มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/ บ้านเมืองหลังโควิด-19

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

บ้านเมืองหลังโควิด-19

 

ช่วงเวลาที่บ้านเมืองถูกล็อกดาวน์ มีประกาศเคอร์ฟิว และการอยู่บ้านเป็นการช่วยชาติ ต่อสู้กับสงครามโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลานานเป็นเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากาก การละเว้นไม่สัมผัสสิ่งต่างๆ การทำงานที่บ้าน การติดต่อ ประชุม สื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต การพักผ่อน สังสรรค์ ผ่านเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อ-ขายของและอาหารออนไลน์

ตัวผู้เขียนเองก็พบว่า การประชุมทางไกลผ่านระบบต่างๆ นั้น ดูจะได้ผลดีกว่าการประชุมแบบเดิม ทั้งระยะเวลาและเนื้อหา โดยเฉพาะการอภิปรายนอกประเด็นนั้น ลดลงอย่างมาก

แต่ที่ชอบมากคือ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไป-กลับอย่างน้อยสองสามชั่วโมงต่อการประชุมแต่ละครั้ง

เช่นเดียวกับการเรียนการสอนผ่านระบบต่างๆ ก็สะดวกสบาย เพราะไม่ต้องเดินทางอีกเช่นกัน

อีกทั้งชั่วโมงสอนยังเอื้อต่อกิจกรรมอื่น คือ สอนเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าคนสอนและคนเรียนว่างพร้อมกัน

อาจารย์ยังสามารถติดตามตัวนิสิตได้ตลอดเวลา การตรวจงานได้สะดวก แม้กระทั่งปลุกให้เรียนในตอนเช้า

ในขณะที่นิสิต-นักศึกษาสามารถฟังบรรยายที่บันทึกไว้ ตอนไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ รวมทั้งระหว่างเรียน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะคุย จะไม่ล้างหน้าล้างตา ไม่แต่งตัวก็ได้ เพียงแค่ปิดกล้อง หรือให้อาจารย์เห็นเพดานแทน

เช่นเดียวกับการรับประทานอาหาร โดยสั่งอาหารผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่เลือกให้ถูกปาก และหลากหลายเพิ่มขึ้น รวมทั้งลืมไปเลยกับความวุ่นวายที่ต้องขับรถวนหาที่จอด นั่งรอในร้าน หรือดั้นด้นไปไหนไกลๆ

 

ด้วยเหตุนี้ ต่อไปแม้จะหมดปัญหาเรื่องโรคระบาด ผู้คนคงติดใจกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปแล้ว

สำนักงานจะลดความสำคัญ และลดพื้นที่ลงไปมาก เช่นเดียวกับในสถานศึกษา ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องพักนักศึกษา ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ในศูนย์การค้า ร้านค้าคงจะไม่หมดไป หากเหลือเฉพาะที่ระบบไอที ยังแทนที่ไม่ได้ อย่างเช่น ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม หรือร้านนวด ที่ต้องอาศัยช่าง และการสัมผัสโดยตรง

ร้านอาหาร ร้านกาแฟ คงเป็นสถานที่พบปะพูดคุยสังสรรค์ มากกว่ารับประทานอาหารตามความจำเป็น รวมทั้งการจัดโต๊ะที่นั่ง ที่จะต้องเปลี่ยนไป โต๊ะจะใหญ่ขึ้น แต่ที่นั่งจะน้อยลง เพื่อจะได้นั่งกันห่างๆ โต๊ะอาหารกินคนเดียว แบบแยกส่วน โต๊ะอาหารกินนหลายคน แบบแยกห้อง จะมาแน่นอน

ร้านอาหารประเภทกินร่วมกัน แบบหมูกระทะ สุกี้ ชาบู คงจะต้องแยกเฉพาะคน หม้อใครหม้อมัน ประเภทบุฟเฟ่ต์ ที่เตรียมอาหารให้หลายคนเลือกตักจะต้องเปลี่ยนเป็นรายการอาหารมากมายเท่าเดิม แต่แยกทำหรือแยกตักเฉพาะคนแทน

 

ด้วยเหตุนี้ อาคารสถานที่ต่างๆ คงจะเปลี่ยนตามไปด้วย อาคารสำนักงาน ที่ทำการ สถานศึกษา จะลดขนาดและความสำคัญ

แต่บ้านพักอาศัยจะใหญ่ขึ้น มีบทบาทมาก มีห้องทำงานเฉพาะบุคคล ห้องพักส่วนตัวอาจต้องมี เพื่อจะไม่ถูกรบกวน

เช่นเดียวกับมีอุปกรณ์ออกกำลังกาย พักผ่อน แม้แต่สนาม ที่ดินปลูกผัก ไปจนถึงถนนทางเท้าในหมู่บ้าน ในชุมชน จะร่มรื่น สะอาด และมีสภาพดี เหมาะกับการออกกำลังกายเช้า-เย็น

สระว่ายน้ำตามคอนโดมิเนียม จะเป็นที่รังเกียจ

แต่ที่ทางสนาม ทางวิ่งออกกำลังกายกลางสวนคงเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับคอนโดฯ ขนาดเล็ก จะดูปลอดภัยกว่าโครงการใหญ่ที่มีเป็นร้อยเป็นพันหน่วย ที่ต้องขึ้นลิฟต์ไปกับใครก็ไม่รู้

การจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ คงจะดำเนินต่อไป การเรียนการสอนออนไลน์คงจะกลายเป็นเรื่องปกติ การทำงานที่บ้าน การประชุมทางไกล กลายเป็นทางเลือกที่ใช่ เกิดชุมชน ตลาด หรือศูนย์การค้าเสมือนมากขึ้น คงมีทั้งซียูมาร์เก็ตเพลส ตลาดนัดอินเตอร์ ตลาดออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย

อาจารย์หนึ่ง ทศพล อมรพิชญ์ปรัชญา แห่ง Next Real สรุปสั้นๆ ว่า

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดสิ่งใหม่ คือการเปิดท้าย (รถ) ขายของ

หลังวิกฤตโควิด-19 จะเกิดสิ่งใหม่ คือการฝากร้าน หรือซื้อ-ขายออนไลน์