารกิจอีกมากที่ต้องทั้งสะสางและสร้างผลงานใหม่

การแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ก็สำคัญ การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชนก็กำลังจะเกิดขึ้นไม่ช้านี้ การแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องขับเคลื่อนต่อให้สำเร็จ

การเลือกตั้งท้องถิ่นก็งวดเข้ามาทุกที ไหนจะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จนถึงวันนี้ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่อีก

 

นี่คือภาระบนบ่าของกรรมการบริหารชุดใหม่ของเพื่อไทย นอกจากนี้แล้ว โจทย์หินในหัวใจอีกประการหนึ่งของคณะกรรมการบริหาร คณะทำงาน และองคาพยพของพรรคเพื่อไทยหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้คือ ต้องทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ให้ได้ว่า เปลี่ยนแล้ว “เพื่อไทย” ดีขึ้นกว่าเดิม

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาอีนุงตุงนังในพรรค แต่ยังเป็นการปรับภาพ ปรับการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น และปรับให้คนทำงานจริงได้มีโอกาสขึ้นมาอยู่แถวหน้าด้วย

ส่วนประเด็นที่มีกระแสหนาหูเรื่องการร่วมรัฐบาลแห่งชาติ ถามตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวนในพรรค ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เข้าร่วมไม่ได้!”

เพราะไม่ใช่แค่ประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคจะยี้แล้ว ส.ส.และผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคซึ่งมีจุดยืนที่เข้มแข็งในเรื่องนี้หลายคนก็ไม่เอาด้วยแน่ๆ

และถ้าจะเอาด้วยกับช่องทางนี้จริง “พรรคเพื่อไทย” จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แพจะแตกยับเพราะจุดยืนและอุดมการณ์

ดังนั้น กระแสเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเพียงเรื่องที่ต่างคนก็ได้แค่ต่างคาดเดา มีเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้ชัดเจนที่สุด