เมื่อกล้วยกลายเป็นศิลปะในพิพิธภัณฑ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
เมาริซิโอคัตเตลาน Comedian, (2019), ภาพจากhttps://nyti.ms/3cdRxUN

ถ้าใครยังจำได้ ที่ผ่านมาเราเคยเล่าถึงกล้วยธรรมดาๆ ที่ถูกเอามาทำเป็นงานศิลปะและจัดแสดงในเทศกาลงานศิลปะระดับโลกอย่างอาร์ต บาเซิล (Art Basel) ที่ชายหาดไมอามี โดยหอศิลป์ร่วมสมัย Perrotin และขายไปในราคาสูงสุดถึง 150,000 เหรียญสหรัฐ (หรือราว 4 ล้านกว่าบาท)

เจ้ากล้วยที่ว่านี้เป็นผลงานศิลปะของเมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ศิลปินชาวอิตาเลียนเจ้าของฉายา “จอมป่วนแห่งโลกศิลปะ”

ที่หยิบเอากล้วยหอมที่หาซื้อมาจากร้านขายของชำในไมอามีเอามาติดบนผนังด้วยเทปกาวผ้า และตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า

Comedian, (2019) (https://bit.ly/2RP9dN9)

เมาริซิโอ คัตเตลาน Comedian, (2019), ภาพจากhttps://nyti.ms/3cdRxUN

ล่าสุด การป่วนโลกศิลปะของคัตเตลานก็ได้รับการตอกย้ำว่า กล้วยธรรมดาๆ ที่เอามาติดผนังนั้นสามารถเป็นศิลปะได้จริงๆ ไปอีกขั้น ด้วยการที่พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก (Solomon R. Guggenheim Museum New York) นำผลงาน Comedian, เข้าไปรวมในคอลเล็กชั่นสะสมของพิพิธภัณฑ์แล้ว

ซึ่งผลงานชิ้นนี้ถูกบริจาคโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

“เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับผลงาน “Comedian” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของศิลปินกับประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ นอกจากนี้มันก็แค่สร้างความกดดันเล็กๆ น้อยๆ ให้กับฝ่ายจัดเก็บงานของเราก็เท่านั้นเอง” ริชาร์ด อาร์มสตรอง (Richard Armstrong) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์กล่าว

ในความเป็นจริงแล้ว “Comedian,” ที่ขายให้นักสะสมนั้น ไม่มีแม้แต่กล้วยหรือเทปกาวใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งที่คนซื้อจะได้รับไปนั้นก็คือ “ใบรับรองความถูกต้องของผลงาน” ซึ่งเป็นเอกสาร 14 หน้า ที่เป็นรายการคำแนะนำพร้อมแบบแปลนที่ชี้แนะว่ากล้วยควรจะติดตั้งและจัดวางยังไง เท่านั้นเอง

ลีนา สตริงการี (Lena Stringari) หัวหน้าฝ่ายดูแลผลงานของพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์กล่าวว่า รายการคำแนะนำนั้นค่อนข้างง่ายที่จะปฏิบัติตาม และค่อนข้างตอบข้อสงสัยของเราได้อย่างกระจ่างแจ้ง

เช่น ต้องเปลี่ยนกล้วยบ่อยแค่ไหน (ราว 7 ถึง 10 วัน)

หรือตำแหน่งที่จะติดอยู่ตรงไหน (175 ซ.ม.เหนือพื้น)

“จากเหล่าบรรดางานศิลปะทั้งหมดที่ฉันเคยเจอมา ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นอะไรที่จัดการง่ายที่สุด เพราะมีแค่กล้วยกับเทปกาวผ้าเท่านั้นเอง”

เอาจริงๆ ก่อนหน้านี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งต่างก็เคยต้องรับมือกับงานศิลปะที่เปราะบาง เสื่อมสลายง่าย และไม่อยู่คงทนยาวนานมาแล้วทั้งนั้น

เคเดอร์อัลเทีย Untitled (Ghardaïa) (2009), ภาพจากhttps://nyti.ms/3cdRxUN

ผลงานหลายชิ้นทำจากอาหารที่เน่าเสียง่าย ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Untitled (Ghardaïa) (2009) แบบจำลองย่อส่วนของเมืองแอลจีเรียที่สร้างขึ้นจากคูสคูส (อาหารของชนเผ่าเบอร์เบอร์ ทำจากแป้งเซโมลินา ธัญพืช และแป้งสาลี เป็นที่นิยมมากในประเทศโมร็อกโก, ตูนิเซีย, ลิเบีย, แอฟริกาตะวันตก และฝรั่งเศส) ของศิลปินชาวฝรั่งเศส เคเดอร์ อัลเทีย (Kader Attia)

ดาเมียนออร์เตกา Tortillas Construction Module (1998), ภาพจากhttps://nyti.ms/3cdRxUN

หรือผลงาน Tortillas Construction Module (1998) แผ่นแป้งตอร์ติญ่าเสียบต่อกันเป็นงานประติมากรรมของศิลปินเม็กซิกัน ดาเมียน ออร์เตกา (Damiïn Ortega)

เกเบรียลเซียรา Hang It All (2006), ภาพจากhttps://bit.ly/35XTsvn

หรือผลงาน Hang It All (2006) ผลไม้ที่ถูกเสียบบนที่แขวนเสื้อโค้ตของศิลปินโคลอมเบีย เกเบรียล เซียรา (Gabriel Sierra)

ปิเอโรมันโซนี Artist’s Breath (1960), ภาพจากhttps://nyti.ms/3cdRxUN

หรือผลงาน Artist”s Breath (1960) (ลมหายใจของศิลปิน) ที่ใช้ของที่เสื่อมสภาพง่ายอย่างลูกโป่งบรรจุลมหายใจของศิลปินไว้ข้างใน ของศิลปินชาวอิตาเลียน ปิเอโร มันโซนี (Piero Manzoni) ซึ่งในที่สุดลูกโป่งที่ว่าก็แฟบและเสื่อมสภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในเวลาไม่นาน

จิโอวานนีอัลเซลโม Untitled (Sculpture That Eats) (1968), ภาพจากhttps://bit.ly/2FLLMSu

หรือผลงาน Untitled (Sculpture That Eats) (1968) ของศิลปินอิตาเลียน จิโอวานนี อัลเซลโม ประติมากรรมรูปแท่งหินสี่เหลี่ยมคล้ายเสา ส่วนปลายเสาโปะด้วยหัวผักกาดหอม ประกบทับด้วยแผ่นหินสี่เหลี่ยมแล้วมัดด้วยลวด ถ้าผักกาดหอมแห้งเหี่ยวจนหดตัวและร่วงโรยลง แผ่นหินที่ถูกมัดไว้ด้วยกันก็จะร่วงหล่นลงพื้น

ดังนั้น ประติมากรรมชิ้นนี้จึงต้องถูก “ป้อน” ผักกาดหอมสดใหม่เข้าไปอยู่เสมอ เพื่อให้คงสภาพอยู่ได้ มันเลยมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ประติมากรรมที่กิน (ผักกาด) ได้”

โยโกะโอโนะ Apple (1966), ภาพจากhttps://mo.ma/3iZhoSQ

หรือผลงาน Apple (1966) ของโยโกะ โอโนะ ที่เป็นแอปเปิลวางอยู่บนฐานแสดงงานพลาสติกใส ซึ่งเจ้าแอปเปิลที่ว่านั้นก็ถูกซื้อมาจากร้านขายของชำใกล้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ที่จัดแสดงผลงานนั่นเอง

และแอปเปิลที่ค่อยๆ เหี่ยวเฉาเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา ก็จะถูกเปลี่ยนใหม่สองสามครั้งในช่วงเวลาสี่เดือนของการจัดนิทรรศการ

ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่เป็นกังวลถ้าแอปเปิลศิลปะที่ว่านี้จะถูกมือดีที่ไหนมาหยิบฉวยไป

เพราะเมื่อถูกหยิบออกไปจากฐานวาง มันก็จะกลายเป็นแอปเปิลธรรมดาๆ ไปในทันที

สําหรับงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความคิด บางครั้งวัสดุที่ใช้สร้างงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพเดิมไปจนจบนิทรรศการ

เพราะถึงแม้ตัววัตถุจะเสื่อมสลายและถูกทิ้งไป แต่ความคิดยังคงอยู่

และผลงานก็สามารถถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในอนาคตตามคำสั่งของศิลปินได้ …ถึงแม้ศิลปินผู้นั้นจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม

การใช้วัตถุที่มีอายุสั้นและไม่คงทนถาวรในงานศิลปะเช่นนี้ มักจะสัมพันธ์กับแนวความคิดเกี่ยวกับความตายและการเสื่อมสลายของชีวิตนั่นเอง

“เมื่อคุณคิดว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับศิลปะคือความคิดมากกว่าวัสดุ เมื่อนั้นก็ไม่สำคัญว่าวัสดุนั้นจะอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน งานศิลปะหลายชิ้นเปลี่ยนแปรสภาพไปจากเดิมอย่างมาก หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คือการพยายามเก็บรักษามันเอาไว้ตลอดไป”

เมลิซา ชู (Melissa Chiu) ผู้อำนวยการของ Hirshhorn Museum and Sculpture Garden กล่าว

สําหรับกล้วยศิลปะ หรือ Comedian, นั้นเป็นผลงานที่แสดงถึงตัวตนของโลกศิลปะ และคำถามที่ว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจว่าอะไรสามารถเป็นศิลปะได้ และต้องใช้จำนวนเงินมหาศาลขนาดไหนที่จะจ่ายให้กับมัน

หอศิลป์ร่วมสมัย Perrotin ตัวแทนผู้ขายผลงานกล้วยศิลปะไปสามชิ้นในงานอาร์ต บาเซิล ไมอามี กล่าวว่า “Comedian, เป็นผลงานที่มีองค์ประกอบอันเรียบง่ายที่สุด ที่สามารถนำเสนอภาพสะท้อนอันซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ออกมาได้”

ยังไม่มีการเปิดเผยจากทางพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ว่าจะจัดแสดงผลงานกล้วยศิลปะนี้เมื่อไหร่ แต่เมื่อพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดง สตริงการีกล่าวว่า เธอสามารถรับมือได้ไม่ยากจากรายการคำแนะนำที่ได้มา

“ฉันไม่คิดว่าในรายการนั้นมีตรงไหนที่บอกว่าเราต้องหากล้วยขนาดเท่าไหร่ หรือหามาจากไหน ไอเดียนั้นมีแค่ว่ามันต้องเป็นกล้วย และแนะนำไปซื้อกล้วยมาเท่านั้น ถ้าถามว่าจะไปหากล้วยมาจากไหน ฉันคิดว่าเราก็แค่ไปซื้อมาจากร้านขายของชำเท่านั้นแหละ”

ข้อมูลจาก https://nyti.ms/3cdRxUN, https://bit.ly/35XTsvn, https://mo.ma/3iZhoSQ