วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี สู่ธุรกิจใหม่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ช่วงเวลาโอกาสแห่งสังคมธุรกิจไทยเปิดกว้างอย่างมาก ซีพีมีแผนการอย่างเฉพาะเจาะจง

ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวครั้งใหญ่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (นายกรัฐมนตรี 2531-2534) เปิดฉากด้วยนโยบาย “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” สะท้อนความเชื่อมั่นหลังยุคสงครามเวียดนาม ขณะสงครามในประเทศเพื่อนบ้านค่อยๆ สงบลง

สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เริ่มต้น

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน เครือข่ายธุรกิจจากกรุงเทพฯ เริ่มขยายอิทธิพลไปหัวเมือง มีดัชนีบางอย่างควรอ้างถึง อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (GNP) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 13.2% (2531)

ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ทะลุ 1,000 จุดครั้งแรกในปี 2533 ปีที่มีบริษัทจดทะเบียนถึง 214 บริษัท มูลค่าการซื้อขายต่อวันโดยเฉลี่ย 2,500 ล้านบาท

จากนั้นในปี 2536 ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 1,500 จุด มีบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดถึง 347 บริษัท มูลค่าการซื้อขายต่อวันมากถึง 9,000 ล้านบาท

ธุรกิจใหญ่น้อยทยอยจดทะเบียนในตลาดหุ้น

ซีพีมีถึง 4 บริษัท

เรื่องราวตื่นเต้นกรณีหนึ่งในตลาดหุ้น มาจากกลุ่มเอกธนกิจ (จดทะเบียนในตลาดหุ้นปี 2531) ของปิ่น จักกะพาก กลุ่มธุรกิจซึ่งเติบโตอย่างมหัศจรรย์เกือบ 50 เท่า จากสินทรัพย์ระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงเวลาไม่ถึงทศวรรษ

หลายคนคงไม่ทราบว่า ซีพีมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยตั้งแต่แรกๆ (ข้อมูลข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2539 ระบุว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 5 ในบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ด้วยสัดส่วน 3.46%)

ข้างต้น สะท้อนภาพซีพีมองโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างมากกว่าครั้งใดๆ

บางคนเชื่อว่ามีบทเรียนหนึ่งซึ่งอ้างอิง ปรากฏเรื่องเล่าทั้งสองเวอร์ชั่น (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont สื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น-NIKKEI และหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”)

ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงอย่างจงใจ ตั้งใจค่อนข้างพิเศษ “หากความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจมอเตอร์ไซค์เป็นรายแรกในเมืองจีนของเราเกิดขึ้นในยุคนี้ เราเป็นมหาเศรษฐีของโลกได้เลย เพราะถ้าเราเป็นคนบุกเบิก ก็จะไม่มีคู่แข่ง แถมคนจีนตอนนี้กำลังซื้อเยอะแยะ…” (หนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”)

อย่างไรซีพีได้อาศัยสายสัมพันธ์ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน Shanghai-Ek Chor (2528) ผลิตมอเตอร์ไชค์ด้วยเทคโนโลยี Honda แห่งญี่ปุ่น ต่อเนื่องมาเป็นกิจการร่วมทุน SAIC (Shanghai Automotive Industry Corp)-CP เปิดฉากในเมืองไทยด้วยโรงงานประกอบรถยนต์ MG แบรนด์ดั้งเดิมของอังกฤษ ในปี 2556

“นับเป็นครั้งแรก ซีพีเริ่มสนใจลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแกนมาก่อน บทเรียนความสำเร็จในการร่วมทุนกับรัฐบาลจีนในการผลิตมอเตอร์ไซค์ในปี 2528 ทำให้ซีพีมั่นใจการลงทุนใหม่ๆ…”

ผมเองเคยสรุปไว้เช่นนั้น (ข้อเขียนชิ้นหนึ่งในปี 2541)

 

ในช่วงเวลาลงทุนในกลุ่มเอกธนกิจนั้น ซีพีกำลังเข้าสู่มหากาพย์ใหม่อย่างแท้จริง

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำซีพีอย่างเต็มตัว (ข้อมูลซีพีเคยระบุว่าเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี 2522) ในวัยเพียง 40 ปี ท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลก และวิกฤตสถาบันการเงินและตลาดหุ้นในประเทศไทย

ช่วงเวลาท้าทายผ่านพ้นไปด้วยแผนการกระจายความเสี่ยง ขยายเครือข่ายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค (ดังที่เสนอไว้ในตอนก่อนๆ) ในจังหวะนั้น ซีพีมีปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับโครงสร้างการบริหารนำมืออาชีพเข้ามาเสริม

อีกทศวรรษต่อมา ได้เข้าสู่ช่วงเวลาโอกาสเปิดกว้างอย่างแท้จริง ธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัย 50 ปี (2532) ว่ากันว่าเขามีตำแหน่งใหม่ เทียบเคียงกิจการระดับโลก เข้ากับยุค MBA กำลังเฟื่องฟูระดับโลก รวมทั้งประเทศไทยมีหลักสูตรนี้เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด

ตำแหน่งใหม่เรียกว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer หรือ CEO)

 

ช่วงเวลาซีพีมีดีลสำคัญๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นขบวน อย่างครึกโครม

ในบางมิติ ซีพีเดินแผนในท่วงทำนองเช่นความเป็นไปในสังคมธุรกิจไทย

ซีพีนำบริษัทในธุรกิจดั้งเดิมเข้าตลาดหุ้นไทย -บริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (2527) กรุงเทพโปรดิ้วส์ (2530) เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ (2530) และเจริญโภคภัณฑ์อีสาน (2531)

ทั้งนี้ ทั้ง 4 บริษัทในตลาดหุ้นในประเทศไทยข้างต้น ต่อมาได้หลอมรวมกลายเป็นแกนของเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมในนาม เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF (จะขยายความในตอนต่อๆ ไป) ที่แตกต่าง ซีพีมีเครือข่ายต่างประเทศมาแล้วเกือบๆ 2 ทศวรรษ ได้ประสานแผนการระดมทุนในตลาดหุ้นระดับโลกด้วย

ในเวลานั้น ธุรกิจไทยเดินแผนอย่างโลดโผนสู่ตลาดโลก

อย่างกรณียูนิคอร์ดซื้อกิจการ Bumble Bee แห่งสหรัฐ (2532) เครือซิเมนต์ไทยลงทุนต่างประเทศครั้งแรก-ธุรกิจเซรามิกในสหรัฐ Tile Cera (2533) และเครือโรงแรมดุสิตธานี ซื้อเครือข่ายโรงแรมระดับโลก-Kempinsky (ปี 2534) ทั้งนี้ ล้วนมีอันเป็นไปในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะก่อนหน้านั้นซีพีเดินแผนอย่างระแวดระวังในธุรกิจดั้งเดิมที่มีความชำนาญ ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ที่ยุโรปครั้งแรก ณประเทศโปรตุเกสและตุรกี (2528)

แผนการสำคัญๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซีพีกลับเลือกภูมิศาสตร์ที่คุ้นเคย-ประเทศไทย

แผนการใหญ่บางส่วนมาจากโอกาสที่เปิดขึ้น จาก “สายสัมพันธ์” พื้นฐานทางสังคม ว่าด้วยเข้าถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง จากนโยบาย แผนการและกลไกแห่งรัฐ

 

น่าประหลาดใจ มีแผนการหนึ่งซึ่งธนินท์ เจียรวนนท์ ไม่กล่าวถึงเลยก็ว่าได้ในเรื่องเล่าทั้งสองเวอร์ชั่น แผนโครงการร่วมมือกับธุรกิจระดับโลก เข้าสู่ธุรกิจใหม่ นั่นคือ กรณีอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ( 2531)

ทั้งนี้ เป็นไปตามกระแสหลักสังคมธุรกิจไทย เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ปี 2529-2531) ความเคลื่อนไหวอันคึกคัก ต่อเนื่องมาจากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แผนการสร้างห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหญ่ใหม่ตั้งแต่ต้นของวงจร กลายเป็นกระแสและความเชื่อมั่นว่าเป็นโมเดลความมั่งคั่งใหม่ ด้วยปรากฏโฉมหน้ากลุ่มธุรกิจอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมไทย เข้าร่วมวง เข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างคึกคัก ไม่ว่ากรณีเครือซิเมนต์ไทย หรือธนาคารกรุงเทพ

ซีพีเองดูมีความตั้งใจไม่น้อยทีเดียว รอจังหวะเวลาอย่างเหมาะสม เข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ในวงจรระดับกลาง ร่วมทุนกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลก-Solvay แห่งเบลเยียม ก่อตั้งบริษัทวีนิไทย ในปี 2531 โดยซีพีถือหุ้นข้างน้อย ไม่กี่ปีจากนั้นเป็นไปตามสูตร วีนิไทยเข้าตลาดหุ้น (2538)

ธนินท์ เจียรวนนท์ ไม่เล่าถึงกรณีข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ตั้งแต่ปี 2540) ตามแผนการปรับโครงสร้างโฟกัสธุรกิจหลัก ซีพีได้พยายามถอนตัวออกจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้ใช้เวลาพอสมควร กว่าจะผ่านวิกฤตการณ์ ผ่านช่วงผันผวนของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซีพีจึงได้ขายหุ้นวีนิไทยให้ ปตท. (2551) และ Solvay Vinyls Holding AG เองก็ได้ขายหุ้นใหญ่ในวีนิไทยให้กับ AGC Inc. แห่งญี่ปุ่นในเวลาต่อมา (2559) ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ซีพีกับแผนการลงทุนใหม่อันยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น กอปรเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในปัจจุบัน ในบรรดากลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่มใหญ่ มีถึง 2 ธุรกิจก่อตัวขึ้นเวลานั้น คือ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสื่อสารและโทรนาคม