ทราย เจริญปุระ | “นรกคือคนอื่น”

เรื่องต้องเรียนรู้มีอยู่ทุกวันจริงๆ

ก็คงไม่ต้องบอกอะไรกันเยอะกับส่วนร่วมที่ฉันมีในการจัดการชุมนุมแต่ละครั้ง ที่จริงมันเริ่มต้นด้วยอะไรที่เล็กจิ๋วมากๆ อย่างการซื้อข้าวซื้อน้ำซื้อขนมไว้เผื่อเด็กๆ ที่จัดงานตั้งแต่ช่วงต้นๆ กลุ่มชุมนุมของน้องๆ จำนวนไม่มากมายอะไร แล้วก็เริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดคือการชุมนุมวันที่ 19 กันยาที่ผ่านมา

ฉันพูดซ้ำพูดซากไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ว่าทุนรอนทั้งหมดที่ใช้ไป ไม่ได้มีเศรษฐีเงินถัง หรือการจัดตั้งกลุ่มการเมืองอะไรมาสนับสนุน แต่เริ่มก้อนแรกมาจากค่าไกล่เกลี่ยยอมความที่ฉันได้รับจากการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท ที่ฉันโดนกล่าวร้ายด้วยถ้อยคำรุนแรง อันมาจากการเขียนโพสต์ของฉัน ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของเขา

ผ่านกระบวนการในศาลอะไรกันไป ก็ได้รับค่าไกล่เกลี่ยยอมความเพื่อยุติคดี

ฉันไม่ได้เกิดความพึงพอใจ หรือคิดวางแผนเอาไว้ ว่าจะจัดการอย่างไรกับเงินก้อนนี้

ไม่ได้มองว่าโชคดี ไม่ได้มองว่าโชคร้าย มองแค่ว่าฉันทำสิ่งที่ต้องทำ แล้วมันก็ออกมาแบบนี้

หักค่าใช้จ่าย ค่าทนายต่างๆ แล้วก็ยังเหลืออีกก้อน ฉันเลยเอาไปซื้อข้าวซื้อน้ำแจกน้องๆ ที่มาชุมนุม

ก็นั่นล่ะ จุดเริ่มต้น

หลายคนติดจะขำเมื่อนึกถึงที่มาและทางไปของเงินก้อนนี้ ว่ามันย้อนแย้งแสนประหลาด ฉันโดนด่าเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับฉัน ฉันฟ้องร้องเขา เขายอมความฉัน ฉันเอาเงินเขามาสนับสนุนการแสดงออกตามความเชื่อของตัวเอง

แต่เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ขำหรือสนุกอะไร การโดนด่าแม่บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี และถึงจะซ้ำซากวนเวียนแต่กับการเหยียดหยาบเรื่องเพศ รูปลักษณ์ หรือคำดูถูกดูแคลนอื่นๆ แบบไม่มีอะไรใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าฉันจะรู้สึกสบายดีที่โดนด่า

-นรกคือคนอื่น-

ฉันสักข้อความนี้ไว้บนต้นขาขวา เป็นการบอกตัวเองเวลาเป็นบ้าเป็นบอไปกับความคาดหวังลมๆ ที่เกิดขึ้นเองเฉพาะในสมองของฉัน ว่าคนอื่นๆ เขาคาดหวังอะไรในตัวฉัน อยากให้ฉันเป็นอะไร เป็นใคร หรือทำอะไรให้ได้อย่างที่เขาคิดหรือคาดหวัง จับจ้อง ป้องปาก นินทา ด่าทอ

เรื่องพวกนี้จริงแสนจริงเท่าๆ กับที่ฉันมีชีวิต แต่มันก็แสนจะไม่จริงในเวลาเดียวกัน

การที่มันเกิดขึ้นจริงในความคิดของฉัน ไม่ได้ทำให้มันสมจริงในมิติอื่น ไม่ได้ทำให้มันถูกต้อง ไม่ได้ทำให้มันสมเหตุผล

-นรกคือคนอื่น-

นรกคือความคาดหวังต่อตัวเราเองที่เราคิดว่าคนอื่นเป็น

“อะไรคือการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์กับตัวเอง” พรายน้ำเอ่ยถามถนอมนวล*

สามครั้งสามคราที่ถนอมนวลหาคำตอบ

อยู่กับปัจจุบันขณะ

แก้ไขอดีต

หรือมุ่งสู่อนาคต

สิ่งใดจึงตอบคำถามของพรายน้ำได้

มนุษย์ไม่ได้ดำเนินชีวิตเป็นเส้นตรง

เราทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกันในเวลาเดียว รัก เกลียด ชอบ ฝันถึงอดีตและหวังถึงอนาคตไปได้พร้อมกัน แม้ในวันที่เรายังไม่ก้าวไปไหนเลย

ถนอมนวลมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลประกอบการของเส้นทางที่เขาเลือกมาในอดีต และเป็นการประเมินความเป็นไปได้ของเส้นทางต่อไปในอนาคตของถนอมนวล

เด็กหนุ่มที่ครุ่นคิดถึงคำถามจากพรายน้ำไม่ได้โดนล่อลวงให้หลุดปากตอบคำถามได้ง่ายดั่งใจ

ทั้งปัจจุบันและอนาคตของถนอมนวลถูกโยงไว้กับประโยคนี้ตลอดกาลทันทีเมื่อสิ้นคำถามจากพรายน้ำ

-อะไรคือการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์กับตัวเอง-

มีผู้คนมากมายที่หาคำอธิบายให้กับการกระทำของตัวเองหลังจากที่ได้ทำมันลงไปแล้ว ทั้งที่ตอนทำอาจจะไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของการประมวลผลระหว่างความรู้ สัญชาตญาณและเหตุการณ์เฉพาะหน้า

มันคือการเอาชีวิตรอดในทุกวินาที ทุกนาที ทุกชั่วโมง ของทุกวันที่เราก้าวผ่าน

และมีบางคนพยายามคาดเดา พยายามหาคำตอบต่อการกระทำของคนอื่น อธิบายอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ความเชื่อ อคติ และความเกลียดชังที่อยากจะให้เราเลวได้ดั่งใจเขาคิด

บ้างก็พยายามใช้ฝั่งดีเข้าอธิบาย เขาคงจำเป็น เขาน่าเห็นใจ เขาไม่มีทางเลือก อย่าไปคาดหวัง

แต่ไม่ว่าจะตอบแบบไหน เขาก็ยินดีจะกล่อมให้ตัวเองเชื่อมั่นในคำตอบเช่นนั้นอย่างสุดใจ นรกล้วนเป็นคนอื่น นรกคือคำถามจากพรายน้ำ นรกคือการกลับมาเขม้นมองตัวเองจากรอบทิศ ต่างมิติ และหวาดระแวงว่าแท้จริงแล้วคำตอบจริงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการฟัง

-แต่เชื่อเถอะ มนุษย์คือความขาด คือการมีชีวิตเพื่อเติมเต็มความขาด-*

เขาแค่ไม่สนใจ เขาแค่เกลียด เขาแค่รู้สึกว่าไม่ใช่ธุระ แล้วคุณก็รู้ตัวว่าคุณรับคำตอบแบบนี้ไม่ได้ คุณจะสบายใจกว่าถ้าเขาไม่พูดอะไรเพื่อจะเว้นที่ว่างให้คุณยัดคำตอบของตัวเองใส่ในการกระทำของเขา

เพื่อที่เราจะดำเนินชีวิตต่อไป

เพื่อจะตัดสินใจอย่างฉับพลันทันทีในทุกทางเลือกของชีวิต แล้วค่อยมาหาเหตุผลปลอบใจตัวเองในภายหลัง

เพราะนรกคือคนอื่น

คือคนอื่นเสมอ

ไม่ใช่เรา

“ตัวเราในสายตาคนอื่นยิ่งใหญ่เสมอ เราถึงได้ต้องการสายตาเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาในสายตาเราก็ยิ่งใหญ่กว่า เจิดจรัสกว่า มีเซ็กซ์ที่ผาดโผนและดื่มด่ำยิ่งกว่าตัวเราเองเสมอ–นรกถึงได้คือคนอื่น”*

“ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” เขียนโดยภาณุ ตรัยเวช ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์, 2563

*คำถามของพรายน้ำและตัวละครถนอมนวลจากเรื่องสั้น -น้ำพุแห่งวัยเยาว์-ในเล่มนี้