ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนของโลก |
เผยแพร่ |
นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ เทเรซา เมย์ วัย 59 ปี เป็นนักปฏิบัติที่ผงาดขึ้นมาจากความอลหม่านของการลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันแบบรวมๆ ว่าอังกฤษ อย่างไม่เกรงกลัว โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมจะนำอังกฤษออกจากอียู
เมย์ ผู้นำหญิงคนที่ 2 ต่อจาก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคอนุรักษนิยม (ทอรี) เช่นเดียวกัน อยู่ฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป แต่ไม่ได้เป็นแกนนำในการรณรงค์อย่างกระตือรือร้น โดยเธอเก็บตัวเงียบตลอดช่วงเวลาการรณรงค์
และเมื่อผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนออกมาอย่างน่าตกตะลึงว่าชาวอังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู เธอได้ก้าวเข้ามารับช่วงต่อจาก เดวิด คาเมรอน ที่ประกาศลาออกท่ามกลางสถานการณ์สูญญากาศทางการเมือง
เมย์ยืนยันว่า เบร็กซิทก็คือเบร็กซิท ไม่มีการหันหลังกลับแต่อย่างใด
แม้ว่าเมย์จะเอาชนะคู่แข่งในการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเด็ดขาด แต่เธอต้องเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างความเป็นเอกภาพทั้งในประเทศและในพรรคที่แตกแยกจากการลงประชามติ
เธอถูกตีตราจาก เคนเน็ธ คลาร์ก สมาชิกอาวุโสของพรรคทอรีว่าเป็น “ผู้หญิงที่ก้าวร้าวและไม่ประนีประนอม” แต่เมย์กล่าวว่า นี่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นซึ่งทำให้เธออยู่ในสถานะที่ดีในการเผชิญหน้ากับศึกหนักระดับเข็นครกขึ้นภูเขาที่รออยู่ข้างหน้า
“คนต่อไปที่จะพบว่าดิฉันเป็นเช่นนั้นคือ ฌอง โคล้ด ยุงเคอร์” เธอบอกกับสมาชิกรัฐสภาในพรรค โดยเธอหมายถึงการเจรจาต่อรองเรื่องเบร็กซิทกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
เมย์เป็นแฟนคริกเก็ตตังยง และเปิดเผยว่างานอดิเรกของเธอคือการเดินและการทำอาหาร โดยครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอมีหนังสือตำราทำอาหารมากกว่า 100 เล่ม นอกจากนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุของบีบีซี เธอเลือก “แดนซิ่ง ควีน” ของแอบบา วงยูโรป๊อปของสวีเดนเป็น 1 ในเพลงโปรด
เธอเป็นที่รู้จักดีจากการชอบสะสมรองเท้าส้นเตี้ยลายเสือดาว ซึ่งขัดแย้งกับรสนิยมในการแต่งตัวที่เป็นทางการและบุคลิกภาพที่สุขุม จริงจังของเธอ
ทว่า เมย์เป็นคนที่ปกป้องรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างสูง ซึ่งเป็นวิถีทางที่พบได้น้อยในบรรดานักการเมืองยุคใหม่
เทเรซา เมย์ นามสกุลเดิมคือ เบรเซียร์ เกิดเมื่อปี 1956 ที่อีสต์บอร์น เมืองชายทะเลทางตอนใต้ของอังกฤษ ฮิวเบิร์ต พ่อของเธอเป็นบาทหลวงของนิกายแองกลิกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในความเหมือนกันที่ทำให้เธอถูกนำไปเปรียบเทียบกับ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
เมย์จบการศึกษาจากโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก นับเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับภูมิหลังทางการศึกษาที่โดดเด่นของคาเมรอน และนักการเมืองชั้นนำที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนก่อน
อย่างไรก็ตาม เธอเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเหมือนกับคาเมรอน แต่ยังคงพยายามทำตัวไม่ให้เป็นจุดสนใจ ซึ่งที่นี่เองซึ่งเธอได้พบกับ ฟิลิป เมย์ สามีของเธอ ที่ต่อมามีอาชีพเป็นนายธนาคาร
รายงานข่าวระบุว่า แม่สื่อที่แนะนำให้ทั้งคู่รู้จักกันคือ เบนาซีร์ บุตโต ที่ต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีปากีสถาน และถูกลอบสังหารในเวลาต่อมา
ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อปี 1980 แต่ไม่สามารถมีลูกได้ ซึ่ง แอนเดรีย เลดซัม คู่แข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคทอรีของเมย์นำจุดนี้มาโจมตีเธอ โดยระบุว่า การที่เมย์ไม่มีลูกทำให้น่าจะมีคุณสมบัติเหมาะสมน้อยกว่าเธอในการเป็นนายกรัฐมนตรี
เมย์ทำงานในสายการเงิน ซึ่งรวมถึงที่ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ก่อนที่จะลงเล่นการเมืองและได้รับเลือกตั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภาของเมืองเมเดนเฮดเมื่อปี 1997
ในการดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษนิยมเมื่อปี 2002 เธอสร้างความสั่นสะเทือนด้วยการระบุว่าทอรีถูกมองว่าเป็น “พรรคการเมืองที่น่ารังเกียจ” และต้องมีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ โดยพรรคได้ทำตามคำแนะนำของเธอภายใต้การนำของคาเมรอน
เมื่อพรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2010 เมย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ถือว่าเป็นงานยากที่สุดในรัฐบาลและทำลายชีวิตการเมืองของนักการเมืองหลายคนก่อนหน้านี้จนพังทลายมาแล้ว
แต่เมย์อยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 6 ปี ที่ทำให้เธอเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1892 เป็นต้นมา