หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’กำพร้า, โชกโชน และความรัก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ลูกสัตว์จะได้รับการปกป้องดูแลอย่างดีจากแม่ รวมทั้งสมาชิกตัวโตๆ ในฝูง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘กำพร้า, โชกโชน และความรัก’

 

ลูกหมีควายอายุราวหนึ่งเดือน พยายามดิ้นรนและหลุดออกจากมือหญิงสาวผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูมันในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

“ไปไม่ไกลหรอกค่ะ นี่คงวิ่งเข้าห้องนอนนั่นแหละ” จริงอย่างที่เธอบอก เจ้าลูกหมีวิ่งเข้าห้องหายเงียบ หญิงสาวเข้าไปนำตัวออกมา

“มีคนเอามามอบให้ เขาว่า แม่มันถูกยิงตาย” หญิงสาว เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเล่า

ในสถานีมีหมีควายในความดูแลหลายตัว ทุกตัวมีความเป็นไปเหมือนกัน คือ ถูกพรากมาจากอกแม่ที่ถูกฆ่าเพื่อเอาซาก

ผมมองลูกหมีในอ้อมอกหญิงสาว มันได้รับการตั้งชื่อว่า “ภูฟ้า”

ข้างหลังความน่ารัก ร่าเริงที่มองเห็น เจ้าภูฟ้ามีชะตากรรมเช่นเดียวกับลูกๆ สัตว์ป่านับหมื่นนับแสนตัว ถูกโยนเข้าเส้นทางขบวนการค้าสัตว์ป่า หลังแม่ถูกฆ่า ตัวมันต้องเข้ามาใช้ชีวิตในกรง ไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก ซึ่งมีพ่อ-แม่ดูแลสั่งสอน ไม่มีโอกาสได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

และที่สำคัญต้องตายในกรง ไม่ได้ตายในที่อันเป็นของพวกมัน

 

“วันที่มาสายสะดือยังไม่หลุดเลยค่ะ” อ้อย เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก พูดถึงเลียงผาเด็ก ซึ่งทุกคนเรียกมันว่า “หมอก”

เรื่องราวของมันคือเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แม่โดนยิงตาย ตัวมันถูกนำมาขาย แต่เจ้าหมอกโชคดีที่คนซื้อสงสารจึงนำมามอบให้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ความโชคดีอีกอย่างของมันคือ ได้ใช้ชีวิตนอกกรง เดินไปได้ทุกที่ บนสำนักงาน ห้องประชุม บ้านพัก ตรวจแถวขณะเจ้าหน้าที่ในเขตยืนเคารพธงชาติ

ทุกเช้า ตอนยังไม่ได้กินนมที่อ้อยเอาใส่ถังมาให้ มันเดินเลาะเล็มใบไม้ตามต้นไม้ต่างชนิด หลบเข้าศาลาเมื่อฝนตก บางครั้งมันอ้าปากรองน้ำฝนกิน คล้ายพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เรียนในสิ่งที่มันไม่มีโอกาสได้เรียนจากแม่

บางวันมันหายไป ทุกคนเริ่มเป็นห่วง กลัวว่ามันจะเดินเพลินเลยไปไกลและพบเสือดาว หรือหมาไน มันยังไม่มีทักษะ ไม่เคยเรียนรู้ในการเอาตัวรอด เพียงสัญชาตญาณที่มีย่อมไม่พอต่อการหลบหลีก แต่มันก็กลับมาทุกครั้ง

บางคืนมันขึ้นไปทำเสียงกุกกักหน้าห้องอ้อย เธอต้องเปิดประตูให้มันเข้าไปนอนข้างใน

บางวันมันยืนหลบฝนในศาลาด้วยท่าทางเหงาๆ

 

ความจริงที่เราพูดกันซ้ำๆ คือ ขบวนการค้าสัตว์ป่านั้นเป็นธุรกิจมืดซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ไม่ต่างจากยาเสพติด และอาวุธสงคราม

ความเชื่อเรื่องสรรพคุณของซากสัตว์ป่า ว่ามีฤทธิ์ในการเสริมสร้างสมรรถภาพ นับวันจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ทางการแพทย์จนสิ้นข้อสงสัยแล้วว่า ไม่มีมูลความจริงก็ตาม อีกทั้งยังมีเชื้อโรคอันทำให้เกิดโรคร้ายเสียด้วยซ้ำ

มีโฆษณาขายสัตว์ป่าเป็นๆ สำหรับผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ป่าตามช่องทางต่างๆ

คนจำนวนไม่น้อยแสดงความรักสัตว์ป่าด้วยการหาซื้อพวกมันมาเลี้ยง

พูดได้ว่า เพราะความเชื่อ และ “ความรัก” นี่เอง ทำให้ลูกๆ สัตว์ป่าตกอยู่ในสถานภาพนี้ สถานภาพในการเป็น “กำพร้า”

 

ศักดิ์ชัย เป็นชื่อผู้ชายผิวคล้ำ ผอมแกร่ง อายุ 50 กลางๆ เขาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำงานในป่าห้วยขาแข้งมาตั้งแต่อายุ 17

“บ้านเดิมอยู่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ นี่เองครับ” เขาพูดสำเนียงคนแถบนั้น มีท่วงทำนองไพเราะ

“มีญาติบอกว่า ที่นี่รับคนงาน ผมเลยเดินมาสมัคร” ศักดิ์ชัยเดินราว 14 กิโลเมตร

“ตอนนั้นงานส่วนใหญ่ก็สร้างหน่วยครับ ออกเดินลาดตระเวนบ้าง ออกไปเมื่อไหร่ก็พบเจอคนล่าสัตว์ ไม่ก็พบเนื้อกวางที่เขาแล่เป็นชิ้นบางๆ ยาวๆ แขวนไว้เป็นราว ยิงกวางได้ตัวหนึ่งก็แล่เนื้อแขวนไว้ แล้วเดินไปหายิงตัวใหม่ จนพอ ถึงย้อนกลับมา ถ้าเป็นเนื้อกระทิง เขาจะหั่นเป็นก้อนๆ รมควัน”

ศักดิ์ชัยเล่าถึงสภาพป่าห้วยขาแข้งในยุคที่เขาทำงานใหม่ๆ

ช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ.2530 ป่าขาแข้ง คือ “สวรรค์” ของคนล่าสัตว์ แม้ว่าที่นี่จะได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้ว

“เดินไปตามลำห้วยนี่เจอซากสัตว์ตลอดครับ มองข้างบนเห็นแร้งฝูงใหญ่บินวนๆ นั่นแหละ ข้างล่างต้องมีซากอะไรสักอย่าง”

ศักดิ์ชัยทันช่วงเวลาที่แร้งฝูงสุดท้ายที่ยังมีอาศัยในประเทศไทยได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

เป็นช่วงเวลาที่การล่าสัตว์พัฒนาขึ้น ความต้องการซากสัตว์ป่า ไม่เฉพาะเอาเนื้อไปกินหรือส่งขายตามร้านอาหาร

อวัยวะ ชิ้นส่วนสัตว์ป่า มีราคามากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่า ผู้อยู่บนสุด…เสือโคร่ง

 

คนล่าสัตว์นำวิธีใหม่มาใช้ พวกเขาไม่ยิงตัวเสือ แต่ยิงสัตว์ที่เป็นเหยื่อเสือ เอายาพิษชโลมที่ซาก วางล่อให้เสือมากิน

“ตอนนั้น พวกล่าไม่ได้เสือหรอกครับ ผลจากการกระทำนั่น คือ แร้งตายหมดฝูง”

หน้าที่ของแร้งคือ กำจัดซากสัตว์ที่ตาย พวกมันกินซากที่อาบยาพิษ

“ผมเข้าไปดู เห็นแร้งเดินโซเซก่อนล้มตาย น่าสงสารมาก” ศักดิ์ชัยเล่า

ยาพิษไม่ได้ทำให้แร้งตายทันที ก่อนตาย พวกมันดิ้นทุรนทุราย

 

“จับได้บ่อยครับ คนล่าสัตว์น่ะ” ศักดิ์ชัยเล่า

“เอาไปส่งที่อำเภอ เรามานั่งกินข้าว พวกนั้นก็ออกมาแล้ว”

ช่วงเวลานั้น คนล่าสัตว์ส่วนใหญ่มี “ลูกพี่” คอยช่วยเหลือ

ดูเหมือนว่า ขบวนการค้าสัตว์ป่าจะเจริญขึ้น “ลูกพี่” ใหญ่โต มีเครือข่ายซับซ้อนโยงใยไปทั่วโลก

“ขบวนการปกป้องดูแลสัตว์ป่า” ก็พัฒนามากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ศักดิ์ชัยได้รับการฝึกอบรม การลาดตระเวนอย่างเป็นระบบ ใช้เครื่องมือ มีทักษะ การเข้าปะทะ จับกุม การหาข่าว และอื่นๆ รวมทั้งเรียนรู้การนำเอานิติวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วม

เขาโยกย้ายไปหลายหน่วยพิทักษ์ป่า ชำนาญพื้นที่ “โชกโชน” กับการเผชิญหน้าคนล่าสัตว์ ซึ่งเกือบทุกคนมีความตั้งใจว่า เจอเจ้าหน้าที่ในป่า จะต่อสู้ ไม่ยอมให้จับกุม

เสียงปืนในป่าไม่เคยหยุด แม้ถึงวันนี้

การปะทะยังเกิดขึ้นเสมอๆ และผู้ชายผิวคล้ำ ผอมแกร่ง อายุ 50 กลางๆ คนนี้ก็ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง

งานของศักดิ์ชัยและเพื่อนๆ ทำให้สัตว์ป่าส่วนใหญ่ได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

 

เจ้าหมอก เลียงผากำพร้า โชคดี มันเติบโตและได้รับโอกาสให้ออกไปใช้ชีวิตในป่า ซึ่งมันทำสำเร็จ สามารถมีอาณาเขต พบคู่ครอง สร้างครอบครัว

และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต ก็จะได้ตายในที่ของมัน

แต่เจ้าภูฟ้า หมีควายไม่โชคดีอย่างนี้ มีกรงแคบๆ เป็นโลก กระทั่งถึงวันตาย

 

กําพร้า, โชกโชน และความรัก

เรื่องของสัตว์ป่า เรื่องของคน คือเรื่องเดียวกัน…